คนทวาย'บุกร้องกก.สิทธิ์-แฉไทย ท่าเรือ-นิคมอุตฯกระทบคนนับหมื่น ใหญ่กว่ามาบตาพุด-ไม่ทำอีไอเอ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 8 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2512 ครั้ง

 

 

ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชาวบ้านพื้นที่โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในนามสมาคมพัฒนาทวาย (Dewei Development  Association : DDA) ประมาณ 20 คน เข้ายื่นหนังสือกับ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศพม่า และให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หนังสือจากสมาคมพัฒนาทวาย ระบุถึงความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่กำลังเกิดขึ้นในแคว้นตะนาวศรี และหวังว่าทางคณะกรรมการสิทธิของไทย จะมีมาตรการในการส่งเสริมให้เกิดสิทธิมนุษยชนในมาตรฐานสากลต่อโครงการนี้

 

ปัจจุบัน โครงการนี้ได้กลายมาเป็นโครงการระหว่างรัฐต่อรัฐ คือรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ภายใต้บันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 จากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2551 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอเอ กับการท่าเรือพม่า เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นผู้ลงทุนหลัก

 

โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ท่าเรือน้ำลึก โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานอื่น ๆ รวมถึงโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำเพื่อใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และการสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หนังสือจากสมาคมพัฒนาทวาย ระบุด้วยว่า โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสิทธิมนุษยชนของประชาชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ใน 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ 204.5 ตารางกิโลเมตรของท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายในเขตนาบูเล่ ซึ่งห่างจากเมืองทวายไปทางเหนือ 20 กิโลเมตร มีประชากร 32,274 คน จาก 3,977 ครัวเรือน ใน 21 หมู่บ้าน

 

2.หมู่บ้านกาโลนท่า ห่างจากเมืองทวายไปทางเหนือ 36 กิโลเมตร ซึ่งมีแผนจะสร้างเขื่อน ที่แม่น้ำตะลายยาร์ มีประชากรประมาณ 1,000 คน จาก 182 ครัวเรือน และ 3.พื้นที่ก่อสร้างถนนที่มีความยาว 132 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายกับบ้านพุน้ำร้อนของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 50,000 คนที่จะถูกผลกระทบ

 

Ye Lin Myint ตัวแทนจากสมาคมพัฒนาทวาย กล่าวถึงการเดินทางมาจากทวาย เพื่อยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิฯ ว่า เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลว่าชุมชนได้รับผลกระทบด้านจากการพัฒนาอย่างไรบ้าง และชุมชนมีปัญหาถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ เพื่อนำที่ดินไปใช้ดำเนินโครงการ โดยบริษัทของคนไทย ดังนั้นจึงเดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ของไทย เพราะหวังจะได้รับความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากกรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายแล้ว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วในทวาย ที่ดำเนินการโดยบริษัทของคนไทยเดินทางมาร่วมยื่นหนังสือด้วย

 

Ye Lin Myint ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พวกเขามีความมุ่งหวังให้คณะกรรมการสิทธิฯ มาดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในส่วนของโครงการฯ และพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทย และที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลของโครงการฯ จากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เลย การจ่ายค่าชดเชยที่ดินมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ไม่เป็นธรรม มีการเลือกปฏิบัติ และบริษัทไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้ชุมชนได้ทราบ

 

ส่วนการโยกย้ายชุมชน บ้านถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับชาวบ้านไม่มีคุณภาพ และพื้นที่รองรับการโยกย้ายไม่เหมาะสม การโยกย้ายชาวบ้าน 32,000 คน จากพื้นที่นาบูเล่ซึ่งจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น กว่า 86เปอร์เซนต์ เป็นเกษตรกร แต่ที่ดินที่จะถูกย้ายเข้าไปอยู่กลับเป็นพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วน Than Zint จากสมาคมพัฒนาทวาย กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ใหญ่กว่ามาบตาพุด 7-10 เท่า แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เลย เห็นได้ชัดว่าไม่มีความรับผิดชอบ และการเข้ามาลงทุนไม่ให้ข้อมูลกับชุมชนด้วย

 

ขณะที่ชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งจะต้องถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ กล่าวว่า อยากให้บริษัทผู้ก่อสร้างโครงการฯ ให้ข้อมูลและให้ค่าชดเชยที่เป็นธรรมกับชุมชน หากจะก่อผลกระทบขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ก่อสร้างโครงการฯ ไม่เคยถามชุมชน ไม่เคยจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากชุมชน ทั้งที่โครงการมาก่อสร้างในชุมชนดั้งเดิมที่อยู่กันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งการสร้างถนนจากทวายถึงกาญจนบุรี ก็ให้ค่าตอบแทนอย่างไม่เสมอภาค ชาวบ้านหลายคนยังไม่ได้เงินชดเชย และมีกรณีของการเข้าไล่รื้อโดยการพังบ้านเกิดขึ้นด้วย

 

 

            “การที่ไทยมาลงทุนในพม่าเป็นเรื่องดี แต่การไม่ให้ข้อมูล ไม่รับฟังความต้องการความคิดเห็นไม่ดี และชุมชนจะไม่ยอมรับด้วย” ชาวบ้านในพื้นที่ผลกระทบกล่าวและว่า การดำเนินโครงการในรูปแบบดังกล่าวทำให้ชุมชนหมดความเชื่อถือ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ชาวบ้านรายเดิมกล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิฯ ด้วยว่า การลงทุนในทวายหากยังคงดำเนินต่อไป อยากให้กรรมการสิทธิฯ ของไทยไปเข้าดำเนินการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ รวมทั้งเรื่องกฎหมายด้วย

 

            “การที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนแล้วไม่รับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน ก่อผลกระทบให้เกิดความเกลียดชังขึ้นในพื้นที่ได้” ชาวบ้านอีกรายหนึ่งกล่าว

 

 

ด้าน น.พ.นิรันดร์กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ ที่จะตรวจสอบทั้ง โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และกิจการเหมืองแร่ แต่การตรวจสอบนี้เป็นการตรวจสอบนักลงทุนไทย และรัฐบาลไทยที่เข้าไปลงทุนในพม่า ตามอำนาจหน้าที่ และกรณีดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างของการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน ทั้งนี้ กรรมการสิทธิฯ ชุดที่แล้วเคยตรวจสอบกรณีเขื่อนฮัตจี ประเทศพม่า ทำให้โครงการชะลอแม้จะไม่สามารถยุติได้ และกรรมการสิทธิฯ ก็มีการรับหนังสือให้ตรวจสอบในหลายเรื่อง เช่น โรงไฟฟ้าหงสา และเขื่อนไซยะบุรีในลาว เกาะกงในกัมพูชา เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนข้อเสนอ น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่า 1.ทำเรื่องข้อมูลของท้องถิ่น ทั้งพื้นที่ เศรษฐกิจ ชุมชน วิถีชีวิต ซึ่งไทยเรียกว่าการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน หรือ CHIA ในพื้นที่โครงการฯ 2.ต้องมีนักกฎหมายในพื้นที่ เพราะประเด็นกฎหมายเป็นประโยชน์ในการต่อสู้ด้วย อยากให้ทำงานในทั้ง 2 ส่วนนี้ด้วย นอกเหนือจากการทำงานเคลื่อนไหว อีกทั้งขณะนี้อาเซียนเองก็มีกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน และในระดับโลกก็มีในส่วนของยูเอ็น สำหรับการทำงานต่อไปกรรมการสิทธิฯ จะเชิญหน่วยงานรัฐและเอกชนมาชี้แจงเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง และหากเป็นไปได้จะหาโอกาสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: