สำรวจแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ ‘ชาติ’ เป็นเครื่องมือทางการเมือง

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 2 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 16679 ครั้ง

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศจะทำการปรับวิธีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีความรักชาติ ปลูกฝังจริยธรรม เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ภายใต้ค่านิยม 12 ประการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นโยบายไว้  โดยจะเริ่มอย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2558  ขณะที่หลายโรงเรียนนำร่องโดยการให้นักเรียนคัดลายมือเนื้อหาค่านิยม 12 ประการ ในชั่วโมงเรียนภาษาไทย

ประวัติศาสตร์จึงกลายอุปกรณ์ทางการเมืองอีกครั้งและอีกครั้งไปโดยปริยาย ซึ่งหากไล่เรียงเนื้อหาแบบเรียนประวัติศาสตร์ จะพบว่า เรื่องเล่าเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ชาตินิยมแก่เยาวชนไทยมาหลายชั่วรุ่น โดยไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นนโยบายของ คสช. เลย  ดังที่ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวไว้ในชั้นเรียน ‘โรงเรียนนักข่าว TCIJ’ ว่า ประวัติศาสตร์ที่สอนกันอยู่มีส่วนสร้างความเข้าใจผิดต่อประเทศเพื่อนบ้านจนกลายเป็นอคติระหว่างชนชาติในที่สุด

มีคำกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องเล่าของผู้ชนะ ถ้อยคำของผู้แพ้เป็นได้เพียงเรื่องเล่ากระแสรอง แล้วแบบเรียนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าแบบใด

TCIJ พาไปสำรวจแบบเรียนประวัติศาสตร์ ประถม-มัธยมศึกษาที่กระทรวงศึกษากำลังจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กไทยรักชาติยิ่งขึ้น เทียบกับอีกบางแง่มุมจากนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เขียนตำราเรียนให้กระทรวงศึกษาฯ ว่า ประวัติศาสตร์สามารถตีความได้หลากมิติและไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางที่ความเป็นชาติ

ท้าวสุรนารี ในแบบเรียนประถมศึกษาปีที่ 2

เริ่มที่แบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ประวัติและผลงานสำคัญของบุคคลในท้องถิ่นที่น่าภาคภูมิใจ เนื้อหาเล่าถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารีหรือย่าโม บุคคลสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ในสมัยต้นรัชกาลที่ 3 ราวปี 2363 สร้างคุณงามความดีโดยเป็นผู้นำปราบกบฏเจ้าอนุวงค์ เจ้าเมืองเวียงจันทร์ ขณะกำลังยกทัพผ่านนครราชสีมา เพื่อเข้าตีกรุงเทพมหานครฯ จนได้รับปูนบำเหน็จจากคุณหญิงโมขึ้นเป็นท้าวสุรนารี ภายหลังได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะ

ขณะที่วิทยานิพนธ์ เรื่อง ‘การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี’ ของสายพิน แก้วงามประเสริฐ  ได้นำเสนอหลักฐานอย่างรอบด้านว่า คุณหญิงโมไม่น่าจะมีตัวตนอยู่จริง พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าวีรกรรมต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ รวมทั้งการเร่งรีบสร้างอนุสาวรีย์นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในสมัยจอมพล ป. หรือไม่

แม้งานงานเขียนดังกล่าวจะได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2536 และปี 2538 สำนักพิมพ์มติชนนำมาปรับปรุงเป็นหนังสือจัดจำหน่าย แต่การท้ายทายประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ยึดโยงกับความศรัทธาวีรสตรี ส่งผลให้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2539 ชาวจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน ออกมาประท้วงผู้เขียนและสำนักพิมพ์ว่าลบหลู่สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เคารพ ทำให้เกิดการแตกแยกในสังคม พร้อมข่มขู่ว่า หากย่างเท้าเข้ามาเมืองโคราชจะถูกต้อนรับอย่างสาสม มีการรวมพลังคนนับหมื่นที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทำให้สำนักพิมพ์มติชนต้องเก็บหนังสือออกจากท้องตลาด ผู้เขียนถูกย้ายออกจากพื้นที่ ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่โรงเรียนสะแกราชธวัชศึกษา อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา

แบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กับ หลักศิลาจารึก

การสร้างอาณาจักรในดินแดนไทยในอดีต หัวข้อ อาณาจักรสุโขไทย ในหมวดย่อยเรื่อง มรดกทางภาษาและวรรณกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย อธิบายว่า ลายสือไทยหรือตัวอักษรไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ราวปี 1821 คือมรดกสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ามีการประดิษฐ์อักษรใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ หลักฐานที่สอดรับกับคำอธิบายดังกล่าวปรากฏใน หลักศิลาจารึกที่ 1

บทความเรื่อง ‘หลักศิลาจารึกฉบับที่ 1 กับปัญญาชนรุ่นรัชกาลที่ 3-4 พิมพ์เขียวสำหรับอนาคตที่ใช้การไม่ได้’ ของ ไมเคิล ไรท์  ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2543 ใจความสรุปคือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ถูกสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่4) กับผู้รู้และสานุศิษย์ของพระองค์ โดยนำเหตุการณ์การขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมอังกฤษเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยมาอธิบายว่า ชนชั้นปกครองเริ่มกังวลถึงความมั่นคงของชาติ จึงได้สร้างรัฐในอุดมคติของไทยที่เรียกว่า สุโขทัย และบันทึกในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 เหตุเพราะปัญญาชนและชนชั้นปกครองไทยต้องการแสดงหลักฐานให้นานาชาติรู้ถึงความมีอารยธรรมไทยมาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย

"ประวัติศาสตร์ที่สอนกันอยู่

มีส่วนสร้างความเข้าใจผิดต่อประเทศเพื่อนบ้าน

จนกลายเป็นอคติระหว่างชนชาติในที่สุด"

วีรุบุรุษ-สตรี ไทย กับการกอบกู้เอกราช ในแบบเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

บทเรียนเรื่อง อาณาจักรอยุธยา ระบุเนื้อหา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพจากพม่า สร้างความมั่นคงให้กับกรุงศรีอยุธยา ในบทที่ 3 ประวัติและผลงานบุคคลสำคัญในสมัยอยุธยา ระบุถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า ในปี 2153 ฝั่งพม่านำโดยพระมหาอุปราชายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงยกทัพไปตั้งรับและกระทำยุตหัตถีชนะพระมหาอุปราชา ส่งผลให้ทัพพม่าแตกพ่ายในที่สุด

รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรณาธิการหนังสือ ‘ชาตินิยมในแบบเรียนไทย’ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะข่าวตื้นถึงการกอบกู้เอกราชในสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ ว่า พระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระนเรศวรฯ กระทำคือการไม่ยอมรับสถานะของพม่า ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย  ไม่ใช่การกู้เอกราชในความหมายของการต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการปกครองของเจ้าอาณานิคม  เพราะในขณะนั้น อยุธยายังมีกษัตริย์ปกครอง

ส่วนหัวข้อเรื่องวีรกรรมของบรรพบุรุษไทย อย่างชาวบ้านบางระจัน  แบบเรียนระบุว่า ชาวบ้านบางระจัน สร้างวีรกรรมสำคัญต่อแผ่นดิน โดยรวมตัวกันต่อสู้ทัพพม่าที่นำโดยเนเมียวสีหบดี ซึ่งยกทัพมาหวังเข้าตีอยุธยาและระหว่างทางได้ออกปล้นสะดมหมู่บ้านที่เคลื่อนทัพผ่าน ชาวบ้านบางระจันสามารถรวบรวมกำลังพลได้จำนวนมากและตั้งค่ายสู้กับพม่า แต่สุดท้ายต้องแพ้เพราะสู้ทัพพม่าที่มีกำลังพลและอาวุธมากกว่าไม่ได้

ในขณะที่อีกหนึ่งคำอธิบายของ รศ.ดร.สุเนตร ระบุว่า การต่อสู้ของชาวบ้านบางระจันเป็นการสู้เพื่อป้องกันตนเอง ไม่ใช่สู้เพื่อกันทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา บริบททางประวัติศาสตร์ในขณะนั้น ไม่ว่าทัพพม่าเคลื่อนกำลังพลไปที่ไหน จะต้องปล้นเสบียงอาหารของหมู่บ้านที่ทัพเคลื่อนผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของยามเกิดศึกสงครามในทุกประเทศ โดยทั่วไป ทางเลือกของชาวบ้านมีอยู่ 3 ทาง คือ 1.หนีเข้าไปหลบในกำแพงเมือง (กรุงศรีอยุธยา) 2.หนีเข้าไปซ่อนตัวในป่า และ 3.รวมตัวกันต่อสู่กับฝ่ายตรงข้ามเพื่อป้องกันตนเอง 

เสียดินแดนเพื่อรักษาเอกราช ในแบบเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3

แบบเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 หัวข้อ การเสียดินแดนสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เนื้อหาแบบเรียนระบุว่าไทยเสียดินแดนทั้งสิ้น 6 ครั้ง เหตุปัจจัยสำคัญมาจากอิทธิพลการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษ ครั้งที่ 1 เสียเขมรให้แก่ฝรั่งเศสตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 4, ครั้งที่ 2 เสียแคว้นสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ 5, ครั้งที่ 3 เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสหรือที่รู้จักกันในชื่อ วิกฤติ ร.ศ.112, ครั้งที่ 4 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสในปี 2446 เพื่อแลกกับจังหวัดจันทบุรีที่ถูกฝรั่งเศสนำทัพไปยึด, ครั้งที่ 5 เสียมณฑลบูรพาหรือประเทศเขมรส่วนในให้แก่ฝรั่งเศส ปี 2449 และครั้งที่ 6 เสียดินแดนบริเวณไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส หรือบริเวณประเทศมาเลเซียในปัจจุบันให้แก่อังกฤษ ในปี 2543

อย่างไรก็ดี งานศึกษาเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม’ ของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เสนออีกมิติ เรื่องการเสียดินแดนทั้ง 6 ครั้งว่า ประเทศไทยหรือสยามไม่เคยเสียดินแดน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพ่ายแพ้ต่อชาติตะวันตกในการแข่งกันผนวกดินแดนเข้ามาเป็นของตนเองให้ได้มากที่สุด เหตุที่ประวัติศาสตร์ไทยอธิบายว่าไทยเสียดินแดนให้ชาติตะวันตกเป็นผลจากการเขียนประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

"ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่ยอมรับความจริง

จึงมองข้ามข้อมูล ด้วยอคติทางชาติพันธุ์"

นอกจากนี้  นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อีกหลายท่าน ยังแสดงความวิตกต่อการตีความประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้อุดมการณ์ชาตินิยมอย่างเข้มข้นในห้วงนี้   ดังเห็นได้จากเวทีเสวนาว่าด้วย ‘ยุคมืดประวัติศาสตร์ไทย: หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท’ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา  สุจิตต์ วงษ์เทศ  นักคิด นักเขียนด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี  ผู้จุดประเด็นถกเถียงเรื่องคนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต  ได้กล่าวในเวทีว่า

“คำว่าคนไทยและเมืองไทย เริ่มต้นเมื่อหลัง พ.ศ.1700 ลงมาเท่านั้น โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้คนจากลุ่มน้ำโขงสู่เจ้าพระยา ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของการค้าโลก ...ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยไม่ยอมรับความจริง จึงมองข้ามข้อมูล ด้วยอคติทางชาติพันธุ์..."

เมื่อประวัติศาสตร์คือการตีความและเรื่องเล่า นี่จึงไม่ใช่การบอกว่าเรื่องเล่าของฝ่ายไหนจริงแท้ เพียงแค่แสดงแง่มุมว่าเรื่องเล่ามีหน้าที่ของมันอยู่ในสังคมการเมือง ที่เหลือเป็นเรื่องที่ต้องเลือกว่าจะเชื่อแบบไหน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: