ชำแหละ'บัตรเครดิตชาวนา'4.1ล้านใบ ช่วยเข้าถึงแหล่งทุนหรือเพิ่มหนี้ให้ชาวนา

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 14 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2670 ครั้ง

โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร (The Credit Card for Farmer Project) หรือที่เรียกว่า บัตรเครดิตชาวนา ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เรียกคะแนนเสียงจากเกษตรได้เป็นกอบเป็นกำในการเลือกตั้งปี 2554 เป็นชุดนโยบายที่ควบคู่กับการจำนำข้าว ขาหนึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนา อีกขาหนึ่งคือการลดต้นทุนการผลิตโดยการสร้างช่องทางให้ชาวนาและเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ

รัฐบาลจับมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แบ่งแผนการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการทดลองนำร่องใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสระบุรี โดยการมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกรแก่ชาวนาที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่น้อยกว่า 5,000 ใบ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ผลพบว่า มีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ทดลองใช้บัตรทั้งสิ้น 5,522 ราย มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 7,272,704 บาท

ส่วนระยะที่ 2 ตั้งเป้าว่าจะส่งมอบบัตรสินเชื่อเกษตรกรให้ได้จำนวน 2 ล้านใบ แก่ชาวนาผู้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ติดตั้งระบบในสำนักงาน ธ.ก.ส.1,000 สาขา และมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 3,000 แห่ง ภายในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งหากดูจากผลลัพธ์จริงขณะนี้ ต้องเรียกว่าเกินเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าไปค่อนข้างมาก

บัตรเครดิตชาวนาทะลุเป้า 4.1 ล้านใบ แถมเพิ่มสิทธิประโยชน์

เพราะในเดือนกันยายนที่ผ่านมา โครงการบัตรเครดิตชาวนาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระยะ 2 สามารถแจกจ่ายบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปแล้ว 4,132,362  ล้านใบ ครอบคลุมเกษตรกรทุกกลุ่ม ภายใต้วงเงินอนุมัติ 6.32 หมื่นล้านบาท โดยมีบัตรที่นำมาใช้จ่ายจริงเป็นจำนวนเงิน 17,085 ล้านบาท มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 8,616 ร้านค้า มียอดคงค้างสินเชื่อ 12,000 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.6 ของสินเชื่อ ทั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าจะส่งมอบบัตรให้ได้ 4.5 ล้านใบ ขยายยอดใช้จ่ายเป็น 20,000 ล้านบาท และเพิ่มจำนวนร้านค้าในโครงการเป็น 15,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้

ยิ่งไปกว่านั้น สิทธิประโยชน์ของเกษตรกรผู้ถือบัตรสินเชื่อเกษตรกร ยังเพิ่มขึ้นจากตอนเริ่มต้นโครงการหลายประการ ช่วงแรกของโครงการ สิทธิประโยชน์จำกัดเฉพาะการซื้อปัจจัยการผลิต 3 ประเภทคือ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช โดย ธ.ก.ส. จะงดคิดดอกเบี้ย 30 วัน ขณะที่บริษัทเครือข่ายผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการ จะคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เป็นระยะเวลา 120 วัน เท่ากับเกษตรกรจะสามารถซื้อปัจจัยการผลิต โดยปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 5 เดือน สิทธิประโยชน์นี้ยังรวมถึงการซื้อน้ำมันผ่านบัตรในสถานีบริการของ ปตท. และบางจาก รวมวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อฤดูกาลผลิต เช่นกันทาง ธ.ก.ส. จะงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 30 วัน และลดราคาน้ำมันให้ลิตรละ 7 สตางค์ แต่ไม่เกิน 100 ลิตรต่อรายต่อฤดูกาลผลิต

ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการซื้ออาหารสัตว์ อุปกรณ์เครื่องใช้ทางการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือนด้วย รวมถึงการจัดทำกรมธรรม์ประกันชีวิตวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย และได้รับสิทธิการตรวจสุขภาพประจำปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการกระตุ้นให้เกษตรกรชำระหนี้ภายในกำหนด ด้วยการจัดรายการชิงโชคมูลค่า 10 ล้านบาท และถ้าชาวนานำเงินที่ได้จากการจำนำข้าวมาหักชำระหนี้ ธ.ก.ส. ก็จะลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 5.5

เกษตรกรเป็นหนี้นอกระบบ 100,000 บาท บัตรเครดิตชาวนาช่วยเข้าถึงแหล่งทุน

การเข้าถึงแหล่งทุนเป็นปัญหาเรื้อรังของไทยมาเนิ่นนาน ยิ่งเป็นเกษตรกรด้วยแล้ว ปัญหานี้ยิ่งหนักหน่วงกว่าอาชีพอื่น การศึกษาของศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคมการจัดการและธุรกิจ ในปี 2554 พบว่า ตัวอย่างที่ทำการสำรวจถึงร้อยละ 85.50 ไม่มีบัตรเครดิต ส่วนผู้ที่มีบัตรเครดิตมีเพียงร้อยละ 14.50 เท่านั้น แต่ในจำนวนนี้ กลุ่มอาชีพที่ถือครองบัตรเครดิตน้อยสุด คือผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรและประมง คิดเป็นร้อยละ 2.40 ของผู้ที่มีบัตรเครดิต และยังพบว่าในกลุ่มอาชีพนี้มีเพียงร้อยละ 19.10 เท่านั้นที่มีเงินออม ที่เหลืออีกร้อยละ 80.90 ไม่มีเงินออมเลย

การสำรวจที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปี 2555 พบว่า ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากไม่มีบัตรเครดิต แต่กลับมีหนี้เฉลี่ยโดยรวมรายละ 103,047.06 บาท ซึ่งมีทั้งหนี้นอกระบบและในระบบ โดยวงเงินหนี้นอกระบบที่มีการกู้มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 40,001-50,000 บาท, 30,001-40,000 บาท, 20,001-30,000 บาท, 50,001-75,000 บาท และ 10,001-20,000 บาทตามลำดับ โดยวงเงินกู้ 40,001-50,000 บาท มีเกษตรกรที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เลยสูงถึงร้อยละ 61.4 ขณะที่วงเงินกู้ 50,001-75,000 บาท ตัวเลขเกษตรกรที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เลยพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 81.3

ขณะที่เงินกู้ในระบบ วงเงินที่มีการกู้มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 75,001-100,000 บาท, 50,001-75,000 บาท, 40,001-50,000 บาท, มากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป และ 20,001-30,000 บาท ตามลำดับ โดยวงเงินที่มีเกษตรกรที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เลยสูงสุด คือวงเงิน 50,001-75,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.9

ตัวเลขข้างต้นน่าจะสะท้อนภาวะปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร จึงเท่ากับตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ไม่มากก็น้อย แต่คงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป และแน่นอนว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลพวงอื่นๆ ตามมา

จำนำข้าวเพิ่มรายได้ แต่หนี้ยังสูง

ช่วงที่ผ่านมา ภาระหนี้สินครัวเรือนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจับตาดู ล่าสุด ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 สูงขึ้นถึงร้อยละ 79 จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 77.5 แม้ว่าทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะออกมาระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นในระดับดังกล่าวยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลนัก เพราะเป็นการวิเคราะห์ตามบทวิเคราะห์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจหรือโออีซีดี (OECD) ที่ระบุว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ระดับร้อยละ 85 จึงจะเริ่มส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ

ถึงกระนั้น คงเห็นได้ว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนร้อยละ 79 เป็นตัวเลขที่ขยับเข้าใกล้เพดานที่โออีซีดีระบุไว้ เมื่อเชื่อมโยงกับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรย่อมหลีกเลี่ยงความหวั่นวิตกที่ว่าจะทำให้หนี้สินของชาวนาเพิ่มขึ้นไม่พ้น การสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า แม้ชาวนากว่าครึ่งยอมรับว่า ได้ประโยชน์จากนโยบายรับจำนำข้าว เพราะทำให้มีทรัพย์สินโดยรวมเพิ่มขึ้น ทั้งบ้าน รถยนต์ จักรยานยนต์ มีที่นาของตนเอง มีเงินจับจ่ายใช้สอย มีเงินออม และหนี้สินเดิมลดลง แต่นโยบายรับจำนำข้าวก็ทำให้หนี้ครัวเรือนชาวนายังคงสูงอยู่เช่นกัน โดยชาวนาร้อยละ 97.4 ระบุว่ายังมีหนี้สิน โดยร้อยละ 67.1 เป็นหนี้เกิน 100,000 บาทขึ้นไป เฉลี่ยแล้วมีหนี้ต่อครัวเรือน 2.64 แสนบาท เป็นหนี้เพื่อการลงทุนและการใช้จ่ายที่แพงขึ้นเป็นหลัก

ประเด็นการเพิ่มภาระหนี้ของชาวนา ด้านทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า บัตรเครดิตชาวนาจะไม่สร้างภาระหนี้สินเพิ่มให้เกษตรกร และจะไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการระบุขอบเขตการใช้จ่ายผ่านบัตรไว้อย่างชัดเจน ตรงกันข้าม จะยิ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและระบบเงินทุนหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก และยังตอกย้ำถึงความซื่อสัตย์ของชาวนาต่อการชำระหนี้สินอีกด้วย

ขณะที่ ลักษณะ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. อธิบายว่า การให้เงินกู้แก่เกษตรกรหรือชาวนาจะคิดจากราคาผลิต โดยให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของราคาผลผลิต ถ้าชาวนามีที่ดิน 15 ไร่ เมื่อแบ่งผลผลิตสำหรับกินเอง และทำเมล็ดพันธุ์จะเหลือผลผลิตข้าว 10 ตัน เท่ากับมีรายได้ 150,000 บาท ตามราคารับจำนำ วงเงินกู้สูงสุดที่ ธ.ก.ส. จะปล่อยกู้เท่ากับ 90,000 บาท ทั้งยังมีการแบ่งวงเงินสินเชื่อโดยคำนวณว่า ชาวนาน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าวอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ ดังนั้น เงิน 30,000 บาท จาก 90,000 บาท จะถูกแบ่งวงเงินเข้าสู่บัตรที่ชาวนาผู้นั้นเป็นคนถือ

หวั่นซ้ำเติมปัญหาหนี้ หากไร้ระบบติดตามตรวจสอบ

วงเงินกู้ของบัตรเครดิตชาวนาแบ่งเป็น 6 ระดับ คือ

1.ชาวนาที่มีพื้นที่ปลูกข้าวน้อยกว่า 10 ไร่ อนุมัติ 5,000 บาท 

2.10-20 ไร่ อนุมัติ 10,000 บาท

3.30-40 ไร่ อนุมัติ 30,000 บาท

4.40-50 ไร่ อนุมัติ 40,000 บาท

5.50 ไร่ อนุมัติ 50,000 บาท

เป็นการยากที่จะคำนวณหาตัวเลขยอดหนี้ทั้งหมด หากชาวนาที่มีบัตรทุกคนใช้เงินเต็มวงเงินของตน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ยอดเงินที่สามารถกู้ได้ของชาวนาแต่ละคนแตกต่างกัน ตามข้อกำหนดขั้นต้น เช่น จำนวนการถือครองที่ดิน ผลผลิตต่อไร่ เป็นต้น แต่ยอดเงินที่ได้รับการอนุมัติ 6.32 หมื่นล้านบาท เป็นการคำนวณจากการเฉลี่ยว่า บัตร 1 ใบมียอดการใช้ประมาณ 15,000 บาท

หากชาวนาในแต่ละระดับวงเงินกู้ มียอดหนี้เต็มวงเงิน เช่น 50,000 บาท มีระยะเวลาปลอดหนี้ 5 เดือน การปลูกข้าวใช้เวลาเฉลี่ย 3 เดือน ถ้าชาวนาได้รับเงินจากการจำนำข้าวภายในเวลา 2 เดือนและนำเงินไปชำระหนี้ก็จะไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ย แต่หากเลยเวลาชำระหนี้ ชาวนาก็จะมีภาระดอกเบี้ยประมาณ 3,500 บาท แต่ต้องไม่ลืมว่า โครงการระยะ 2 มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมจากเดิม อย่างการใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ขอบเขตการใช้บัตรถ่างกว้างขึ้น มิได้กล่าวว่า เกษตรกรทุกคนจะใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย แต่หากไม่มีระบบติดตามตรวจสอบที่ดีพอ ก็มีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรบางส่วนอาจใช้บัตรผิดวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลตั้งใจให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าจะมีเพดานวงเงินกู้กำกับอยู่ก็ตาม

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า ชาวนาแต่ละคนใช่ว่าจะมีเจ้าหนี้ในระบบเป็น ธ.ก.ส. เพียงรายเดียว แต่อาจมีหนี้นอกระบบควบคู่ไปด้วย ดังตัวเลขของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ข้างต้น การเพิ่มช่องทางเข้าถึงเงินกู้ จึงต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กับการระบบกำกับตรวจสอบและการรักษาวินัยทางการเงิน เพราะหนี้เพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่เพียงพอ ความวิตกในเรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีมูลเสียทีเดียว

รัฐต้องคุมต้นทุนการผลิต แค่บัตรเครดิตชาวนาไม่พอ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่รัฐบาลและลักษณะ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวเกี่ยวกับบัตรเครดิตชาวนาอาจเป็นการแก้ปัญหาของชาวนาและถูกเพียงครึ่งเดียว การพยายามช่วยเหลือให้ชาวนาเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบและมีดอกเบี้ยต่ำ ถือเป็นนโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ก็ดังที่ศูนย์ข่าว TCIJ เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ แม้จะเป็นเพียงตัวเลขสมมติ แต่การคำนวณต้นทุนการปลูกข้าวของกรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ต้นทุนการผลิตต่อไร่ในฤดูการผลิต 2551/2552 เท่ากับ 2,954.63 บาท หากคิดเป็นต้นทุนต่อตันจะเท่ากับ 7,188.88 บาท ขณะที่วิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ต้นทุนต่อไร่ของชาวนาในปี พ.ศ. นี้ ตกประมาณ 6,000 บาท ถ้าคิดต่อตันจะประมาณ 9,000 บาท โดยต้นทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามราคาข้าวที่สูงขึ้น ทำให้ส่วนต่างที่ชาวนาได้ไม่มากเท่าที่คิด อีกทั้งยังเป็นที่รับรู้กันดีว่า ชาวนามิได้รับเงิน 15,000 บาทเต็มจำนวน แต่ต้องถูกหักค่าความชื้น ทำให้รับเงินจริงอยู่ที่ 12,000-13,000 บาทต่อตัน

(อ่านข่าวประกอบ ‘ชาวนาโอดต้นทุนข้าวทะยาน 2 เท่าใน 5 ปี รับซื้อขยับ‘เมล็ดพันธุ์-ปุ๋ย-ยา’ขยับตาม’ ได้ที่http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=2771)

ผลการสำรวจที่น่าสนใจประการหนึ่งของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า มีชาวนาถึงร้อยละ 21.0 ที่เห็นว่า รัฐบาลสามารถเลิกนโยบายจำนำข้าวได้เมื่อต้นทุนการผลิตต่ำลง

หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กันไป ชาวนาและเกษตรกรอื่น ๆ จะได้รับจากผลประโยชน์จากบัตรสินเชื่อเกษตรกรไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่คิด การยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาจะยังคงเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อม ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้บวกสมการปัญหาการถือครองที่ดินอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ปัญหาชาวนาไทยยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีก

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: