เปิดผลPISA2012ชี้ชัดการศึกษาไทยดีขึ้น แต้มคะแนนขยับ-ไม่ได้แย่ขั้นบ๊วยอาเซียน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 23 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 6142 ครั้ง

ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งประกาศเป็นนโยบายการศึกษา ที่ต้องทำให้ได้ภายในปี พ.ศ.2558 เพื่อรับการเปิดประชาคมอาเซียน คือ ให้ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย หรือผลการทดสอบ PISA ของไทย อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น จากปัจจุบันการทดสอบ PISA ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในปี ค.ศ.2009 พบว่าเด็กไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบดังกล่าว

การยกระดับผลสัมฤทธิ์การทดสอบ PISA จึงเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทย เพื่อให้การศึกษาไทยได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นในเวทีระดับโลก แต่จะกำหนดให้การศึกษาไทยอยู่ในอันดับเท่าใดนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะต้องรอให้ผลการสอบ PISA ค.ศ.2012 ประกาศผลอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2556 ที่จะถึงนี้

เปิดผลสอบ PISA 2012 ของไทย

ก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วโลกในปลายปีนี้ ศูนย์ข่าว TCIJ ตรวจสอบผลการทดสอบระดับนานาชาติ PISA ครั้งล่าสุดปี ค.ศ.2012 ที่ทั่วโลกใช้เป็นมาตรฐานหรือเกณฑ์วัดคุณภาพทางการศึกษาของเด็กนักเรียน พบว่า วิทยาศาสตร์ จาก 425 ขึ้น 30 กว่าแต้ม, คณิตศาสตร์ จาก 419 ขึ้น 8 แต้ม และการอ่าน จาก 421 ขึ้น 20 แต้ม ซึ่งอาจสรุปได้ว่า ผลสอบ PISA 2012 คะแนนสูงขึ้นกว่าปี 2009 อย่างมีพัฒนาการ ขณะที่เป้าหมาย PISA 2015 ของ ศธ.คือ ให้คะแนนแตะที่ค่าเฉลี่ย 500 แต้มให้ได้ และ PISA 2021 ตั้งเป้าจะติด 1 ใน 10 ของโลกให้ได้

ซึ่งข้อมูลคะแนนสอบ PISA 2012 ยืนยันชัดเจนแล้วว่า การศึกษาไทยกำลังดีขึ้น สวนทางกับผลการจัดอันดับของ “World Economic Forum-WEF” ในรายงาน “The Global Competitiveness Report 2013-2014” ต่อระบบการศึกษาไทย ที่ชี้ว่า การศึกษาไทยนับตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ถึงมหาวิทยาลัย มีคุณภาพต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา โดยจัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ที่ 8 ของอาเซียน

การทดสอบ PISA ทำอย่างไร

PISA คือ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student  Assessment  : PISA) เป็นโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development  : OECD) มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจว่า ระบบการศึกษาของประเทศได้เตรียมเยาวชนของชาติ ให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนวัย 15 ปี หรือชั้น ม.2 และม.3 ที่จะใช้ความรู้และทักษะเพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริง มากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน โดย PISA ทดสอบ 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สอบทุก ๆ 3 ปี

การทดสอบ PISA จะสุ่มสอบนักเรียนจากทุกสังกัด ซึ่งในแต่ละรุ่นปี ที่มีนักเรียนทั่วประเทศ 800,000-900,000 คน จะมีนักเรียน 5,000-6,000 คน ต้องเข้าสอบ ขณะที่หลักสำคัญของการทดสอบ PISA คือ การประเมินการรู้เรื่อง (Literacy) ทั้งการรู้เรื่องการอ่าน (Reading literacy) ซึ่งมีความหมายมากกว่าการอ่านหนังสือและเข้าใจความหมายของคำ แต่ยังรวมไปถึงความสามารถติดตามความหมาย การคิดย้อนกลับ และสะท้อนว่า เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการเขียน เข้าใจว่าเขียนสำหรับให้ใครอ่าน ผู้เขียนต้องการส่งข่าวสารให้ใคร และให้รู้ว่าผู้เขียนใช้ภาษาอย่างไรในการนำข่าวสารไปสู่ผู้อ่าน รวมถึงความสามารถในการตีความจากโครงสร้างของเรื่องหรือจากลักษณะเด่นของการเขียน เช่น การให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา เปรียบเทียบ ชมเชย หรือประชดประชัน โดยการรู้เรื่องด้านการอ่านนี้ จะสะท้อนถึงความรู้และศักยภาพที่จะมีส่วนในการสร้างสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematics literacy) ซึ่งมีความหมายมากกว่าการคิดเลขและการทำโจทย์ การรู้จักรูปคณิตศาสตร์ หรือการจัดการข้อมูล แต่หมายรวมถึงรู้ขอบเขตและข้อจำกัดของแนวคิดคณิตศาสตร์ สามารถติดตามและประเมินข้อโต้แย้งเชิงคณิตศาสตร์ เสนอปัญหาเชิงคณิตศาสตร์ เลือกวิธีการนำเสนอสถานการณ์เชิงคณิตศาสตร์ และสามารถตัดสินปัญหาบนพื้นฐานของคณิตศาสตร์ เพื่อแสดงว่าเป็นประชากรที่มีความคิดสร้างสรรค์และรอบคอบ

และการรู้วิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ตามความหมายของการทดสอบ PISA หมายถึง การรู้กระบวนการ (Process) การรู้แนวคิดและสาระเนื้อหา (Concepts and Content) และรู้จักการใช้ความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อที่จะสามารถเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม ในสื่อมวลชน และตัดสินใจประเด็นของโลกที่เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สำหรับแบบทดสอบ PISA เป็นข้อสอบที่นักเรียนต้องเขียนตอบ ข้อสอบไม่ถามเนื้อหาสาระตามหลักสูตร แต่จะให้ข้อความที่นักเรียนต้องอ่าน คิดวิเคราะห์ แล้วตอบคำถาม บางข้อจะมีคำตอบเป็นตัวเลือก แต่คำถามส่วนใหญ่เป็นคำถามเปิด นักเรียนต้องสะท้อนความคิดของตนเองออกมาเป็นคำตอบ มากกว่าการพูดซ้ำในสิ่งที่ได้อ่านหรือเพียงแต่ถ่ายเทเอาสิ่งที่เคยรับรู้ออกมาเท่านั้น การให้คะแนนคำถามประเภทนี้ จะขึ้นกับการใช้เหตุผลของการตอบ คำตอบที่ไม่เหมือนกันอาจได้คะแนนเต็มเหมือนกันได้ ถ้าหากเหตุผลที่ให้สอดคล้องหรือให้คำอธิบายได้สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ดี การทดสอบดังกล่าว คือกรอบความคิดใหม่ของการวัดและประเมินผลที่เกิดจากการศึกษา ทั้งในแนวคิดด้านผลที่ต้องการใช้เป็นตัวบอกประสิทธิภาพของการศึกษา ทั้งวิธีการเขียนและตรวจข้อสอบที่ไม่เหมือนวิธีปฏิบัติอยู่โดยทั่วไปที่ข้อสอบต้องมีคำตอบเดียว ขอเพียงท่องจำเนื้อหาวิชามาตอบก็เพียงพอแล้ว

ตัวอย่างแบบทดสอบ PISA

ศูนย์ข่าว TCIJ ขอนำตัวอย่างแบบทดสอบ PISA ของนักเรียนชั้นม.2 และม.3 มาให้ทดลองทำ โดยการอนุญาตเผยแพร่จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

จากการทดลองทำข้อสอบนี้ จะพบความไม่คุ้นชินในข้อสอบเลย เพราะไม่มีการสอบมาตรฐานนี้ในโรงเรียน ซึ่งพบเป็นจุดอ่อนของนักเรียนไทยในการทดสอบ PISA ที่ผ่านมา ว่า เด็กไทยไม่เคยชินกับข้อสอบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะหากเป็นการเขียนตอบหรือให้คำอธิบายยาว ๆ และการที่ต้องตีความ คิด วิเคราะห์ และสะท้อนเอาความคิดหรือปฏิกิริยาของตน ที่ตอบสนองต่อข้อความที่ได้อ่าน หรือข้อมูลที่ให้มา สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่เคยปรากฏในการสอบของประเทศไทย จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมอันดับ PISA ของไทยอยู่ที่ 50 จาก 65 ประเทศ

ผลทดสอบ PISA ที่ผ่านมา

จากกราฟจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา เด็กไทยทำคะแนน PISA ได้น้อยลงมาเป็นลำดับ ขณะที่ปี ค.ศ.2009 กราฟเริ่มจะปรับทิศหันขึ้นเล็กน้อย โดยวิทยาศาสตร์ อยู่ที่ 425 คณิตศาสตร์ อยู่ที่ 419 และการอ่าน อยู่ที่ 421 

มีข้อสังเกตว่าประเทศที่อ่านภาษาจีนออก จะได้คะแนนการอ่านดี อาทิ ฮ่องกง-จีน เซียงไฮ้-จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แต่ไทยกับอินโดนีเซียได้คะแนนต่ำ อาจเพราะไทยไม่ได้เน้นนักเรียนให้ฝึกอ่าน ไม่เหมือนกับหลายประเทศที่เปลี่ยนไปเน้นการฝึกอ่านตั้งแต่เช้า จนคะแนนการอ่านกระเตื้องขึ้น

ข้อแนะนำพิชิต PISA

การพิชิตข้อสอบ PISA นอกจากความเก่งแล้วต้องมีเทคนิคชั้นเชิงด้วย ซึ่ง นายปรีชาญ เดชศรี รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ให้ข้อแนะนำกับเด็กที่ต้องเข้าสอบ PISA 2015 ว่า มีข้อสังเกตจากการตรวจข้อสอบนานาชาติพบว่า ในข้อสอบแต่ละชุดจะมีโจทย์ที่ง่ายและยากปน ๆ กันไป ในสัดส่วนที่เท่ากันและคละชุด กรณีที่เด็กทำไม่ได้แล้วข้ามไป ก็จะนับคะแนนแบบหนึ่ง แต่หากมีข้อใดที่เด็กเขียนบ่นมา ระบบจะถือว่าเด็กคนนั้นทำไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อหมดเวลาแล้วหยุด ข้อสอบที่เหลือจะถือว่าทำไม่ถึง แต่หากหมดเวลาแล้วไม่ยอมหยุด กากบาทไปเรื่อยจนครบ จะถือว่าทำไม่ได้ ฉะนั้นรูปแบบการทำข้อสอบจะมีการตีความหลายแบบ

 

            “เด็กไทยมักมีนิสัยเวลาสอบ ชอบกากบาทไปเรื่อยจนครบเผื่อจะฟลุค แต่จริง ๆ แล้วข้อสอบนานาชาติเหล่านี้มีโอกาสน้อยมากที่จะฟลุค ทำให้เด็กไทยมักไม่ได้คะแนน ฉะนั้นมีคำแนะนำสำหรับเด็กที่อาจถูกสุ่มให้เข้าสอบว่า หากทำไม่ได้ให้ผ่าน ทำไม่เสร็จหยุด หมดเวลาทำไม่เสร็จอย่าทำต่อ ทั้งนี้ พบว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะลนลานข้อสอบจนรีบ ๆ ทำ ฉะนั้นแนะนำว่าค่อย ๆ ทำและตั้งใจอ่านโจทย์ช้า ๆ เพราะจำนวนข้อสอบเทียบกับเวลาถือว่าเหลือเฟือ” นายปรีชาญ กล่าว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: