ไทยไร้กฎคุมแบงก์โขก'ค่าธรรมเนียม' แนะแจงต้นทุน-กำหนดอัตราดอกเบี้ย

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 9 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2200 ครั้ง

หนึ่งในหลายสิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อเราทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารพาณิชย์ คือค่าธรรมเนียมในแต่ละครั้งที่สูงต่ำแตกต่างกันตามประเภทของธุรกรรมและจำนวนเงินตั้งแต่หลักสิบถึงหลักแสน แต่กลับไม่เคยมีการแจกแจงถึงรายละเอียดของค่าธรรมเนียมต่างๆ ว่า คำนวนจากสิ่งใดและประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

งานศึกษาของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เรื่อง ‘แนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ กรณีศึกษา ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย’ พบว่า ในทางสากลมีกฎหมายควบคุมให้ธนาคารพาณิชย์ต้องระบุต้นทุนธุรกรรมการเงินทุกประเภทและกำหนดเพดานดอกเบี้ย ในขณะที่ประเทศไทยยังขาดกฎหมายในการควบคุมการโฆษณาขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลค่าธรรมเนียม ต้นทุนทางการเงินที่เป็นมาตรฐานกลาง และการกำกับดูแลพฤติกรรมในการทำการตลาดสินค้าทางการเงินโดยเฉพาะ

ดร.เดือนเด่น แนะนำว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีมาตรการตรวจสอบการคิดอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงิน เพื่อป้องกันการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินควร นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีหลักเกณฑ์ดูแลการคิดอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างสินเชื่อบัตรเครดิตที่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 กับสินเชื่อส่วนบุคคลกลับคิดดอกเบี้ยร้อยละ 28 ทั้งที่สินเชื่อทั้งสองประเภทนี้เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเหมือนกัน แต่อัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันมาก

ภาพจาก www.phuketgazette.net

พบสัญญาคุลมเครือ-โฆษณาไม่สอดคล้อง

เชื่อกันว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ทำสัญญาประเภทต่างๆ กับธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้อ่านรายละเอียดสัญญาอย่างครบถ้วน หนึ่งในหลายเหตุผลเหล่านั้นคือ ใช้ภาษาที่อ่านยากและเต็มไปด้วยรายละเอียดจำนวนมากที่ไม่ชวนให้อ่านอย่างครบถ้วนหรืออ่านซ้ำ

งานศึกษาของ ดร.เดือนเด่น ระบุว่า กรณีโฆษณาไม่สอดคล้องกับสัญญา ในต่างประเทศนั้นจำเป็นต้องชี้แจงทั้งผลประโยชน์และค่าใช้จ่าย การไม่ชี้แจงค่าธรรมเนียมที่สำคัญหรือการชี้แจงไม่ตรงกับทางปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ภายหลังการโฆษณา ถือเป็นความผิดในทางกฎหมาย ธนาคารต้องมีการสื่อสาร มีคำเตือน ข้อสงวนสิทธิ์ และคุณสมบัติในโฆษณาที่ผู้บริโภคต้องเข้าใจและสังเกตเห็นได้ง่าย อีกทั้งเงื่อนไขทุกอย่างต้องอยู่ในใบโฆษณา มิใช่ให้ผู้บริโภคไปหาดูเพิ่มจากเว็บไซต์

รวมถึงการใช้ข้อความและวลีไม่ควรใช้คำที่สื่อความหมายที่อาจสร้างความเข้าใจที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น คำว่า ‘ฟรี’ ‘มั่นคง’ หรือ ‘รับประกัน’ และหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย เช่น การระบุว่าไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ในทางปฏิบัติมีค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคยังต้องแบกรับ

ในส่วนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ กฎหมายระบุว่า ห้ามโฆษณาว่าไม่มีค่าธรรมเนียม หากในทางปฏิบัติมีเงื่อนไขจำกัด หรือการห้ามโฆษณาว่าไม่มีค่าบริการทางธุรกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีจำนวนครั้งที่จำกัดในการทำธุรกรรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

แนะเปิดต้นทุนค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต- ดอกเบี้ย

ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตในประเทศสหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ได้ในปี 2553 ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่  สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับต้นทุน ผู้ประกอบการต้องรายงานต้นทุนให้แก่หน่วยงานกำกับดูแล เช่นค่าธรรมเนียม ค่าเครือข่าย (Network) ค่าใช้จ่ายในการป้องกันการฉ้อโกง (Fraud Prevention) ฯลฯ โดยเก็บข้อมูลไว้เป็นเวลา 5 ปี

ขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน (Payment Systems (Regulation) Act 1998) ให้อำนาจแก่ธนาคารกลางในการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งข้อมูลต้นทุนในการดำเนินการ ต้นทุนการตรวจสอบเพื่ออนุมัติการจ่ายเงิน ต้นทุนป้องกันการโกง และต้นทุนที่เกิดจากระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยตามรอบระยะเวลาที่กำหนด ปัจจุบันอัตราเพดานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าของธุรกรรม

ในส่วนดอกเบี้ยบัตรเครดิต ประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสินเชื่อส่วนบุคคล (Consumer Credit Protection Act) กำหนดให้หน่วยงานกลางกำหนดต้นทุนดอกเบี้ย ซึ่งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 8 ของราคากลาง  ธนาคารอาจคำนวณเองได้ แต่หน่วยงานกลางต้องเห็นชอบในวิธีการ และการคำนวนดอกเบี้ยต้องใช้วิธีการคำนวณแบบหักต้นหักดอก (Annual Percentage Rate)  หรือ APR เท่านั้น

เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลียที่กำหนดให้ใช้วิธีการคำนวณดอกเบี้ยแบบหักต้นหักดอก และต้องปรากฏในเอกสารสัญญา อีกทั้งต้องแสดงวิธีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ รอบระยะเวลา และความถี่ในการชำระ และหากอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยจากแหล่งอื่น ต้องระบุแหล่งที่มาที่ชัดเจน

พบบัตรเครดิตถูกร้องเรียนมากที่สุด

ข้อมูลผลสำรวจจากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2557 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนบัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน (หมายรวมถึงบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตรพลาสติกประเภทอื่นๆ ที่สามารถใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้) รวมทั้งสิ้น 76,400,637 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีเพียง 73,085,622 ใบ มีมูลค่าการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงินในระบบในเดือนมีนาคม 2557 ถึง 1.27 ล้านล้านบาท โดยผู้ใช้บริการบัตรพลาสติกประเภทบัตรเครดิต

ขณะที่เฉพาะยอดบัตรเครดิตมีประมาณกว่า 18  ล้านใบ มีเงินหมุนเวียนในการใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 120,000 ล้านบาท  และข้อมูลของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคและเครือข่าย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมาปัญหาการใช้บัตรเครดิตมีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุด หรือเกือบร้อยละ 80 ของปัญหาทั้งหมด

เงื่อนไขการสมัครบัตรเครดิตของธนาคารที่มีขนาดเล็กมาก (ภาพจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

แนะแบงค์ชาติคุมธนาคารพาณิชย์

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีข้อเสนอต่อธนาคารแห่งประเทศไทย โดยให้กำหนดบทลงโทษการติดตามทวงถามหนี้ที่ชัดเจน ทั้งการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินจริง การทวงถามในลักษณะข่มขู่และการติดต่อไปยังบุคคลที่สาม ขณะเดียวกันควรกำกับวิธีการขายบริการทางการเงิน และเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี รวมถึงค่าธรรมเนียมทั้งหมด เพื่อให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ ต้องไม่เน้นเนื้อหาการลด-แลก-แจก-แถม การขายพ่วง หรือจูงใจให้ซื้อสินค้าประเภทอื่นมากกว่าเงื่อนไขหลักของผลิตภัณฑ์

เช่นเดียวกับนายชูชาติ บุญยงยศ ประธานชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำธุรกิจเช่าซื้อเข้ามาอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลของ ธปท. และออกระเบียบให้สถาบันการเงินต่างๆ ระบุรายละเอียดในใบแจ้งหนี้เป็นภาษาไทย โดยเฉพาะรายการดอกเบี้ย, ค่าธรรมเนียม และค่าติดตามทวงถามหนี้

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน จับตา: อัตราค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต-เอทีเอ็ม

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4543

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: