จับตาทปอ.ปรับ-ไม่ปรับสอบเข้ามหา’ลัย ย้อน52ปีแก้แล้วหลายครั้งแต่ยังไม่ลงตัว

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 26 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1785 ครั้ง

คงเป็นวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ที่หากลองได้เปลี่ยนเรื่องภายใต้การควบคุมก็ต้องเอนเอียงไปตามสภาพ และการศึกษาไทยก็เป็นอย่างนั้นในตลอด 2 ปีกว่าที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานมา โดยล่าสุดพลิกกระดานส่งหมากตัวสำคัญคือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ กลับมาดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ อีกครั้ง และนับเป็น รมว.ศึกษาธิการ คนที่ 49 ของการศึกษาไทย

การกลับมาของนายจาตุรนต์ ในครั้งนี้ เป็นที่วาดหวังมากในหมู่นักการศึกษา ครู อาจารย์ทั้งหลาย ว่าจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น เพราะอย่างน้อยก็มีประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ มาแล้ว 1 ปีเศษ ในช่วงปีพ.ศ.2548-2549 ก่อนจะมีการรัฐประหารไป

ตลอดระยะเวลา 1 เดือนกว่าที่ผ่านมาในตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ นายจาตุรนต์จับประเด็นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก เน้นที่เรื่องการพัฒนาเพื่อยกผลสัมฤทธิ์เด็กไทยให้ได้ ทั้งผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต (ONET) และผลการประเมินนานาชาติ หรือปีซ่า (PISA) เพราะเชื่อว่าหัวใจหลักการศึกษาไทยควรเน้นในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการศึกษาอื่นเป็นเรื่องรองที่ต้องขับเคลื่อนคู่ขนานกันไป และต้องส่งเสริมกัน อาทิ การพัฒนาและประเมินวิทยฐานะครู ที่จะเพิ่มสัดส่วนคะแนนสอบของเด็กในการพิจารณามากขึ้น การปฏิรูปการเรียนการสอน ปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูประบบวัดและประเมินผล เป็นต้น

รื้อแอดมิชชั่นไม่ง่ายต้องหารือทปอ.

เมื่อกระแสลมหลักเปลี่ยนไปเน้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน สิ่งกีดขวางอย่างการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือแอดมิชชั่น (Admissions) ที่เป็นอุปสรรคก็ต้องปรับเปลี่ยน ตามนโยบาย ขณะที่นายจาตุรนต์กล่าวยืนยันว่า จะเป็นเพียงการปรับ ไม่ใช่รื้อทั้งหมด แต่จะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ เพียงมีกรอบคิดว่า การสอบแอดมิชชั่น ต้องไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กรวยและเด็กจนขยายใหญ่ขึ้น เหตุเพราะเรื่องทุนทรัพย์ที่มีส่วนในการเข้าถึงสิทธิ์การสมัครสอบต่าง ๆ รวมถึงการสอบแอดมิชชั่นต้องสนับสนุนการเรียนในห้องเรียน การเรียนตามตำรา หลักสูตรที่ปฏิรูปมา เพื่อไม่ให้เด็กต้องอ่านตำรานอกหลักสูตรมากนัก

แต่ทั้งหมดก็ต้องหารือกับผู้มีอำนาจตัดสินใจ คือ กลุ่มมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐและในกำกับของรัฐจำนวน 27 แห่ง รวมถึงการสอบถามมหาวิทยาลัยกลุ่มอื่น ๆ องค์กร บุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็คงไม่มีอำนาจต่อรองเท่าทปอ. ที่หากจะชี้นำไปในทางใด ก็ต้องทำตาม

ฉะนั้นการจะรื้อระบบแอดมิชชั่นของนายจาตุรนต์คงไม่ง่าย หากทปอ.ไม่เอาด้วย ขณะที่กระแสก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ทปอ.จะแค่แบ่งรับแบ่งสู้วัดจากรายละเอียดการปรับ เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีมหาวิทยาลัยใดอยากเจ็บตัวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงหลังที่สามารถทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากการรับสมัครสอบตรง สุดท้ายทางออกอาจเป็นเพียงการปรับเล็ก ชนิดที่ว่าปรับเพียงตัวข้อสอบให้ออกครอบคลุมหลักสูตรก็เป็นได้

ระบบแอดมิชชั่นปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่

ที่ผ่านมามี รมว.ศึกษาธิการหลายคนต้องการรื้อระบบแอดมิชชั่นปัจจุบัน ให้เป็นไปตามนโยบายของตนเอง แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะต้องแพ้ภัยและถูกปรับออกไปก่อน แต่ในความเป็นจริงระบบแอดมิชชั่นก็ถูกสะท้อนออกมาตลอดว่า มีปัญหา ทั้งจากนักการศึกษา นักวิชาการหลายคน ได้แก่ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบัน มีการสอบหลายครั้งทั้งสอบตรง สอบตรงกลาง และสอบกลาง การสอบหลายครั้งทำให้เด็กที่มีความพร้อมได้เปรียบ เกิดปัญหาวิ่งรอกสอบ หากสอบได้ก็กันที่นั่งสอบ สุดท้ายก็สละสิทธิ์ ทำให้เด็กที่มีฐานะยากจน หรือมีความพร้อมน้อยกว่า สอบได้น้อยครั้งกว่า และสอบแล้วอันดับต่ำกว่าไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ดี การเปิดสอบของมหาวิทยาลัยที่ทำให้เด็กทิ้งห้องเรียน รวมถึงการเปิดโอกาสให้เด็กเข้าทดสอบหลายครั้งแล้วเลือกผลสอบครั้งที่ดีที่สุดไปแข่งขัน เป็นต้น

หรือการสะท้อนดังกล่าวจะหมายว่า ระบบแอดมิชชั่นที่ใช้อยู่ไม่ดีพอ เรื่องนี้ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า สำเร็จหรือล้มเหลว แต่สุดท้ายหากระบบแอดมิชชั่นถูกปรับใหม่ ก็จะถือว่าเป็นระบบแอดมิชชั่น รุ่นที่ 3 หลังจากลองผิดลองถูกมีมาแล้ว 2 รุ่น ซึ่งเปลี่ยนมาจากระบบเอนทรานซ์อีกครั้ง

พลิกประวัติศาสตร์จากเอนทรานซ์ถึงแอดมิชชั่น

หากนับย้อนกลับไปถึงการเริ่มการสอบเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2504 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เริ่มจัดสอบร่วมกัน โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงาน

ปีการศึกษา 2505 มหาวิทยาลัย 5 แห่ง ที่มีอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดสอบร่วมกัน แต่การสอบคัดเลือกรวมนี้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสละสิทธิ์ และการเพิ่มจำนวนที่ต้องสำรองที่นั่ง จากการที่ผู้สมัครสอบได้หลายมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนในขณะนั้นต้องเสียเวลาสอบหลายแห่งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปีการศึกษา 2509 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยต่าง  ๆ กลับไปใช้วิธีสอบแยก แต่การดำเนินการเกิดปัญหามาก มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไป เนื่องจากต้องมีการเรียกสอบสัมภาษณ์เพิ่มหลายรอบ

ปีการศึกษา 2510 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของสภาการศึกษาแห่งชาติ  ให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ กลับมาใช้วิธีสอบรวมอีก

เอนทรานซ์ยุคแรกทำให้เด็กไม่สนใจเรียน

ปีการศึกษา 2516 ทบวงมหาวิทยาลัยรับโอนงานสอบคัดเลือกจากสถานศึกษาแห่งชาติ ซึ่งแนวทางการคัดเลือกในช่วงนี้ ผู้สมัครมีสิทธิ์เลือกคณะหรือสถาบันการศึกษาได้ 6 อันดับ และเลือกวิชาสอบไปในคราวเดียวกัน หลังจากที่ระบบสอบคัดเลือกรวมดำเนินการได้ระยะหนึ่ง เกิดมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้น ดังนี้ 1.การคัดเลือกแบบเดิมมีผลทางลบ ต่อการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่จะไม่สนใจเรียนวิชา ที่ไม่ต้องใช้ในการสอบคัดเลือก เพราะเป้าหมายของการเรียน คือการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย หรือสาขาวิชาที่ต้องการผล คือนักเรียนที่เรียนดีได้มุ่งสอบเทียบ เพื่อให้ตนมีคุณสมบัติเทียบเท่าสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยเรียนไม่ครบตามชั้นปี ขณะที่ผู้ปกครองหรือนักเรียนอาจเห็นว่าประหยัดเงินและเวลา

ผลที่ตามมาคือ ผู้เรียนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาก่อนมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม และการจัดชั้นเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีปัญหา เพราะการคัดเลือก กลับได้นักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ ไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียน เนื่องจากมีการสอบเฉพาะวิชาสามัญ

ต่อมาปีการศึกษา 2542 ทบวงมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมวิชาการ ผู้แทนกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมเป็นอนุกรรมการได้เสนอรูปแบบการคัดเลือกระบบใหม่ต่อทบวงมหาวิทยาลัย และให้ใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงระบบการคัดเลือก มี 2 ประการ คือ 1.เพื่อให้มหาวิทยาลัย/สถาบันได้ผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถและความถนัดตรงกับสาขาวิชาที่เรียน และ2.เพื่อส่งเสริมให้การเรียนการการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นไปตามปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ในการคัดเลือกระบบใหม่ได้พิจารณาผู้สมัครจากองค์ประกอบ ดังนี้ ผลการเรียนตลอดหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือ GPAX ให้ค่าน้ำหนัก 10 เปอร์เซนต์ ส่วนผลการสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะ (หรือเรียกรวมว่า การสอบวัดความรู้) ให้ค่าน้ำหนัก 90 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการสอบวิชาเฉพาะและวิชาหลัก จัดปีละ 2 ครั้ง แล้วนำคะแนนครั้งที่มากมาคิดคำนวณจัดประมวลผลในการเรียงลำดับที่ของผู้สมัครแต่ละคน

อย่างไรก็ตาม ระบบเอนทรานซ์ที่มีการปรับปรุงครั้งนี้มีข้อดี คือ นักเรียนได้ทราบผลคะแนนสอบล่วงหน้าก่อนการเลือกคณะ ทำให้มีโอกาสเลือกได้ตรงกับความสามารถของตน แต่ก็มีจุดอ่อน คือ ทำให้นักเรียนมีภาระการสอบและเกิดความเครียดมากขึ้นจากเดิม เนื่องจากมีการสอบสองครั้ง ขณะที่โรงเรียนพยายามเร่งสอบให้จบก่อนการสอบเดือนตุลาคม เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมด้านเนื้อหามากที่สุด เป็นเหตุให้เกิดผลเสียต่อระบบการเรียนการสอนตามปกติ

เปลี่ยนเอนทรานซ์เป็นแอดมิชชั่น

ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2544 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เสนอให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาปรับปรุงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในระบบสอบรวม โดยขอให้เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นไป โดยยึดหลักการให้เพิ่มผลการเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกมากขึ้น และพิจารณาความสามารถของผู้สมัครจากผลการสอบจากแบบทดสอบวิชาหลักและ/หรือแบบทดสอบมาตรฐาน ความสามารถทางการเรียน ซึ่งจัดสอบจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้น

ซึ่งในการพิจารณาของ ทปอ.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ยึดหลักการแนวทางเพื่อกำหนดเป็นระบบกลางการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย มีสาระดังนี้ 1.ระบบใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนจากระบบสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Entrance Examination) เป็นระบบการรับเข้า (Admissions) โดยพิจารณาจากผลการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และต้องเป็นระบบที่มีความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

2.การพิจารณาผลการเรียนเพื่อประโยชน์ในการรับเข้าศึกษาในระบบอุดมศึกษาจะพิจารณา จากการวัดผลด้วยวิธีการและตามช่วงเวลาต่าง ๆ ที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ตามกระบวนการปฏิรูปการศึกษา หลีกเลี่ยงการสอบเพิ่มเติม หรือแม้หากมีการสอบเพิ่มเติมกำหนดให้ไม่เกิน 3 วิชา การปรับปรุงระบบการคัดเลือกได้ดำเนินการมาโดยลำดับ และได้บรรลุข้อยุติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2548 ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้ประกาศระบบการคัดเลือกสำหรับการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 โดยกำหนดองค์ประกอบ ดังนี้ GPAX 10 เปอร์เซนต์ GPA (กลุ่มสาระ) 20 เปอร์เซนต์ O-NET 35-70 เปอร์เซนต์ และA-NET และ/วิชาเฉพาะไม่เกิน 3 วิชา 0-35 เปอร์เซนต์

แอดมิชชั่นกลายพันธุ์สู่ระยะที่ 2 ที่ใช้ในปัจจุบัน

การคัดเลือกด้วยระบบแอดมิชชั่น ที่เริ่มเมื่อปีการศึกษา 2549 ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่า มีการให้ส่วนผลการเรียนมากเกินไป ซึ่งความจริงการสอบคัดเลือกระบบเอนทรานซ์ก็ดี การคัดเลือกด้วยระบบแอดมิชชั่นก็ดี ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด

            “การรับเข้าศึกษาด้วยระบบแอดมิชชั่นมีเป้าหมายว่า ถ้าดำเนินการได้เต็มรูปแบบ จะต้องถึงจุดที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณารับเข้า และประกาศเกณฑ์ดังกล่าวให้ทราบทั่วกัน นักเรียนหรือผู้ประสงค์จะสมัครเข้าศึกษาต่อ ณ สถาบันอุดมศึกษาแห่งใด จะต้องนำคะแนนผลการสอบที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติจัดสอบ เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน และต้องไม่เพิ่มภาระแก่นักเรียน โดยนักเรียนจะนำคะแนนไปยื่นสมัคร ณ หน่วยคัดเลือกกลาง ที่มีกลไกดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ในความยุติธรรมโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล เป็นผู้ทำหน้าที่คัดเลือกให้”

การปรับระบบการสอบคัดเลือกปีการศึกษา 2553 ทปอ.ได้เห็นชอบคือ ให้พิจารณานำผลการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและการสอบ Aptitude Test เป็นองค์ประกอบของการคัดเลือก ผลการเรียนประกอบด้วย GPAX และผลการสอบ O-NET ส่วนการสอบ Aptitude Test จะแทนที่การสอบ A-NET และ/วิชาเฉพาะ เนื่องจากหลักการของ Aptitude Test เป็นการทดสอบความถนัดทางการเรียนซึ่งไม่เน้นเนื้อหาวิชา จึงสามารถจัดสอบได้หลายครั้งในแต่ละปี

ส่วนองค์ประกอบการคัดเลือกฯ ปีการศึกษา 2553 มีดังนี้ GPAX 20 เปอร์เซนต์ O-NET (8 กลุ่มสาระ) 30 เปอร์เซนต์ GAT (General Aptitude Test) 10-50 เปอร์เซนต์ และPAT (Professional Aptitude Test) 0-40 เปอร์เซนต์

อย่างไรก็ตามล่าสุด รศ.น.พ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เตรียมเสนอให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ปรับปรุงระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทั้งระบบแอดมิชชั่นกลาง ระบบสอบตรงตามโควต้ามหาวิทยาลัย และระบบรับตรงผ่านเคลียร์ริ่งเฮาท์ของทปอ.ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิดเห็นในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

ขณะที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฬนฐานะประธานทปอ. ระบุว่า คิดว่าระบบแอดมิชชั่นที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ยังสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี แต่คงต้องดูรายละเอียดว่านายจาตุรนต์ต้องการให้ปรับอะไร และปรับมากน้อยแค่ไหน ตนไม่อยากให้ปรับในช่วงนี้จนกว่าจะรู้ข้อดีข้อเสียก่อน เพราะการปรับแต่ละครั้งกระทบถึงเด็ก และต้องประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี แต่ยอมรับว่าเรื่องสอบตรงยังเป็นปัญหาอยู่ และทปอ.กำลังแก้ไข โดยขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้กำหนดระยะเวลาการรับตรงมาอยู่ในช่วงเดือนมกราคม โดยขอให้เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก campus.sanook.com , Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: