กำเนิด'อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่' อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย แรงผลักของ‘หมอบุญส่ง เลขะกุล’

อำนวย อินทรักษ์ 12 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3203 ครั้ง

การล่าสัตว์ป่ามีมากขึ้น ฆ่าได้มากขึ้น เร็วขึ้น เพราะล่าอย่างง่าย ๆ ยืนบนท้ายรถจี๊ปใช้ไฟส่อง ไล่ล่ายิงเอาโดยไม่ต้องใช้กำลังแรงกาย ความอดทนเหน็ดเหนื่อย ความรู้ทักษะ หรือความพยายามอะไรใด ๆ

 

เป็นนวัตกรรมใหม่ กระแสใหม่ เทรนด์ใหม่ของชนชั้นนำในสังคม ที่ออกจะเอิกเกริกและเมามัน ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ก่อนที่จะมีอุทยานแห่งชาติขึ้นมาครั้งแรกในประเทศไทยไม่นานนัก

 

เอ็นจีโอซึ่งเป็นชนชั้นนำในสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ชื่นชอบการเข้าป่าเป็นชีวิตจิตใจ เพราะรักป่าและชอบกีฬาล่าสัตว์แบบฝรั่ง ได้ก่อตั้งสมาคมคนคอเดียวกันขึ้นมาในชื่อ “นิยมไพรสมาคม” มีนายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล เป็นเลขาฯ ตลอดกาล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

งานของนิยมไพรสมาคม ได้เฝ้าเพียรชี้โทษของมหกรรมการทำลายธรรมชาตินั้นอย่างไม่ยั้งมือ และรณรงค์ให้หยุดการทำลายป่า หยุดล่าสัตว์แบบล้างผลาญกันเสียที พร้อมกับเรียกร้องให้มีการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และจัดการป่าแบบอุทยานชาติขึ้นมาในประเทศไทย

 

คุณพี่ธนพล สาระนาค บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน กำเนิดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตอนหนึ่งว่า

 

 

 

“...๒๕ มีนาคม ๒๕๐๑ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เลขานุการนิยมไพรสมาคม ได้มีหนังสือถึงกระทรวงเกษตร ขอให้สงวนป่าเทือกเขา ๖ แห่ง ได้แก่ ๑. เทือกเขาสลอบ จ.กาญจนบุรี ๒. เทือกเขาใหญ่ จ.นครนายก สระบุรี นครราชสีมา และปราจีนบุรี ๓. เทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ๔. ทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก ๕. เทือกเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี และ ๖.เทือกเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นป่าสงวน แล้วจึงให้ประกาศเป็นวนอุทยานของชาติภายหลัง...”

และ

 

 

 

 

          “...พ.ศ. ๒๕๐๑ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ไปพักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด...กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว จอมพล สฤษดิ์ฯ พร้อมกับท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ได้เดินทางไปพักผ่อนยังรัฐฟลอลิดา ระหว่างทางได้แวะพักปิกนิก ณ อุทยานริมทางบลูสตาร์เมโมเรียลไฮเวย์...รัฐจอร์เจีย และศึกษากิจการท่องเที่ยวในสหรัฐฯ ด้วยความสนใจ...

 

          ...หลังจากรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์...ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ ๑๑ ...ได้มีบัญชาการให้กรมป่าไม้ หาพื้นที่ป่าที่เหมาะสม จัดตั้งเป็นธรรมชาติอุทยานตามแบบอย่างในสหรัฐอเมริกา...

 

...๑๙ มีนาคม ๒๕๐๒ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้ลงบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน มีความสำคัญคือ

 

          ประเทศไทยควรจัดตั้งวนอุทยานของชาติขึ้น เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เป็นที่สำหรับชมและศึกษาธรรมชาติ และเป็นการรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร สำหรับให้น้ำกินน้ำใช้แก่บ้านเมือง ที่อยู่ใกล้เคียงในฤดูแล้ง ให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี

 

          ...๕ ตุลาคม ๒๕๐๒ คณะกรรมการนิยมไพรสมาคมเข้าพบ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อรับทราบนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการคุ้มครองธรรมชาติ การจัดตั้งวนอุทยานของชาติ...และเสนอรัฐบาลพิจารณา ให้ยึดหลักการจัดตั้งวนอุทยานของชาติของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก...

 

 

ในปี ๒๕๐๒ นั้น ไอยูซีเอ็น ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานแห่งชาติมาช่วยเหลือรัฐบาล นิยมไพรสมาคม และองค์กรอื่น ๆ ในการจัดตั้งระบบอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย โดยแนะนำ และวางแนวทางดำเนินงาน คือ ดร. ยอช ซี. รูเล่ นักธรรมชาติวิทยา ซึ่งเคยปฏิบัติงานในอุทยานแห่งชาติหลายแห่งของสหรัฐอเมริกา...สำรวจเขาใหญ่ มีคุณหมอบุญส่งร่วมอยู่ด้วย ดร. รูเล่ ได้บันทึกการไปเยือนเขาใหญ่ไว้ใน “รายงานการให้คำแนะนำ เกี่ยวกับระบบอุทยานแห่งชาติ สำหรับประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๓”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มีสาระสำคัญข้อแรก คือ

 

“...ข้าพเจ้าขอแนะนำอย่างแน่วแน่ว่า การใช้เขาใหญ่สำหรับจุดประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา และความบันดาลใจ ควรจะมีความสำคัญ และได้รับการสนับสนุนในทุกวิถีทาง...

 

            ต่อมา

 

...๑ มกราคม ๒๕๐๓ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้เขียนบทความ พูดถึงผลดีของการจัดตั้งอุทยาน และกระตุ้นเรื่องการอนุรักษ์

 

วันหนึ่ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจราชการที่เขาใหญ่ครั้งแรกโดยเฮลิคอปเตอร์...

 

          ...๖ กันยายน ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้ง คณะกรรมการพัฒนาเขาใหญ่...  

          ...๒๖ มกราคม ๒๕๐๔ จัดตั้งศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ และในปีนั้น กรมทางหลวงได้ก่อสร้างถนน เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้สร้างที่พักชั่วคราว เพื่อจัดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ...

 

 

 

...๒๒ กันยายน ๒๕๐๔ มี พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ...เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น พันธุ์ไม้ของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า และภูเขา ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติ มิให้ถูกทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่รัฐและประชาชนสืบไป...

 

          ...๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประพาสเขาใหญ่ ถึงบริเวณ..ริมลำตะคอง ฝั่งตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่... มีนายดุสิต พานิชพัฒน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้...และเจ้าหน้าที่หลายท่านเฝ้ารับเสด็จตรงหน้าสำนักงานชั่วคราวของหน่วยธรรมชาติอุทยานเขาใหญ่ ขณะนั้นฝนตกปรอยๆ...

 

          ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ เวลา ๑๑.๓๐ น. คณะกรรมการพัฒนาเขาใหญ่ ได้ประกอบพิธีเปิด “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” และทางหลวงแผ่นดินสายเขาใหญ่-ปากช่อง ชื่อ “ถนนธนะรัชต์...”

 

 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงได้กำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในประเทศไทย ตามแนวทางจากอเมริกา ซึ่งต่างไปจากการจัดการป่าแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะการจัดป่าของประเทศไทยในขณะนั้น ยังเป็นแบบเดิม ๆ อยู่ มีอังกฤษเป็นต้นแบบ คือมีป่าเพื่อทำไม้

 

ในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตนักศึกษาป่าไม้โดยตรง ก็ยังไม่มีวิชาการจัดการอุทยานแห่งชาติ และกรมป่าไม้ก็เพิ่งจะส่งข้าราชการไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาพร้อม ๆ กับการจัดตั้งอุทยานฯ นั้นเอง

 

การจัดการป่าแบบอุทยานแห่งชาตินั้น มุ่งสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งระบบ ด้วยการรักษาสมดุลธรรมชาติ พร้อมกับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และชื่นชมหรือศึกษาธรรมชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์ โดยทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เราจึงเหลือป่าใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ที่ชื่ออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีพืชพรรณไม้ใหญ่น้อยมากกว่าห้าพันชนิด มีสัตว์ป่านานาอาศัยอยู่นับชนิดไม่ถ้วน เป็นแหล่งต้นน้ำ ที่ทยอยให้น้ำตลอดทั้งปี ถึงสี่สาย เป็นแหล่งสร้างปุ๋ยอินทรี แก่พื้นที่เพาะปลูกรอบเขา และไหลลงไปสร้างความสมบูรณ์ให้อ่าวไทย แต่ละวันเดือนปีมีจำนวนมากมายมหาศาล โดยไม่เคยคิดคำนวณ

 

เป็นแหล่งสร้างอากาศ หรือลมหายใจ พร้อมกับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อากาศพิษเอาไว้ ไม่ให้ฟุ้งกระจาย

 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งช่วยลดโลกร้อนดีที่สุดของไทยและของโลก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: