ชาวบ้านทุ่งลุยลายประชุมร่วมอปท.-นายอำเภอ-ป่าไม้ ถกปัญหาแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทับที่ทำกินชาวบ้าน

สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 23 ม.ค. 2556


 

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้าน และตัวแทนสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ที่อยู่ในพื้นที่ ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่า 40 คน ประชุม ร่วมกับนายไพศาล ศิลปะวัฒนานันท์ นายอำเภอคอนสาร และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาทิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งลุยลาย, ประธานสภาเทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย, ปลัดเทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ทับที่ทำกินชาวบ้าน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ผาผึ้ง ที่เริ่มประกาศเมื่อ ปี 2543 นั้น ยังไม่มีแนวเขตที่ชัดเจนแน่นอน ทั้งยังสร้างปัญหาด้วยการทับที่กินทำกินเดิมของชาวบ้าน จึงได้ร่วมตกลงให้มีการดำเนินการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องต่อไป

 

นายเหลือ ซึมดร สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และประธานโฉนดชุมชนตำบลทุ่งลุยลาย กล่าวถึงกระทบและปัญหาว่า จากการดำเนินการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ที่ได้มีนโยบายขยายเขตเพิ่มขึ้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิที่ดินทำกิน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน ที่เกิดจากการทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ป่าอนุรักษ์กับพื้นที่ที่ประชาชนมีการถือครองประโยชน์มาก่อนการประกาศเขตฯ ทำให้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกิน รวมทั้งถูกดำเนินคดีความ ทั้งหมู่ 1 หมู่ 2 และหมู่ 6 รวมแล้วกว่า 80 กว่าราย

 

 

 

 

           “การประชุมครั้งนี้ ต่อเนื่องมาจากการที่มีมติ ให้ยุติการตัดต้นยางพาราของชาวบ้าน รวมทั้งมาติดตามการดำเนินการ เพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขแนวเขตที่มีปัญหา โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ประธานสภาเทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย ทำหนังสือส่งถึงหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ให้พิจารณาการผ่อนผันการตัดต้นยางพารา และหาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ให้ถูกต้องร่วมกัน โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จึงประชุมในการติดตามผล” ประธานโฉนดชุมชนทุ่งลุยลายกล่าว

 

 

นายเหลือต่อว่า การประชุม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่เทศบาลตำบลทุ่งลุยลาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง เพื่อแลกเปลี่ยนหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีการตัดฟันต้นยางของชาวบ้าน สืบเนื่องจากวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 นายสุพจน์ พรมเอี่ยม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ แจ้งกับนายวานิช สุขันธ์ นายคำกอง ญาณไกล นายประยุร สวดสม และนางสง่า ฤทธิ์คุ้ม ให้รื้อถอน ตัดฟันต้นยาง จึงเจรจาไม่ให้ดำเนินการใด ๆ และให้ยุติการขับไล่ชาวบ้าน เนื่องจากอยู่ในช่วงที่รัฐบาลมีนโนบายเพื่อแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินให้ราษฎร และห้ามข่มขู่ คุกคาม และดำเนินคดีกับชาวบ้านเพิ่มเติม

 

ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ประชุมร่วมเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับนโยบายกับรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี และเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

 

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555 ชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ระหว่างภาครัฐกับประชาชน ขณะนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) เพื่อพิจารณากรอบวาระต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกินแล้ว

 

ด้าน นายสุพจน์ พรมเอี่ยม ตัวแทนเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ได้ร้องขอต่อที่ประชุมว่า ขอเลื่อนกำหนดวันที่จะร่วมเดินศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาแนวเขตฯ ออกไปก่อน เนื่องจากภายใน 2 -3 วันนี้ จะมีหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง คนใหม่ เข้ามาแทนคนเดิม จึงใคร่ขอวิงวอน เลื่อนกำหนดเพื่อให้ตนได้กลับไปรายงานให้หัวหน้าเขตฯ คนใหม่ให้รับทราบ เพื่อทำความเข้าใจก่อน แล้วค่อยกำหนดนัดวันกันอีกครั้ง

 

นายไพศาล นายอำเภอคอนสาร กล่าวถึงข้อสรุปว่า ปัญหามีความซับซ้อน และการประกาศเขตป่าฯ นั้นยังไม่มีความชัดเจน ดังที่ประชุมได้ร่วมแจ้ง จึงให้กำหนดวันนัดหมายเดินหาแนวเขตดังกล่าวใหม่ เพื่อหาข้อยุติ ให้ปัญหาได้รับการแก้ไขด้วยความถูกต้อง เป็นธรรมต่อไปในทุกภาคส่วน รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่บันทึกการประชุม เพื่อประสานต่อไปยังหน่วยที่รับผิดชอบให้มีการดำเนินการ และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดสำรวจแนวเขตฯ โดยให้ยึดเอาคณะกรรมการฯ ชุดเดิม สมัยนายอำเภอคอนสารคนเดิม เป็นการต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: