ปลาจะหมดทะเล-เรือใหญ่กวาดจับเรียบ คนไทยต้องซื้อแพงขึ้น-ยังไม่พอส่งออก

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 5262 ครั้ง

อุตสาหกรรมประมงนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากภูมิศาสตร์ประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล มีชายฝั่งยาวถึง 2,614 กิโลเมตร ประชากรกว่า 27 ล้านคน หรือประมาณ 40 เปอร์เซนต์ ของประเทศไทย อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเล ในอดีตทะเลไทยนับว่ามีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ป่าชายเลนยังมีความสำคัญต่อนิเวศวิทยาของโลก นอกจากจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหลายชนิด ยังพบสัตว์ที่อาศัยป่าชายเลนมากถึง 35 ชนิด จากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยป่าชายเลนทั่วทั้งโลกทั้งสิ้น 50 ชนิด

เรือประมงขนาดใหญ่กวาดส่วนแบ่ง 90 เปอร์เซนต์

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจจากการผลิตเพื่อบริโภค ไปสู่การผลิตเชิงการค้า ส่งผลอย่างมากต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล เทคโนโลยีและเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำพัฒนาจนสามารถจับสัตว์น้ำได้ครั้งละมาก ๆ

จากรายงานของกรมประมง ประเทศไทยมีเรือประมงทั้งสิ้น 58,119 ลำ เป็นเรือประมงขนาดใหญ่ หรือ “เรือประมงมีเครื่องในเรือ” 13,263 ลำ คิดเป็น 22.8 เปอร์เซนต์ ที่เหลือเป็นเรือประมงขนาดเล็ก คือ “เรือประมงไม่มีเครื่อง” 2,634 ลำ และ “เรือประมงมีเครื่องนอกเรือ” 42,217 ลำ แต่สถิติความสามารถในการจับสัตว์น้ำในทะเลของเรือประมงขนาดใหญ่ ที่มีประมาณ 20 เปอร์เซนต์ กลับจับสัตว์น้ำได้กว่า 90 เปอร์เซนต์ ของปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมด

50 ปีจำนวนปลาลดฮวบ เหลือเพียง 8 เปอร์เซนต์

ประเทศไทยเริ่มจับปลาได้ครั้งละมาก ๆ นับแต่ปี 2495 โดยบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเริ่มนำอวนที่ทำจากใยสังเคราะห์เข้ามาจำหน่ายเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการใช้อวนลากคู่ ซึ่งจับสัตว์น้ำได้ทั้งปลาหน้าดินและปลาผิวน้ำ โดยจับได้ครั้งละจำนวนมาก ต่อมาในปี 2503 ประเทศสาธารณรัฐเยอรมันได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมงานกับกรมประมง มีการส่งเสริมการใช้เครื่องมือและเทคนิคใหม่ที่เป็นเรืออวนลาก ประเภทเรือลำเดียว ช่วงนี้เองที่มีการสั่งซื้อเรือประมงจากต่างประเทศ เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนเรืออวนลาก 99 ลำในปี 2503 ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี จำนวนเรืออวนลากได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,606 ลำ การจับปลาในน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จึงดำเนินไปอย่างไม่มีการควบคุมที่ดีพอ จำนวนสัตว์น้ำที่เคยจับได้จึงค่อยๆ ลดลงเป็นอย่างรวดเร็ว

ภาพจาก Greenpeace

ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจับปลาในน่านน้ำไทยลดลงจากชั่วโมงละ 300 กิโลกรัมในปี 2504 เหลือเพียง ชั่วโมงละ 25 กิโลกรัมในปี 2554 หรือคิดเป็น 8 เปอร์เซนต์ ของอัตราที่เคยทำได้เท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ในบรรดาปลาที่จับมาได้ด้วยเรืออวนลากนั้น เป็นชนิดปลาและขนาดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการเพียง 40 เปอร์เซนต์ เท่านั้น 19.2 เปอร์เซนต์ เป็นปลาและสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยมีขนาดเล็กกว่าที่ต้องการ อีก 40.2 เปอร์เซนต์ เป็นปลาที่ไม่มีมูลค่า คนไม่บริโภค ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ หรือบดทำเป็นลูกชิ้น ในช่วงสิบปีหลังพบว่า จำนวนปลาโตเต็มวัยที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จับได้มีปริมาณลดลง และปลาที่ไม่เป็นที่ต้องการ (รวมทั้งที่ยังโตไม่เต็มวัย) มีจำนวนมากขึ้น ตัวเลขนี้เป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นว่า สัตว์น้ำโตไม่ทันความต้องการบริโภคของมนุษย์ และเป็นสัญญาณอันตรายว่า ในอนาคตปลาอาจจะหมดไป หากเราไม่ปล่อยให้ปลาตัวเล็กตัวน้อย ที่ยังไม่โตเต็มที่ได้มีโอกาสอยู่รอดต่อไป

ไทยจับปลาได้น้อยลง แต่เป็นผู้ส่งออกอันดับสามของโลก

รายงานประจำปีขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในปี 2010 ระบุว่า ทั่วโลกจับปลาได้ทั้งหมดเท่าที่บันทึกไว้ได้ 148.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 90 ล้านตัน อยู่ถึง 65 เปอร์เซนต์ ประเทศที่จับสัตว์น้ำสูงที่สุดคือ 5 อันดับแรกคือ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ เปรู จากเรือประมงทั้งสิ้น 4.4 ล้านลำ ในจำนวนนี้อยู่ในเอเชียถึง 73 เปอร์เซนต์ โดยประเทศไทยจับปลาได้เป็นอันดับที่ 13 ของโลก ข้อมูลของปี 2553 ไทยจับปลาได้ทั้งสิ้น 1,827,199 ตัน เมื่อพิจารณาตัวเลขการจับปลาของไทยในปีก่อนหน้า จะพบว่าไทยจับปลาได้น้อยลงมาตลอดในช่วง 20 ปีหลัง

ขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนก็มีความสามารถในการจับปลาติดอันดับโลกเช่นเดียวกัน โดยใน 20 อันดับแรกของโลก มีชาติในอาเซียนติดอันดับถึง 6 ประเทศ คือ อินโดนีเซียอันดับ 2, พม่าอันดับ 8, ฟิลิปปินส์ อันดับ 11, เวียดนามอันดับ 12, ไทยอันดับ 13, และมาเลเซียอันดับ 17

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะจับปลาได้เป็นอันดับที่ 13 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน แต่ปรากฎว่า ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงจากประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศจีน และนอร์เวย์ ไทยครองแชมป์ในอาเซียน โดยมียอดส่งออกสูงถึง 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 200,000 ล้านบาท ขณะที่เวียดนามส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก และอินโดนีเซียที่จับปลาได้เป็นอันดับ 2 ของโลกกลับมียอดส่งออกเป็นอันดับที่ 13 เพียง 7,680 ล้านบาท และมีเพียง 3 ประเทศในอาเซียนที่ติด 20 อันดับแรกในการส่งออก

ข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นภาพว่า ประเทศไทยอยู่ในสถานะผลิตเพื่อค้าเป็นหลัก โดยเรามีอุตสาหกรรมการแปรรูปประมงขนาดใหญ่ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ  ที่แม้จะจับได้มากกว่า แต่ก็เน้นในการบริโภคเองเป็นหลัก ด้วยความที่ความอุดมสมบูรณ์ของน่านน้ำไทยลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมแปรรูปประมงของไทยมีขนาดใหญ่ จึงต้องพึ่งพาปลาจากแหล่งอื่น ข้อมูลจากกรมประมงพบว่า กว่า 40 เปอร์เซนต์ ของปลาที่ป้อนให้อุตสาหกรรมแปรรูปประมงในไทยมาจากแหล่งอื่น

หลายปัจจัยส่งผลให้ราคาอาหารทะเลในประเทศอาจพุ่งสูงขึ้น 40 เปอร์เซนต์

ผู้ประกอบการแปรรูปประมงรายหนึ่งในจ.สมุทรสาคร ให้ข้อมูลกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ราคาอาหารทะเลคงจะพุ่งสูงขึ้น ด้วยสาเหตุจากปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง อาทิ จำนวนปลาที่จับได้มีจำนวนน้อยลงทุกปี มีการลอบจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคประมงและการแปรรูป เนื่องจากเป็นงานหนักที่คนไทยไม่ค่อยทำ ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวซึ่งยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันต้องจ่ายค่าจ้างโดยเฉลี่ยมากกว่าวันละ 300 บาท โดยใช้ระบบเหมา ทำมากได้มาก แต่คนงานก็ยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซแอลพีจี ก็มีผลต่อต้นทุนเช่นกัน คาดว่าในปีนี้ราคาอาหารทะเลสด อาหารทะเลแปรรูปจะพุ่งสูงขึ้น 30-40 เปอร์เซนต์ เป็นผลมาจากการขาดแคลนสัตว์น้ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักกับผู้ประกอบการการค้าปลีก-ค้าส่งอาหารทะเล โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่ใช้อาหารทะเลเป็นวัตถุดิบ เช่น ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น

ภาพจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=633407

จากสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องร่วมกันหามาตรการปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องผนึกกำลังกันร่วมรณรงค์รักษาระบบนิเวศในท้องทะเลไทย ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคม การรุกเข้ามาของชุมชนเมือง ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของที่ดินชายฝั่งทะเล ภาวะน้ำเสียจากชุมชน ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างมาก การจับปลาโดยเน้นปริมาณเป็นสำคัญ ส่งผลเสียหายใหญ่หลวง ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมประมงและการแปรรูปประมงเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งนี้ส่งผลโดยรวมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งล้วนมีสิทธิทรัพยากรธรรมชาติโดยเท่าเทียมกัน

 

ข้อมูล : กรมประมง, องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ, Greenpeace

ขอบคุณภาพประกอบจาก Greenpeace, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=633407, http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=namtannoi&month=28-05-2009&group=4&gblog=32

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: