วิกฤตที่ถูกเมิน‘ระเบิดเวลา’จากหลุมขยะ จี้พรรคการเมืองเสนอนโยบายแก้ปัญหา

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 7 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3402 ครั้ง

เรื่องขยะยังคงเป็นปัญหาที่หลายคนมองเป็นเรื่องหนักใจและไร้ทางออกที่จะแก้ไข เพราะเหมือนเรื่องไกลตัว ที่เราทิ้งแล้วก็พ้นไปจากตัว เพราะมีคนนำไปจัดการต่อ ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ปลายทางว่า ไปอยู่หนไหน และมีการจัดการที่ถูกต้องแค่ไหนอย่างไร ทำให้ทุกวันนี้แม้ในเมืองทั้งกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ทั่วประเทศจะดูสะอาดถ้า แต่ทว่าขยะเหล่านี้กลับถูกนำไปทิ้งสะสมไว้นอกเมือง หรือชนบทไกลหูไกลตาและในที่สุดกลับสร้างปัญหาให้คนในเมืองอีกครั้ง จนกลายเป็นขยะที่ซุกไว้ใต้พรมในที่สุด

อย่างไรก็ตามล่าสุด นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังเดินหน้าเพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาขยะสะสมจำนวนมหาศาลในประเทศ โดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “วิกฤตขยะล้นเมือง” ของ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า กรมควบคุมมลพิษมองว่าปัญหาขยะเป็นวิกฤตอันดับหนึ่งของประเทศ ในบรรดามลพิษทั้ง 3 ด้านคือเรื่องน้ำ และคุณภาพอากาศ แต่เมื่อก่อนเรามักจะไปให้ความสนใจกับเรื่องคุณภาพอากาศ เช่น ในภาคเหนือ เพราะเห็นภาพชัด เรื่องน้ำเสียค่อนข้างเห็นภาพชัด แต่เรื่องขยะ อาจจะมองไม่ชัด เพราะอย่างเราอยู่ในกรุงเทพฯ เราก็จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีปัญหา เพราะกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาแถลงว่า เก็บขยะได้หมด เราจึงมีความรู้สึกว่ากรุงเทพฯ สะอาดดี

แหล่งขยะทั่วประเทศเกือบ 2,500 แห่ง

            “ผมมีโอกาสได้พบกับนายกรัฐมนตรี ท่านถามว่าปัญหาเรื่องมลพิษมีอะไรบ้าง ผมก็บอกว่าเรื่องขยะ ท่านก็บอกว่าไม่เห็นมีปัญหา เพราะเห็นสะอาดอยู่ ผมจึงบอกว่าปัญหาก็คือว่าเราขนขยะจากในเมืองไปสู่ที่รกร้างว่างเปล่า หรือที่แหล่งรวมขยะ พอพูดอย่างนี้ท่านนายกฯเข้าใจเลย ทุกวันนี้ถ้าตามข้อมูลที่กรมฯ ไปสำรวจมาอย่างรวดเร็ว และทางกรมฯ มีเจตนาว่าจะทำต่อเพื่อที่จะได้ข้อมลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ปี 2556 เรามีบ่อรวบรวมขยะหรือแหล่งรวบรวมขยะ 2,490 แห่ง ปรากฎว่าที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือที่พอจะยอมรับได้ 466 แห่ง มีอีก 2,024 แห่ง คือเป็น Open Dump หรือแบบนำไปทิ้งให้กองไว้ โดยไม่มีการจัดการ แบบเดียวกับที่แพรกษา จ.สมุทรปราการ แต่แพรกษานี่ใหญ่กว่าทุกแห่ง ถ้าเทียบแล้วคือ 80 เปอร์เซนต์ เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นสะท้อนว่าเป็นวิธีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง” นายวิเชียรกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า Open Dump ส่วนใหญ่ เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะว่ากฎหมายทุกฉบับขณะนี้ ชี้ไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการ เพราะฉะนั้นที่ทิ้งขยะ 2,490 แห่ง 80-90 เปอร์เซนต์ เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีของเอกชนไม่กี่แห่ง ส่วนที่ลักลอบทิ้งก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง ซึ่งทางกรมฯ จะทำงานต่อเนื่องในปี 2557 เราก็จะไปดำเนินการต่อในส่วนนี้

ขยะสะสมปีละเกือบ 20 ตัน

นี่คือมุมมองของทางกรมฯว่า คือวิกฤต วิกฤตเกิดขึ้นเนื่องจาก ขยะเป็นสิ่งทุกคนมองไม่เห็น เพราะเป็นเรื่องออกจากตัว เป็นของออกจากตัว ไม่เหมือนน้ำประปา ถ้าน้ำประปาขาดทุกคนจะเดือดร้อนทันที เพราะเป็นสิ่งเข้าตัว เราได้รับประโยชน์ แต่ขยะออกไปจากตัวไปไหนก็ไม่รู้ ทุกคนก็ทิ้งออกไปจากตัว หน้าที่ของท้องถิ่นขณะนี้คือเมื่อบอกว่าเป็นหน้าที่ สิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังทำอยู่ก็คือ มีหน้าที่เก็บรวบรวมขยะแล้วก็เอาไปทิ้ง อาจจะด้วยศักยภาพก็ทำได้แค่นี้ หรืออาจจะมีปัญหาอะไรต่าง ๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนำมาสู่วิกฤตของชาติ

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

            “ผมใช้คำว่าวิกฤต เพราะขยะที่เราไปสำรวจพบมีอยู่ 19-20 ล้านตัน ที่ไปกองรวมกันอยู่ ปีหนึ่ง ๆ เรามีขยะเกิดขึ้นทั่วประเทศ 26.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิบปีที่แล้วเท่าตัว เมื่อสิบปีที่แล้วมีขยะเกิดขึ้นปีละประมาณ 14 ล้านตัน ทุกวันนี้ค่าเฉลี่ยของประเทศไทย คนเราทิ้งขยะออกมาปีละ 1.1 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกต้องต่ำกว่า 1 ตันต่อปี แต่ของเรากลับสูงขึ้น แล้วถ้ายังไม่ทำอะไร สังคมบริโภคอย่างเมืองไทย ปริมาณขยะจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจะทับถมทวี ปีหนึ่ง ๆ ขณะนี้เรากำจัดถูกต้องบวกกับนำไปรีไซเคิล ประมาณ 12 ล้านตัน หรือประมาณ 46 เปอร์เซนต์ อีก 14 ล้านตันคือส่วนหนึ่งไปทับถม ซึ่งผมสังเกตกับเจ้าหน้าที่ว่า 19 ล้านตัน ยังไม่น่าเชื่อ เพราะปีหนึ่ง 14 ล้านตันแล้ว แต่มีปัญหาคือว่า เป็นคำอธิบายที่เราเข้าใจได้ว่า มีการนำไปจัดการที่ไม่ถูกต้องเช่น ขยะที่เกิดขึ้นรายวันคือการเผา ผมตั้งข้อสังเกตว่า มีการเผาเพื่อหนีการสำรวจหรือไม่ เพราะทุกจังหวัดอาจจะไม่อยากอยู่ในอันดับ 1 ถึง 10 เลยมีการเผากันใหญ่เลย”

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเราไม่ให้ความสำคัญในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติลงมา เหมือนกับว่าเราเอาไปทิ้งแล้ว แต่อยากจะมองว่าทุกวันนี้ขยะเป็นทรัพยากร เป็นสินแร่ ทุกวันนี้ข้อมูลขณะนี้ มีเอกชนที่พร้อมจะเข้ามาตั้งเตาเผาขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อสองวันที่แล้วไปที่เขาใหญ่ไปเห็นบ่อขยะก็เข้าไปสอบถามปรากฎว่า ขณะนี้มีทางออกอีกอย่างเช่น ที่เทศบาลตำบลหมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ขนขยะสด ไปส่งที่โรงปูนทีพีไอ โรงปูนรับซื้อในราคาตันละ 150 บาท เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันวิธีกำจัดขยะเปลี่ยนไปมาก ไม่ใช่เฉพาะวิธีการฝังกลบหรือเตาเผา เพราะฉะนั้นจึงมองว่ามีวิธีการจัดการจะต้องเปลี่ยนไป การที่จะจัดการตรงนี้

กว่า 2,000 แห่งเหมือนระเบิดเวลา พร้อมปล่อยสารพิษ

ในมุมมองของกรมควบคุมมลพิษ คิดว่าจะต้องแก้ปัญหาวิกฤตขยะอย่างไร ประการที่หนึ่งในระดับชาติ ตนอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่จะมีการปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปประเทศแล้ว พรรคการเมืองต่าง ๆ มีนโยบายในเรื่องนี้ได้หรือไม่ พูดกันมาให้ชัด ๆ ว่าจะจัดการขยะอย่างไร ถามว่าทุกวันนี้มีหรือไม่ ไม่มี จึงต้องฝากสื่อให้ถามจี้พรรคการเมือง ว่าที่ผ่านมาสอบยี่สิบปี นี่คือปัญหาที่คุณสร้างให้เกิดขึ้น

            “ผมคิดว่าทำไมคุณจึงกล้าทุ่มงบประมาณ ไปสร้างเรื่องน้ำ 3.5 แสนล้าน ทำไมต้องทุ่มเงิน 2.2 ล้านล้าน ไปสร้างระบบทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่เรื่องของสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เรากลับไม่มีนโยบายที่ชัดเลยว่า เราจะทำยังไง กับเรื่องใกล้ตัว จริง ๆ แล้ว ประชาชนอาจจะไม่รู้ว่าขณะนี้กองขยะ 2,024 แห่ง ที่ว่านี้ เป็นระเบิดเวลา ที่ว่าเป็นระเบิดเวลาและเป็นระเบิดเคมีด้วย เพราะอย่างกรณีแพรกษา เราจะเห็นข้อเท็จจริงว่า เมื่อส่งผลกระทบกับคนกรุงเทพฯ ผลกระทบในเมือง ทุกคนกลัว จริง ๆ แล้วในอีกสองพันกว่าแห่งก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย เพียงแต่เป็นบ่อเล็กหรือบ่อใหญ่ เพราะทุกวันนี้ขยะจากชุมชน เราทิ้งโดยไม่มีการคัดแยกเลย เรามีทั้งขยะทั่วไปและขยะอันตราย ไม่ต้องพูดถึงขยะอุตสาหกรรม ว่าจะปนมาด้วยหรือไม่ ขยะอันตรายไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ หลอดไฟฟ้า กระป๋องสเปรย์ กระป๋องน้ำมัน พวกนี้เมื่อเกิดไฟไหม้ก็จะปล่อยสารอันตรายต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งออกมา ผมจึงใช้คำว่ามันเป็นระเบิดเคมี เพียงแต่ว่ามันไม่ทำให้ตายในทันที แต่มันจะสะสมในอีก 10-20 ปีอาจจะมีโรคมะเร็งมากขึ้น หรือราคาต่าง ๆ มากขึ้น เพราะฉะนั้นควรมการเสนอนโยบายตรงนี้” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว

ท้องถิ่นต้องทำเรื่องขยะไม่ให้เกี่ยวกับการเมือง

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวต่อว่า ประการที่สอง เห็นการแก้ไขปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นความจริงที่ว่า การแก้ไขปัญหาขยะในท้องถิ่น มีการเมืองเข้ามายุ่งมาก คือ ท้องถิ่นไม่กล้าที่จะตัดสินใจ ก็เหมือนกับระดับชาติ เช่น เราเสนอว่าให้ขึ้นค่าเก็บขยะ ให้ออกกฎออกระเบียบ แต่ไม่มีใครกล้า เพราะจะเสียคะแนนเสียง เผลอ ๆ มีการหาเสียงที่จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมเหล่านี้ด้วย ฉะนั้นจึงคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะต้องยกระดับเรื่องขยะให้อยู่เหนือการเมืองท้องถิ่นขึ้นมา แต่แน่นอนอย่างไรท้องถิ่นต้องจัดการ คำว่าเหนือขึ้นมาก็คือ จริง ๆ ขณะนี้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ต้องให้เป็นภาระที่ต้องทำของท้องถิ่นที่จะจัดการให้ถูกต้อง ไม่ใช่ขนขยะไปรวมกันอย่างเช่นทุกวันนี้ จะต้องทำให้ถูกวิธีการ

ส่วนวิธีการที่จะจัดการขยะ คิดว่าทุกคนมีคำตอบที่ตรงกันคือ จัดการที่ต้นทางก่อน คือการจัดการขยะมีตั้งแต่ต้นทางกลางทาง และปลายทาง ทุกวันนี้เราพูดที่ปลายทางว่า ไปจัดการไม่ถูกต้อง อะไรต่าง ๆ แต่ถ้าจะแก้ต้องกลับมาแก้ที่ต้นทาง เพราะจากตัวเลขที่ดู สมมุติว่าขยะ 1 กิโลกรัม หากนับเป็น 100 เปอร์เซนต์ เป็นขยะที่รีไซเคิลได้ 30 เปอร์เซนต์ หากเราจัดการตรงนี้ได้ ก็จะดึงขยะหายไปแล้วจำนวนหนึ่ง

ภาคอีสานเริ่มมีชุมชนปลอดขยะ 100 เปอร์เซนต์

วิธีที่สองเรามีขยะเปียกที่นำมารีไซเคิลได้อีก 60 กว่าเปอร์เซนต์ เพราะฉะนั้นจะหายไป 90 กว่าเปอร์เซนต์แล้ว จึงเหลือไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น ที่จะนำไปจัดการ แต่ทุกวันนี้เราไม่ทำเลย แต่ตรงนี้อาจจะเป็นตัวเลขรวม ๆ ซึ่งในสังคมชนบทคิดว่าทำได้ แต่สังคมเมืองคิดว่า 60 กว่าเปอร์เซนต์นี่อาจจะยาก ความจริงแล้วในท้องถิ่นขณะนี้ หลายแห่งโดยเฉพาะในภาคอีสานมีความตื่นตัวมาก มีวิธีการจัดการขยะที่เปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนนี้เราจัดการด้วยการเพิ่มถังขยะเข้าไป เพิ่มรถจัดเก็บเข้าไป แต่ทางภาคอีสานตอนนี้ เช่นที่บุรีรัมย์ ที่โคราช เขาจะมีชุมชนที่ปลอดถังขยะ มีถนนที่ปลอดถังขยะ เป็นหมู่บ้านต้นแบบในเรื่องของ Zero Waste ทุกแห่งจะไม่มีขยะแล้ว ทุกอย่างจะคัดแยกหมด คือต้องจัดการแบบนี้ แล้วเทศบาลต้องใจกล้าคือ ถ้าท้องถิ่นอยากมีส่วนร่วมที่จะทำสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องสนับสนุนเงิน โดยเอาเงินที่จะต้องตระเวนไปเก็บขยะมาใช้สนับสนุนชาวบ้าน เปลี่ยนวิธีการต้นทางคือต้องเปลี่ยนตรงนี้

เร่งออกกฎหมายเรื่องภาษีเพื่อให้แก้ที่ต้นทาง

ส่วนในบทบาทของกรมควบคุมมลพิษ ที่ต้องเสนอกฎหมาย ที่กรมกำลังจะทำคือ อันที่หนึ่งเรื่องมาตรการภาษี ซึ่งขณะนี้ไปค้างอยู่ที่กระทรวงการคลัง เราเรียกว่ามาตรการทางภาษี เราอาจจะต้องมีการเก็บภาษีกับผู้ที่ปลดปล่อยมลพิษ ซึ่งขณะนี้ที่ตามดูพบว่าจะเอาเฉพาะเรื่องน้ำเสีย จึงผลักดันไปว่าเอาเรื่องขยะด้วย เพราะเรื่องขยะวิกฤตกว่าน้ำเสียอีก ต้องเอาเรื่องนี้ อันที่สอง เรากำลังร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับซากอิเลกทรอนิกส์ เพราะว่าในบรรดาขยะซึ่งเราแบ่งเป็น 4 ด้านคือ ขยะชุมชน ของเสียอันตรายชุมชน ขยะติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรม ซึ่งของเสียอันตรายชุมชนทิ้งมาขยะชุมชน ที่บอกไปว่าคือระเบิดเวลา ปีหนึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 600,000 ตัน ที่ปนกันอยู่ เป็นขยะอิเลกทรอนิกส์ 360,000 ตัน ทุกวันนี้ยังไม่มีระบบบการจัดการที่ถูกต้อง เช่น ตอนนี้เรากำลังมีทีวีดิจิตัล พอเราจะเปลี่ยนจากทีวีจอกลมจออ้วนทั้งหลาย ส่วนใหญ่ถ้าจะขาย เราก็จะไปร้านรับซื้อของเก่า หรือเก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือให้คนอื่น หรือทิ้งไปพร้อมกับขยะทั่วไป เรากำลังศึกษากฎหมายว่าจะทำอย่างไรที่จะเรียกคืนซากพวกนี้กลับมา อันหนึ่งที่เราเสนอคือมีค่ามัดจำ เหมือนสมัยเด็ก ๆ ที่เราไปซื้อน้ำอัดลมแล้วมีค่ามัดจำขวด พอเราไปคืนก็ได้ค่ามัดจำกลับคืนมา ฉะนั้นซากพวกนี้ก็จะถูกรวบรวมกลับไปที่ผู้ผลิตหรือผู้ขาย หลังจากนั้นก็จะส่งเข้าโรงงานรีไซเคิล เพราะของพวกนี้รีไซเคิลได้ เพราะพวกนี้มีสารพิษอยู่เยอะ ทุกวันนี้มีอยู่มากที่แอบทำกัน เช่น ที่บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด มีการทำอิเลกทรอนิกส์กันทั้งหมู่บ้านทั้งตำบล แล้วขยะพวกนี้เมื่อออกมา ทีวีเครื่องหนึ่งมีตะกั่ว 0.5 กิโลกรัม ไปไหน นี่คือสิ่งที่จะต้องจัดการ ฉะนั้นเราจึงต้องร่างกฎหมายอันนี้ขึ้นมาเพื่อจะจัดการ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจะจัดการตั้งแต่ต้นทางว่าให้มีการรวบรวมเพราะมีมูลค่า สามารถนำไปจัดการให้มาใช้ใหม่ได้

อีกส่วนหนึ่งคือกฎหมาย 3 R (Reduce Reuse Recycle) คือ ต้นทางจะต้องมีการคัดแยกขยะ เรื่องกลางทางเรากำลังคิดให้ท้องถิ่นเป็นผู้นำ ในการที่ชักชวน เชิญชวน หรือมีแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชน อยากจะคัดแยก อาจจะบอกว่าบ้านไหนคัดแยก อาจจะไม่ขึ้นค่าเก็บขยะ หรือลดค่าเก็บขยะสัก 6 เดือน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความอยากทำ เกิดความเคยชิน และสิ่งที่ท้องถิ่นจะได้ก็คือค่าใช้จ่ายจะลดลง ส่วนปลายทาง ถึงวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่เป็นทางเลือกมาก ฝังกลบตีบตันขึ้นมากแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบเตาเผา หรือระบบอื่นเราต้องกลับมาดูแล้ว เพราะว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก แต่ถ้าเราไปแก้ที่ต้นทางขยะก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นที่ปลายทางจะง่ายขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: