ความเห็นต่อกรณี UBER

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 12 ธ.ค. 2557


จากกรณีที่กรมการขนส่งทางบกได้ระบุว่า การให้บริการ Uber Taxi เป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย และเริ่มออกตรวจเพื่อเปรียบเทียบปรับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.คำสั่งของกรมการขนส่งทางบกต่อกรณีบริการ UBER ทั้งในกรณี UBER Black และ UBER X ในเรื่องของการให้บริการที่ผิดกฎหมาย ที่เห็นว่ารถไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ (กรณี UBER X) และพนักงานขับรถไม่ได้รับใบอนุญาตรถยนต์สาธารณะ (ทั้ง UBER Black และ UBER X) นั้น ถูกต้องตามกรอบกฎหมายในปัจจุบัน (พ.ร.บ. รถยนต์)

2.การกำกับดูแลระบบแท็กซี่ในปัจจุบัน เป็นการกำกับดูแลเพียงตัวรถ กล่าวคือ รถยนต์ต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) และผู้ขับขี่ต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และมีการกำกับดูแลการให้บริการ คือให้บริการในพื้นที่ที่กำหนด (เช่น ภายในเขตจังหวัดหรือระหว่างจังหวัด) การห้ามปฏิเสธผู้โดยสารและการกำหนดราคาค่าบริการโดยระบบมิเตอร์ ซึ่งเราเรียกว่าแท็กซี่มิเตอร์ในปัจจุบัน (ข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่))

3.รูปแบบที่ UBER Black เป็นการจดทะเบียนรถยนต์บริการ (ป้ายเขียว) ในรูปแบบรถยนต์บริการธุรกิจ ซึ่งได้แก่รถยนต์ที่ใช้บรรทุกคนโดยสารระหว่างท่าอากาศยาน ท่าเรือเดินทะเล สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟกับโรงแรมที่พักอาศัย ที่ทำการของผู้โดยสาร หรือที่ทำการของผู้บริการธุรกิจนั้น ซึ่งในปัจจุบัน ค่าโดยสารของรถยนต์บริการ ผู้ประกอบการสามารถกำหนดค่าโดยสารได้ตามความเหมาะสม ดังเช่นรถลีมูซีนของสนามบิน หรือรถบริการของโรงแรมต่างๆ ซึ่งถ้าจะพิจารณารถยนต์ของ UBER Black ที่ให้บริการในรูปแบบของรถยนต์บริการธุรกิจนั้น ก็ถือว่าผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่มีการให้บริการในรูปแบบที่กำหนดไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด

4.ถึงแม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตามกฎหมายกับ UBER แต่กรมการขนส่งทางบกมีปัญหาในการกำกับดูแลตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่หลายกรณี เช่น กรณีของใบขับขี่รถยนต์สาธารณะเมื่อปี 2554 การบังคับใช้กฎหมายกรณีรถตู้ป้ายดำ

5.คำถามที่น่าสนใจคือ บริการของ UBER ผิดกฎหมาย แต่เป็นบริการที่สร้างทางเลือกที่ดีให้ ควรทำให้ถูกกฎหมายหรือควรมีการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้บริการรถยนต์สาธารณะมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และมีคุณภาพการให้บริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

6.เปรียบเทียบกับการให้บริการ Application อื่นๆ เช่น Grab Taxi หรือ Easy Taxi ซึ่งเป็นบริการที่เป็นเพียงการบริการเรียกรถแท็กซี่ที่เก็บค่าบริการในการเรียกแท็กซี่ ซึ่งก็มีกำหนดไว้ในข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกที่อนุญาตให้มีการเก็บค่าบริการผ่านศูนย์วิทยุสื่อสาร ครั้งละ 20 บาท

7.กรมการขนส่งทางบกเลือกที่จะกำกับดูแลที่เน้นเรื่องการกำหนดราคาเป็นหลัก (การใช้มิเตอร์) และขาดการพิจารณาถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการที่แตกต่าง โดยที่การให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบันประสบปัญหามาก ในเรื่องของการให้บริการ จากสถิติร้องเรียน จากข้อมูลการร้องเรียนผ่านทางสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบกระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 (ระยะเวลา 8 เดือน) เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับแท็กซี่ 18,465 ครั้ง หรือเฉลี่ยวันละ 77 ครั้ง (ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์)

8.ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ถ้า UBER นำรถที่วิ่งอยู่ในระบบ UBER X ไปจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะและให้คนขับรถมีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ ภายใต้เงื่อนไขค่าโดยสารที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดก็คงจะไม่มีปัญหาอย่างไร แต่ประเด็นหลักคือ ภายใต้เงื่อนไขค่าโดยสารที่มีอยู่ ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถพัฒนาบริการที่หลากหลายได้ รวมถึงการทำ Promotion ต่างๆ ที่ลดราคาเพื่อกระตุ้นการใช้งานและสร้าง Customer Royalty

9.การกำกับดูแลรถแท็กซี่เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เพื่อรับประกันความปลอดภัยและคุณภาพของการให้บริการ รวมถึงประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งในต่างประเทศมีรูปแบบการกำกับดูแลหลายรูปแบบ เช่น การจำกัดจำนวนรถแท็กซี่ (ซึ่งเป็นมาตรการที่ประเทศไทยใช้ในอดีต ก่อนที่จะมีแท็กซี่มิเตอร์ในปี 2535) การกำกับดูแลราคา หรือการกำกับดูแลรูปแบบการให้บริการ

10.ในต่างประเทศมักใช้การกำกับในส่วนของการกำหนดจำนวนแท็กซี่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีจำนวนแท็กซี่ที่มากเกินไปในเมือง โดยเมืองส่วนใหญ่ในยุโรปจะแบ่งแท็กซี่ออกเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นแท็กซี่แบบจอดรอ อาจจะจอดรอตามถนนหรือจอดตามจุดจอดที่กำหนดไว้ และแท็กซี่แบบต้องมีการสั่งจองให้รับผู้โดยสาร (Telephone-booking หรือ Dispatch taxi หรือ Private Hire Vehicles ในประเทศอังกฤษ) ซึ่งความแตกต่างของแท็กซี่ทั้งสองประเภท คือกลุ่มแรกจะใช้พื้นที่สาธารณะในการจอดรอและมีโอกาสที่จะวิ่งเที่ยวเปล่าสูง ในขณะที่กลุ่มหลังจะวิ่งเฉพาะในกรณีที่มีผู้โดยสารเท่านั้น ซึ่งการกำกับดูแลในต่างประเทศล้วนมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป และส่วนใหญ่ต้องมีการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองและระบบขนส่งสาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้องดัวย

11.ปัญหาของการกำกับดูแลแท็กซี่ในประเทศไทยมีหลายประเด็น ทั้งเรื่องราคาที่กำลังจะมีการอนุมัติปรับขึ้น และคุณภาพการให้บริการที่มีข้อร้องเรียนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับแนวนโยบายการกำกับดูแลจำนวนแท็กซี่เป็นอย่างมาก เพราะถ้าจำนวนแท็กซี่เพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนความต้องการในการเดินทางเท่าเดิม หมายถึงแท็กซี่แต่ละคันจะมีรายได้น้อยลง ทำให้มีการลดคุณภาพการให้บริการหรือมีการเลือกผู้โดยสารมากขึ้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

12.แต่ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า จำนวนแท็กซี่ปัจจุบันของกรุงเทพฯ มีจำนวนมากหรือน้อยเกินไป เพราะสภาพเมืองที่มีการขยายตัวไปในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนแท็กซี่อาจจะมีไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่มีการกระจุกตัวของแท็กซี่ในบางพื้นที่มากเกินไปและไม่มีแท็กซี่ให้บริการในบางพื้นที่เลย ซึ่งส่วนนี้เอง ภาครัฐปล่อยภาระให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด รวมถึงให้คนขับแท็กซี่แต่ละคนหาทางออกด้วยตัวเอง

13.สิ่งที่ระบบประเทศไทยยังไม่มี คือการบริหารจัดการแท็กซี่อย่างเป็นระบบในรูปแบบของบริษัทที่มีการจ้างพนักงานขับรถ รวมถึงมีการใช้ระบบการจอง (Booking) ทางโทรศัพท์เพื่อให้การเดินรถของแท็กซี่ไม่ต้องจอดรอที่ใดที่หนึ่งนานโดยไม่เกิดรายได้ และใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้บริการระบบแท็กซี่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการให้บริการลักษณะนี้จำเป็นต้องความยืดหยุ่นด้านราคา เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนต่างๆ เช่น ราคาสูงในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนหรือช่วงที่มีความต้องการเดินทางด้วยแท็กซี่สูง และมีราคาต่ำลงในกรณีในชั่วโมงไม่เร่งด่วน เป็นต้น

14.ย้อนกลับมากับกรณี UBER ซึ่งถ้าจะทำให้ถูกกฎหมาย คงไม่ได้หมายถึงการให้สิทธิพิเศษกับ UBER ในการประกอบการ ในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการแท็กซี่ที่เป็นบริษัท (Company License) อย่างเป็นระบบ ซึ่งคงถึงเวลาที่ภาครัฐต้องทบทวนถึงรูปแบบการกำกับดูแลที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ระบบแท็กซี่มีการพัฒนามากขึ้น และประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบแท็กซี่ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นด้วย

15.ตราบใดที่กรมการขนส่งทางบกไม่สามารถบอกได้ว่า ระบบการให้บริการรถแท็กซี่ในปัจจุบันมีคุณภาพดีและตอบสนองความต้องการของการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ ได้ การห้ามไม่ให้ UBER ให้บริการก็เป็นเพียงยกข้อกฎหมายมาบังคับใช้ แต่ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการดำเนินการของกรมการขนส่งทางบกนี้ แต่ทำให้ประชาชนขาดทางเลือกที่น่าจะสร้างระบบที่ผู้ประกอบการจะมีการแข่งขันกันทั้งราคาและคุณภาพ และประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้บริการรถแท็กซี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: