กว่าจะเป็นห้องน้ำแบบ ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น

27 ม.ค. 2557


สถานที่สำหรับการขับถ่าย เห็นจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกวิถีของแต่ละชนชาติได้เป็นอย่างดี ...แน่นอนไม่ว่าจะคนไทยหรือคนญี่ปุ่น ต่างก็ต้องขับถ่าย “ห้องน้ำ” แบบคนไทย เพื่อนๆ ก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว งั้น..วันนี้เราไปรู้จักกับห้องน้ำของคนญี่ปุ่นกันมั่งดีกว่า 

แต่ก่อนในสมัยโจมง คนญี่ปุ่นก็นิยมทำหลุมขยะรูปเกือบม้าเอาไว้ และเจ้าหลุมนี่แหล่ะที่สันนิษฐานกันว่าถูกใช้เป็นห้องน้ำด้วย (ประมาณส้วมหลุมบ้านเรานั่นเอง) พอมาในสมัยนารา (ค.ศ. 710 – 784) ห้องน้ำก็ถูกพัฒนาจนมีลักษณะแบบที่ต้องราดน้ำ เพราะพบหลักฐานว่าสมัยนั้น บางแห่งมีระบบระบายน้ำทิ้งจากห้องน้ำด้วย แหล่งที่พบห้องน้ำแบบใช้น้ำก็มักจะเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้ลำธาร (ดูเหมือนว่าเขาจะปล่อยของเสียลงแม่น้ำด้วยเหมือนกันนะในสมัยนั้น) 

 

ห้องน้ำญี่ปุ่นในสมัยนารา

 

นอกจากสมัยก่อนคนญี่ปุ่นจะใช้ส้วมคล้ายๆ กับส้วมหลุมของไทยแล้ว ก็ยังนิยมใช้ห้องน้ำที่สามารถกักเก็บมูลเอาไว้ได้ด้วย เนื่องจากแต่ก่อนคนญี่ปุ่นเขาซื้อขายอุจจาระกัน เพราะสามารถนำเอามาทำปุ๋ยชั้นดีได้ ยิ่งถ้าเป็นมูลที่ได้จากบ้านเศรษฐี บ้านขุนนาง ยิ่งแพง เพราะเขากินดีอยู่ดี จึงเชื่อว่ามูลย่อมจะมีประโยชน์กว่าปุ๋ยจากมูลคนสามัญชนทั่วไป คนญี่ปุ่นนี่เป็นเจ้าแห่งการรีไซเคิลจริงๆ นะ ไม่ยอมทิ้งอะไรง่ายๆ ถ้าสามารถนำไปใช้เกิดเป็นประโยชน์อย่างอื่นได้ อย่างเช่นที่จังหวัดโอกินาวะ แต่ก่อนก็เคยนำมูลคนไปเป็นอาหารหมูด้วย (แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความนิยมซื้อขายมูลคนเพื่อนำไปทำปุ๋ยก็ลดลง นั่นก็เพราะการรณรงค์เสริมสร้างสุขลักษณะที่ดีในสังคมนั่นเอง และอีกประการหนึ่งก็เพราะเริ่มมีการนำปุ๋ยเคมีมาจำหน่ายกันแล้วนั่นเอง)

 

ห้องน้ำญี่ปุ่นดั้งเดิม (Washiki)

 

พอยุคหลังๆ ห้องน้ำญี่ปุ่นก็มีการพัฒนามาเป็นแบบที่คนไทยเรียกว่า “คอห่าน” ที่เป็นส้วมซึมซึ่งเราต้องนั่งยองๆ ลงไปนั่นเอง คนญี่ปุ่นเขาก็มีเหมือนกันนะ แถมห้องน้ำแบบนี้คนญี่ปุ่นเชื่อว่ามันถูกสุขลักษณะมาก เพราะจะไม่มีอวัยวะส่วนใดของร่างกายต้องสัมผัสกับโถส้วมเลยนอกจากเท้าของเรา ลักษณะการใช้งานก็คล้ายๆ กับส้วมคอห่านของคนไทย แต่ว่า... ของเราจะขึ้นไปนั่งยองๆ แล้วหันหน้าออกมาทางประตูใช่มั้ยล่ะ แต่ของคนญี่ปุ่นที่ออกจะขี้อายหน่อย เขาจะหันหลังให้ประตูจ้าาาา ชาวต่างชาติจะเรียกว่าห้องน้ำแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นนี้ว่า Traditional Japanese Toilet หรือ Japanese-Style Toilet แต่คนญี่ปุ่นเรียกว่า วะชิกิ (Washiki 和式) 

 

วิธีใช้ Washiki

 

ส่วนห้องน้ำที่หลายคนน่าจะประทับใจกว่าวะชิกิ ก็คือห้องน้ำแบบตะวันตก (Western Style Toilet) หรือ “ชักโครก” ที่คนญี่ปุ่นเขาพัฒนาจนมีความล้ำหน้า นำสมัย สะดวกสบายแบบสุดๆ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วทั้งญี่ปุ่นก็ยังคงใช้ห้องน้ำแบบวะชิกิกันอยู่ แต่พอหลังสงคราม ห้องน้ำแบบตะวันตกก็เริ่มถูกนำมาใช้ในญี่ปุ่นกันมากขึ้น จนกระทั่งพบเห็นได้ทั่วไป ในปัจจุบันกว่า 70% ของบ้านเรือนในญี่ปุ่นใช้ห้องน้ำแบบตะวันตกกันหมดแล้ว คนญี่ปุ่นเรียกห้องน้ำแบบนี้กันว่า โยชิกิ (Yoshiki Toilet 洋式) แต่ก็นิยมเรียกอีกแบบมากกว่า นั่นคือ ว้อชเลท (Washlets, Woshuretto ウォシュレット) ซึ่งเป็นชื่อที่บริษัทผู้ผลิตสุขภัณฑ์ของญี่ปุ่นนามว่า Toto คิดขึ้นเมื่อตอนเปิดตัวชักโครกแบบตะวันตกครั้งแรกในตลาดญี่ปุ่น นั่นก็คงทำให้คนญี่ปุ่นจำและพูดกันจนติดปากนั่นเอง 
 

ห้องน้ำญี่ปุ่นสไตล์ตะวันตก

 

คนญี่ปุ่นเค้าก็พยายามคิดทำคิดพัฒนากันซะแบบสุดๆ บางที่ถึงที่ทางคับแคบหน่อย ห้องน้ำก็เลยต้องแคบตามไปด้วย เค้าก็ยังประยุกต์เอาอ่างล้างมือมาไว้บนแท้งก์เก็บน้ำของชักโครกกันได้ เวลากดชักโครกที ก็จะมีน้ำไหลออกมาจากก๊อกที่อ่างล้างมือนี้ด้วย เราจึงสามารถล้างมือได้ ในเวลาเดียวกันก็ช่วยประหยัดได้น้ำอีก เพราะน้ำที่ใช้แล้วจากก๊อกนี้ ก็จะกลายเป็นน้ำสำหรับชักโครกในครั้งต่อไปด้วย ประหยัดทั้งน้ำประหยัดทั้งพื้นที่เลย ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวจริงๆ แจ่มมั้ยความคิดของคนญี่ปุ่นเขาล่ะ และที่ห้องน้ำญี่ปุ่นมีชื่อเสียงมาก ก็คงไม่พ้นเรื่องความไฮเทคของเจ้าว้อชเลทนี่แหล่ะ ไม่ว่าจะเป็นระบบทำให้ฝารองนั่งอุ่น เวลาหน้าหนาวก็สบายก้นกันไป บางที่ก็ไฮเทคถึงขนาดแค่เปิดประตูห้องน้ำ ฝาครอบชักโครกก็เปิดต้อนรับแบบอัตโนมัติ (ขาออกก็ปิดเองซะด้วย) พอทำธุระเสร็จเราก็ไม่ต้องกดน้ำเอง เครื่องมันจัดการให้เสร็จสรรพ แล้วถ้าเป็นบ้านเรา อาจจะต้องใช้สายฉีดหรือใช้กระดาษชำระ แต่ที่ญี่ปุ่น..ห้องน้ำส่วนใหญ่จะมีปุ่มต่างๆ ที่ช่วยในเรื่องพวกนี้ จะถ่ายหนัก ถ่ายเบา น้ำแรง น้ำค่อย น้ำอุ่น น้ำเย็น เลือกกันได้ตามอัธยาศัย แต่ที่แน่ๆ อย่าลืมกดปุ่ม Stop ก่อนลุกออกจากเก้าอี้ เอ้ย! โถชักโครกก็แล้วกัน ไม่งั้นได้มีเปียกเลอะเทอะไปทั้งห้องน้ำ แล้วก็ตัวเราด้วยแน่ๆ ^^

 

แผงควบคุมความไฮเทคของห้องน้ำญี่ปุ่นแบบตะวันตก

 

นอกจากนี้เวลาเข้าห้องน้ำ บางท่านก็มักจะปล่อยเสียงดุดัน สารพัดเสียงในห้องน้ำ เพื่อเป็นการแก้เขิน ไม่ว่าจะหญิงหรือชายก็มักจะกดน้ำทิ้งแก้เขิน กลบเสียง กันอยู่บ่อยๆ ใช่มั้ยล่ะ แต่คนญี่ปุ่นเขาว่ามันเปลือง ก็เลยคิดทำเครื่องสร้างเสียงเลียนแบบการกดน้ำขึ้นมาแทน ก็ช่วยประหยัดน้ำได้เยอะเชียวแหล่ะ แถมยังตอบโจทย์แก้เขินของเราได้จริงๆ ด้วย (บริษัทสุขภัณฑ์ Toto เรียกเครื่องทำเสียงนี้ว่า Otohime แปลว่า เสียงแห่งเจ้าหญิง)

 

 

ส่วนห้องน้ำชาย (แบบโถฉี่) ก็ใช่ย่อย ทันสมัยขนาดมีเซ็นเซอร์สำหรับกดน้ำอัตโนมัติเหมือนกันนะ  แถมบางที่ก็มีลูกเล่น มีเลเซอร์ล็อกเป้า ให้ท่านชายทั้งหลาย จะได้เล็งไม่ผิดเป้าหมายอีกด้วย จุดประสงค์ก็เพื่อความสะอาดสะอ้านนั่นเอง เพราะถ้าเล้งตรงเป้ากันหมด มันก็จะไม่ค่อยกระเด็นเลอะเทอะใช่มั้ยล่ะ ล้ำได้อีก 

 

“Toylet” โถฉี่สำหรับคุณผู้ชายที่มีเกมจาก “Wii” โดย Nintendo ไว้บริการด้วย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น Option ของห้องน้ำแต่ละที่ในญี่ปุ่น ก็ไม่ได้เหมือนกันแบบเป๊ะๆ หรอกนะ ต้องสังเกตให้ดีๆ อย่างน้อยก็เช็คให้แน่ใจว่าได้กดน้ำลงชักโครกไปแล้วจริงๆ ไม่ว่าเครื่องจะกดให้แบบออโต้ หรือจะกดด้วยมือของเราเองก็แล้วแต่ เช็คให้ชัวร์ๆ ก่อนออกจากห้องน้ำก็แล้วกัน ไม่งั้นคนเข้าห้องน้ำทีหลังเรา อาจจะช็อกตายกันได้ เหอ เหอ  

นี่ก็คือเรื่องราวของห้องน้ำทั้งแบบดั้งเดิม และแบบสมัยใหม่ของคนญี่ปุ่น อ้อ! และอันที่จริงคำที่ใช้เรียก “ห้องน้ำ” ในญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีแค่นี้ มีอีกหลายคำเลยทีเดียวนะ...

เพื่อนๆ ได้รู้จักกับห้องน้ำแบบ washiki กับ washlets กันไปแล้ว แต่คนญี่ปุ่นบ้างก็เรียกห้องน้ำว่า โทอิเระ (Toire トイレ) แหง๋ล่ะ มาจากภาษาอังกฤษที่ว่า toilet นั่นเอง แล้วก็ยังนิยมเรียกว่า โอเทะอะระอิ (Otearai お手洗い) ด้วย ส่วนในซุปเปอร์ฯ หรือห้างฯ บ้างก็เรียกว่า เคะโชชิทสึ (Keshoshitsu 化粧室) คำนี้บางคนใช้เรียกแทนห้องน้ำสาธารณะด้วยนะ แล้วก็ยังมีคำว่า เบนโจ (banjo 便所) ซึ่งก็หมายถึงห้องน้ำเหมือนกัน แต่มักจะเรียกกันในโรงเรียนประถม หรือสถานที่ที่ต้องใช่ร่วมกับผู้อื่น แต่มันออกจะเป็นคำไม่ค่อยสุภาพเท่าไรนะ 

 

ไม้ Chugi กระดาษชำระของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน 

 

มาเพิ่มเติมกันนิดนึงในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ห้องน้ำของคนญี่ปุ่น... 
เริ่มที่เรื่องราวของ Toilet Paper หรือกระดาษชำระ ซึ่งก็คือทิชชูที่เราใช้กันในห้องน้ำนั่นเอง ในอดีตนั้นคนญี่ปุ่นใช้แท่งไม้ยาวๆ ที่เรียกว่า จูงิ (Chugi 籌木) แทนกระดาษชำระที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน บ้างก็ใช้สาหร่ายเช็ดกันด้วย แต่พอสมัยเอโดะ ก็เริ่มมีการนำกระดาษชำระที่ทำจากกระดาษญี่ปุ่น (กระดาษวาชิ, Washi 和紙) มาใช้แทน แต่ถ้าใครอยู่นอกเมือง ห่างไกลความเจริญหน่อย สมัยนั้นเขาก็ยังคงใช้ไม้ หรือไม่ก็ใบไม้ใบใหญ่ๆ เช็ดกันอยู่ดี ^^”

คำเตือน..ที่ญี่ปุ่นนั้น ห้องน้ำสาธารณะบางแห่งก็จะไม่ค่อยมีกระดาษชำระเตรียมไว้ให้ ดังนั้นเราจึงควรมีกระดาษทิชชูติดตัวเอาไว้บ้าง โดยเฉพาะคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย และบางแห่งก็จะไม่ค่อยเห็นถังขยะในห้องน้ำ ซึ่งก็เป็นเพราะกระดาษชำระส่วนใหญ่จะทำจากกระดาษพิเศษที่สามารถละลายในน้ำได้ จึงสามารถใส่ลงไปในโถชักโครก และกดน้ำตามหลังได้

 

รองเท้าสำหรับใส่ในห้องน้ำญี่ปุ่น

 

“รองเท้า” สำหรับใส่เฉพาะในห้องน้ำของชาวญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ถ้าเป็นห้องน้ำในสถานที่ปิดบางแห่ง อาทิ ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่น ที่พักแบบญี่ปุ่น ที่พักแบบโฮมสเตย์ หรือบ้านเรือนของคนญี่ปุ่นเอง มักจะมีรองเท้าสำหรับใส่ในห้องน้ำโดยเฉพาะ เพื่อสุขลักษณะที่ดี สะอาด และเพื่อความสบายใจของเจ้าบ้าน แขกที่ไปเยือนอย่างเราๆ ก็ควรใช้รองเท้าของเขาตามมารยาทที่ดีด้วยนะจ้ะ

ญี่ปุ่นใส่ใจกับเรื่องการขับถ่ายมาก ถึงขนาดมีการตั้งองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่า The Japan Toilet Association ขึ้น และองค์กรนี้ก็ตั้งวันที่ 10 พฤศจิกายน ให้เป็นวันแห่งห้องน้ำ (Toilet Day) อันนี้เป็นการตั้งแบบกันเองๆ ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวันแห่งห้องน้ำจริงๆ หรอกนะ อย่างไรก็ดี ก็เป็นการแสดงว่าเรื่องขับถ่ายนี่มันไม่ใช่เรื่อง...ๆ เลยนะสำหรับพวกเขา เขาใส่ใจกันอย่างจริงจัง เพื่อสุขอนามัย และความสะดวกสบาย ก็นี่เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เลย

 

 

ที่มา www.marumura.com

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: