จวกกสทช.ประเคน‘ทีวีสาธารณะ’ ระบุเหมือนมี'เอ็นบีที11'อีก10ช่อง ปธ.ทีดีอาร์ไอชี้เสี่ยงผิดกฎหมาย

คิม ไชยสุขประเสริฐ 2 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2681 ครั้ง

 

ประเด็นร้อนการจัดสรรคลื่นทีวีใหม่ในช่องดิจิตอลสำหรับบริการสาธารณะ ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติ 3 : 2 แบ่งช่องบริการสาธารณะ 4 ใน 12 ช่อง ให้กับผู้ประกอบการรายเดิม คือ ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส ได้สิทธิทดลองออกอากาศคู่ขนานไปกับระบบอนาล็อกเดิม โดยไม่ต้องทำเงื่อนไขใหม่

 

ก่อให้เกิดคำถามต่ออนาคตการปฏิรูปสื่อ ที่อาจไม่เป็นดังหวังของใครหลายคนอีกต่อไป และผู้ทำหน้าที่อย่าง กสทช.ใช้เหตุผลอะไรในการยกคลื่นความถี่ใหม่ให้กับผู้ประกอบการช่องต่าง ๆ โดยไม่มีการกำหนดกติกาและเงื่อนไขที่ชัดเจน

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “ประเคนทีวีดิจิตอลสาธารณะ... กสทช.รัฐประหารการปฏิรูปสื่อ?” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระดมความคิดนักวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ ก่อนกำหนดทิศทางเดินหน้าต่อ

 

ข้อสรุปในเวทีนี้คือ การเรียกร้องให้ กสทช.ทบทวนและกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเกี่ยวกับการให้ใบอนุญาต 12 ช่องดิจิตอลทั้งสำหรับบริการสาธารณะ ธุรกิจ และบริการชุมชน โดยมีการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นที่เข้าใจ แล้วประกาศต่อสาธารณะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ปฏิรูปสื่อครั้งใหม่’เสี่ยง แข่งขันไม่เป็นธรรม-ราชการครองทีวีสาธารณะ

 

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ทีวีสำหรับบริการสาธารณะจำเป็นต้องมี เพื่อตอบโจทย์ผลประโยชน์สาธารณะที่ทีวีเอกชนเชิงพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ หรือไม่ต้องการที่จะทำ เช่น กลุ่มผู้ชมที่ไม่มีตลาด กรณีของกลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็ก กลุ่มคนด้อยโอกาส หรือรายการบางประเภทที่ต้องการคุณภาพสูงกว่าที่ตลาดโดยทั่วไปมีให้

 

ส่วนทีวีดิจิตอลนั้นถือเป็นโอกาสในการปฏิรูปสื่อ ซึ่งความเสี่ยงในการปฏิรูปครั้งนี้มี 2 ข้อ คือ 1.เป็นการสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีมีผู้ได้ใบอนุญาตสาธารณะ แต่นำไปบริการเชิงพาณิชย์ เพราะใบอนุญาตได้มาโดยไม่ต้องประมูลเหมือนใบอนุญาตเชิงพาณิชย์ แต่ถูกนำไปโฆษณาแข่งขันกัน การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้น 2.หน่วยราชการต่าง ๆ พาเหรดเข้ามายึดครองทีวีสาธารณะ ทำให้ทีวีสาธารณะกลายเป็นทีวีของราชการ ซึ่งทำเพื่อประโยชน์ของราชการ ไม่ใช่ประโยชน์ของสาธารณะ

 

 

ประเคนช่องสาธารณะให้ทั้งที่ไม่มีใครขอเสี่ยงผิดกฎหมาย

 

 

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า อาจเข้าข่ายการประเคนช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะ เพราะกสทช.ยังไม่ได้มีการออกหลักเกณฑ์ ตามที่กฎหมายกำหนดว่าผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะจะต้องมีหน้าที่อย่างไรบ้าง และยังไม่มีใครขออนุญาตเข้ามาเลย แต่ทำท่าว่าจะให้ไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงอาจเข้าข่ายผิดต่อเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อ และผิดกฎหมาย อาทิ 1.ตามกฎหมายกำหนดเรื่องผังรายการไว้ว่า ถ้าจะเป็นบริการสาธารณะ ผังรายการจะต้องมีข่าวสารสาระเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หากขอบริการสาธารณะ ข่าวสารสาระที่ว่าก็ต้องเกี่ยวกับความมั่นคง

 

2.เรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะขอใบอนุญาต การจัดทำเช่นนี้เป็นการออกใบอนุญาตใหม่ เป็นการจัดสรรคลื่นใหม่ ซึ่งตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 11 ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะมาขอใบอนุญาต หากเป็นกระทรวง ทบวง กรมของรัฐซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ จะต้องมีหน้าที่หรือมีความจำเป็นในการดำเนินกิจการ แต่เมื่อยังไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์ขึ้นมากำหนด แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอสมีหน้าที่ความจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนด

 

3.การออกประกาศหลักเกณฑ์ในเรื่องที่กระทบประโยชน์สาธารณะ จะต้องมีการรับฟังความเห็น ตามมาตรา 28 ของกฎหมายกสทช. ซึ่งกระบวนการที่ผ่านมายังไม่มีการรับฟังความเห็น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แม้กฎหมายเกิดสมัยรัฐประหาร แต่ยุคประชาธิปไตยกลับละเมิดเจตนารมณ์ ‘ปฏิรูปสื่อ’

 

 

สำหรับประเด็น ‘กสทช.รัฐประหารการปฏิรูปสื่อหรือไม่?’ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แม้กฎหมายสำคัญที่ กสทช.นำมาใช้จะเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภาที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่มีเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่ออย่างน้อยตั้งแต่ปี 2540 อยู่ และเนื้อหาโดยรวมก็มีความก้าวหน้าและมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปสื่อพอสมควร มีเนื้อหาที่เป็นปัญหาบ้าง เช่น การอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐด้านความมั่นคงสามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการสาธารณะด้านความมั่นคง โดยยังมีโฆษณาได้ ซึ่งตรงนี้เป็นการประนีประนอม

 

 

          “ส่วนตัวคิดว่าเป็นการประนีประนอมที่จำเป็นในเวลาแบบนั้น แต่สิ่งที่แย่ก็คือ แม้แต่สมัยประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการไปละเมิดเจตนาของการปฏิรูปสื่อ จะเรียกว่ารัฐประหารการปฏิรูปสื่อหรือไม่ก็ตาม” ดร.สมเกียรติกล่าว

 

 

ดร.สมเกียรติกล่าวถึงข้อเสนอด้วยว่า กสทช.ควรทบทวนมติที่ได้ออกไป เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและส่วนตัวเห็นว่าอาจผิดกฎหมายในหลายมาตรา แล้วประชุมตั้งต้นกันใหม่ กำหนดเงื่อนไขการทำ Beauty Contest ตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องตอบสนองต่อกลุ่มผู้ฟังที่ถูกละเลย โดยกลไกตลาด รายการจะต้องมีความสมดุล มีการแสดงความเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้าน และมีกลไกต่าง ๆ เพื่อประกันคุณภาพรายการ มีการออกใบอนุญาตในระยะเวลาที่ไม่ยาวจนเกินไป หากประเมินแล้วไม่ได้ทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตควรเพิกถอนใบอนุญาต

 

ส่วนข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ช่อง 5 ควรมีการปรับผังรายการให้สอดคล้องกับกฎหมายหากต้องการขออนุญาต ช่อง 11 จะต้องวางกลไกการรับเรื่องร้องเรียน กลไกนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนรอบด้าน ส่วนไทยพีบีเอสก็ควรพิจารณาทบทวนว่า มีส่วนไหนที่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่

 

 

ส.ว.ย้ำบอร์ดเล็กตัดสินเป็นเสียงข้างน้อยใน 11 คน แถมมีผลต่อบอร์ดใหญ่ทั้งชุด

 

 

 

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรองประธานกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กล่าวว่า กสทช.ถูกตั้งขึ้นโดยการยุบ 2 องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ 40 ให้มี กสทช.ตามรัฐธรรมนูญ 50 โดยให้มีคณะกรรมการชุดเล็ก 2 คณะในคณะกรรมการใหญ่ ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ แต่วันนี้กำลังมีการตีความกฎหมายไปในทางที่ผิดเพี้ยน กสทช.มีทั้งหมด 11 คน แต่เรากำลังใช้คณะกรรมการ 5 คน แยกเป็นด้านโทรคมนาคม และด้านวิทยุโทรทัศน์ ตัดสินโดยเสียงข้างมากแต่เป็นเสียงข้างน้อยใน 11 คน

 

ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า 3 ใน 11 จะกำหนดอนาคตทีวีสาธารณะ ซึ่งกว่าจะมีการปฏิรูปโครงสร้างสื่อหรือกว่าจะได้ทีวีแต่ละช่องถือเป็นเรื่องที่ยากเย็นมาก แต่กลับให้คณะกรรมการ 3 คนอนุมัติโดยไม่มีการร้องขอไป จึงต้องตรวจสอบว่าหลักเกณฑ์วิธีการขัดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาได้พิจารณานำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเมือวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาแล้ว และจะมีการเชิญ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท.มาชี้แจง

 

 

          “การตัดสินใจของ กสทช.มีผลผูกพันกันทั้งคณะ ไม่ได้หมายความว่า กสทช.3 คน หรือ 4 คน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากในคณะเล็กแล้วตัดสินใจไป หากพบว่ามีปัญหาทางข้อกฎหมาย ความรับผิดชอบของ กสทช.ทั้ง 11 ท่าน ไม่ได้อยู่เพียงแค่ 3 ท่าน” นายสมชายกล่าว

 

 

แนะช่อง 5, 11 ปรับตัวเอาให้ชัด-ไทยพีบีเอสให้ได้แค่คลื่นเดียว

 

 

นายสมชายกล่าวต่อถึงการที่ กสทช.อนุมัติคลื่นความถี่ 4 คลื่น โดยไม่มีความชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปดิจิตอลว่า กรณีช่อง 5 ไม่สามารถตัดเรื่องช่องความมั่นคงออกไปได้ แต่จะมีช่องทางที่เหลืออยู่คือ หากต้องการทำช่องธุรกิจที่มีการโฆษณาแข่งขันกับรายอื่นจะต้องเข้าประมูล แต่หากทำเป็นช่องเพื่อความมั่นคง จะต้องมีเนื้อหาสาระเพื่อความมั่นคง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องวางกรอบให้ชัดเจน สำหรับช่อง 11 มีเจตนารมณ์ให้เห็นช่องทีวีสาธารณะเช่นเดียวกับไทยพีบีเอส เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าสู่การเปลี่ยนไปอยู่ในกรอบทีวีด้านความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ไม่ใช่กรมประชาสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลอีกต่อไป

 

 

 

            “ช่อง 5 กับช่อง 11 ถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มที่เหมือนยกไปให้ก่อน 2 ช่อง โดยยังเว้นเรื่องความมั่นคงและความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชนไว้อีก นั่นทำให้เห็นเจตนารมณ์ว่าไม่ได้เอาไปตรงตามสล็อตที่ได้วางเอาไว้แค่ 2 ช่อง แต่กำลังจะเอาไปให้คนอื่นอีก เพิ่มเติมหรือไม่” นายสมชายตั้งข้อสังเกต

 

 

 

ส่วนช่องไทยพีบีเอสก็มีหน้าที่ที่ต้องทำทีวีสาธารณะ และคิดว่าวันนี้เพิ่งเริ่มต้น ยังเตาะแตะอยู่มาก มีความจำเป็นที่ต้องทำตัวเองให้สมบูรณ์ก่อน แต่ กสทช.ทำเอ็มโอยูอนุมัติคลื่นความถี่ให้ทีพีบีเอสไปอีก 1 คลื่น ทั้งที่ควรได้เพียงคลื่นเดียว ประเด็นอยู่ที่การตีความว่าเอ็มโอยูไม่น่าจะเหนือกฎหมายการจัดสรรคลื่นได้ เพราะฉะนั้นสิทธิที่ไทยพีบีเอสจะได้ช่องเพิ่มจึงไม่มีความจำเป็น

 

 

ชี้ช่อง ‘ยื่นวุฒิสภา’ พิจารณา มีมติ2ใน3ให้กสทช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะได้

 

 

นายสมชายกล่าวด้วยว่า มีความคาดหวังที่จะให้ กสทช.ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา คงความหน้าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่ออย่างชัดเจน อย่าพยายามตะแบงตีความทางกฎหมาย ลอดช่องเล็กช่องน้อย

 

อย่างไรก็ตาม กสทช.มีความรับผิดอยู่ ตามกฎหมายระบุว่า หากกสทช.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดในสภา หรือ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดในสภา และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติ 2 ใน 3 เพื่อให้กสทช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

 

 

‘ผอ.มีเดีย มอนิเตอร์’ เผยแยกย่อย 12 ประเภท ส่อเจตนาที่ประเคนให้ภาครัฐ

 

 

น.ส.เอื้อจิตร วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดีย มอนิเตอร์) ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการโทรทัศน์ ซึ่งมีการอธิบายเพิ่มเติมว่าใบอนุญาตมี 3 ประเภท และตามมติที่ออกมามีการแยกย่อยจาก 3 ประเภทออกไปอีก 12 ประเภท ทั้งที่เมื่อมีอำนาจแล้ว กสทช.สามารถทำข้อกำหนดในกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้นได้ แต่ กสทช.ไม่ได้ดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่กลับแยกย่อยโดยแบ่งความ เช่น เน้นการศึกษา เน้นสุขภาพ ทั้งที่หากเป็นบริการสาธารณะแล้วเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อคนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและองค์ความรู้ ไม่สามารถแยกออกไปได้

 

นอกจากนั้น ที่ผ่านมายังมีการตั้งคำถามถึงนิยาม ‘ความมั่นคงของรัฐ’ และ ‘ความปลอดภัยสาธารณะ’ ในหลายเวทีที่มีการพูดคุย ซึ่งก็มีการทำคำอธิบายเอาไว้ในหลายแหล่ง ทั้งโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และในงานศึกษาของผู้บริหารระดับสูงของกองทัพ แต่ กสทช.กลับไม่ทำคำอธิบาย ปล่อยทิ้งค้างแล้วมาแบ่งแยกย่อยเป็นช่องเพื่อความมั่นคงของรัฐ และช่องเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ อีกทั้งมีการแบ่งช่องเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน/รัฐสภากับประชาขน ดังนั้น จึงเหมือนกับส่อเจตนาที่จะจัดการลักษณะการบริการสาธารณะอย่างชนิดที่ว่าประเคนให้กับหน่วยงานภาครัฐ

 

น.ส.เอื้อจิตรกล่าวด้วยว่า เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเดีย มอนิเตอร์ ได้ศึกษาผังรายการของฟรีทีวี โดยเฉพาะช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส โดยใช้หลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนดว่าหากจะเข้าข่ายทีวีบริการสาธารณะต้องมีสารประโยชน์ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ กรณีช่อง 5 พบว่า มีอยู่ 44 เปอร์เซ็นต์ และการศึกษาตั้งข้อสังเกตว่ารายการค่อนข้างมีบันเทิงสูง มีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงตามคำอธิบายที่ออกแบบไว้

 

ทั้งนี้เห็นด้วยว่า กสทช.ต้องทำหลักเกณฑ์ และภายใต้หลักเกณฑ์นั้นต้องมีข้อมูลในเชิงประจักษ์ให้เห็นชัดว่าลักษณะการใช้คลื่นของทีวีที่จะได้ใบอนุญาตต่อเนื่องเป็นบริการสาธารณะ มีสภาพการประกอบการปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีผังที่แสดงถึงการปรับตัวก่อนที่จะยกให้ทันที

 

 

‘ชวรงค์’ ห่วงอ้างกฎหมายยกคลื่นให้รัฐ เหมือนมีช่อง 11 อีก 10 ช่อง

 

 

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงข้อห่วงใยว่า 1.การให้คลื่นโดยไม่กระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทั้งที่กฎหมายระบุไว้ว่าเรื่องสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนควรต้องรับฟังความเห็นสาธารณะ แต่เรื่องนี้กลับไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นเลยเป็นการตัดสินใจโดยบอร์ดเล็ก 2.เรื่องการยกคลื่นให้กับหน่วยงานราชการ ซึ่ง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กทค.ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่กำหนดประเภทของทีวีสาธารณะ แต่หากมีการกำหนดเช่นนี้ก็พิจารณาได้ว่าใครเป็นผู้มีศักยภาพที่จะขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินการ ซึ่งหนีไม่พ้นหน่วยราชการ และคงไม่ต่างกับการที่จะมีช่อง 11 อีก 10 ช่อง เพราะมีหน่วยราชการเป็นเจ้าของและมีภาคเอกชนร่วมผลิต

 

 

            “เมื่อเป็นช่องของหน่วยงานรัฐเนื้อหาก็จะไม่แตกต่างจากนโยบายรัฐ ไม่สามารถมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือการให้ความคิดเห็นที่ครบถ้วนรอบด้าน เพราะฉะนั้น เจตนารมณ์ของความเป็นสาธารณะ ในการที่จะให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้านคงไม่เกิด” ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงข้อห่วงใย

 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อห่วงใยถึงผลกระทบต่อเอกชน เรื่องการหารายได้ในทีวีสาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงสามารถหาโฆษณาเชิงธุรกิจได้ เพื่อให้เพียงพอต่อการประกอบกิจการเท่านั้น โดยยังไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ว่าแค่ไหนจึงเพียงพอ ส่วนช่องทีวีที่ไม่ใช่ด้านความมั่นคงสามารถโฆษณาได้ในเชิงภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น และถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดผังรายการ ยังไม่มีการระบุรายละเอียดของข่าวและสาระ 70 เปอร์เซ็นต์ที่กำหนดไว้

 

 

เตือน‘พ.อ.นที’ใช้กรณี‘ประมูล3จี’สมัยกทช.ล่ม เป็นบทเรียน คิดให้รอบคอบ

 

 

นายชวรงค์กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการพูดกันมากถึงปัญหาทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคงว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ในขณะที่วันนี้เราอยู่สังคมที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองฝากรัฐบาลที่บอกว่าจะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นโอกาสที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากมี ส.ส.พรรครัฐบาลกล้าลุกขึ้นมาบอกว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ เฉพาะในเรื่องทีวีสาธารณะเพื่อความมั่นคง

 

พร้อมเตือน กสท.หากยังดึงดันทำตามมติ ให้ระวังการฟ้องร้องจากผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบในอนาคตโดยเฉพาะหลังจากที่มีการเปิดให้มีการประมูลคลื่นทีวีธุรกิจดิจิตอล แม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องในตอนนี้ก็ตาม อีกทั้ง ยังกล่าวถึง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท.ให้นึกถึงบทเรียนการเดินหน้าอะไรที่ไม่รอบคอบ กรณีการยกเลิกประมูล 3 จี สมัย กทช.เพื่อนำพิจารณาทบทวนการดำเนินการต่อสำหรับทีวีดิจิตอลสาธารณะ

 

 

จี้ ‘ไทยพีบีเอส’ ประกาศจุดยืน อย่าร่วมกระบวนการปล้นคลื่นความถี่จากประชาชน

 

 

ขณะที่ ดร.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้อำนวยการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับนายชวรงค์ ในการเรียกร้องให้กรรมการนโยบายไทยพีบีเอสในฐานะที่เป็นทีวีสาธารณะตามกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการประกาศจุดยืนในการไม่ขอรับทีวีดิจิตอลสาธารณะ โดยไปทำหลักเกณฑ์ก่อน ระบุเรียกร้องอย่าร่วมกระบวนการปล้นคลื่นความถี่จากประชาชน ชี้ธุรกรรมครั้งนี้ไม่ควรเกี่ยวข้อง

 

ดร.สุวรรณากล่าวด้วยว่า สิ่งที่ห่วงใยในวันนี้ คือ ระบบปฏิรูปสื่อที่ทำกันมาไม่ต่ำกว่า 14 ปี ในการทำให้เกิด กสทช.แต่ กสทช.กำลังใช้เวลาเพียง 3 เดือน ในการจัดสรรคลื่นทีวีสาธารณะให้สังคม พร้อมระบุว่าในภาพใหญ่ กสทช.ไม่มีความพยายามทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น การจัดระเบียบ การพูดคุยถึงเรื่องความจำเป็นของคลื่นเดิม และการออกใบอนุญาตคลื่นเดิม แต่กลับลัดคิวไปทำเรื่องการจัดสรรคลื่นใหม่ ถือเป็นการให้ความสำคัญในมิติที่ต่างกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เผย ‘องค์กรวิชาชีพสื่อ’ ร่วม ‘ภาคสังคม’ ตามติด เตรียมกำหนดท่าทีต่อไป

 

 

ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยว่า สิ่งที่กสท.ทำนั้น บิดเบือนเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ ที่ต้องการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของสื่อสาธารณะจากรัฐและเอกชนมาเป็นของสังคม แต่วันนี้ทั้งหมดกลับย้อนยุค และเห็นว่าควรต้องเรียกร้องให้ กสทช.ปรับท่าที หากไม่เปลี่ยนก็อาจมีช่องทางในการฟ้องร้องทางกฎหมาย

 

ยังไม่สายหากกสทช.คิดทบทวน หรือวางมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมากับสิ่งที่ให้ใบอนุญาตไปแล้ว คือต้องหาทางเยียวยา เช่น ประกาศสัดส่วน การรับฟังความเห็น การปรับผังรายการให้ชัดเจน ซึ่งก็ สทช.ยังมีโอกาสที่จะทำได้อยู่

 

 

            “นี่คือโอกาสสำคัญของ คุณที่จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผุ้มีส่วนร่วมสำคัญในการวางโครงสร้างการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย แต่ถ้าคุณทำนอกเหนือไปจากนี้ คุณก็จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ หรือถึงขึ้นประณามคุณได้” นายประดิษฐ์ กล่าวถึงสัญญาณ ที่ส่งไปถึง พ.อ.นที ประธาน กสท.พร้อมระบุด้วยว่า ยังคงต้องดูเหตุการณ์ และองค์กรวิชาชีพสื่อจะร่วมกับภาคสังคมเพื่อกำหนดท่าทีในการผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

 

 

 

กสทช.รับนำข้อเสนอ 7 ข้อ จากนักวิชาการ ถกบอร์ด กสท.

 

 

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.1 ใน 2 เสียงข้างน้อยในการลงมติ กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า บอร์ด กสท.ยกคลื่นความถี่ใหม่ในระบบดิจิตอลให้กับช่อง 5, 11 และไทยพีบีเอส โดยยังไม่มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ ทุกเรื่องผ่านมาโดยการเซ็น MOU ความร่วมมือกว้าง ๆ ซึ่งไม่มีรายละเอียด และผ่านคณะอนุกรรมการเปลี่ยนผ่านดิจิตอล ซึ่งมีองค์ประกอบของฟรีทีวี 6 ช่องร่วมอยู่ด้วย จึงอาจมี conflict of Interest (ความขัดกันของผลประโยชน์)

 

อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจนว่า จะมีการคืนช่องในระบบอนาล็อกเร็วขึ้นหรือไม่ และผู้ประกอบการดังกล่าวอาจได้สิทธิในการใช้ระบบดิจิตอลคู่ขนาดไป จนกว่าระบบอนาล็อกจะยุติ โดยไม่มีเงื่อนไขให้เปลี่ยนผังรายการ ตรงนี้ บอร์ด กสท.เสียงข้างมากให้ความเห็นว่า ยังไม่ได้เป็นการออกใบอนุญาตแต่เปลี่ยนการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นการตีความแบบกำปั้นทุบดิน คือไม่ได้ให้ใบอนุญาต แต่ให้สิทธิ์ในการใช้คลื่น 5-10 ปี นั่นก็เทียบเท่ากับการให้ใบอนุญาต

 

น.ส.สุภิญญากล่าวด้วยว่า ในส่วนเนื้อหาที่ยังไม่มีเกณฑ์กติกาที่ชัดเจน ซึ่งอาจมีการนำไปฟ้องศาลปกครองทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดความล่าช้าได้นั้น ล่าสุดได้เสนอวาระเข้าที่ประชุม บอร์ด กสท.โดยนำข้อเสนอ 7 ข้อ จากนักวิชาการนิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เข้าหารือในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้

 

ข้อเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย 1.กสท.ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเดิม ช่อง 5, ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ปรับตัวให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการสาธารณะ ไม่ใช่ได้รับสิทธิในการออกอากาศในระบบดิจิตอลโดยอัตโนมัติ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2550 2.กสท.ต้องสร้างเกณฑ์การตรวจสอบ ‘หน้าที่’ และ ‘ความจำเป็น’ ของผู้ประกอบการรายเดิม และหน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ ที่ขอเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงโครงสร้างความเป็นเจ้าของ

 

3.กสท.ต้องจัดทำคำนิยาม ‘บริการสาธารณะ’ และเนื้อหารายการ รวมทั้งพันธกิจสำคัญในแต่ละช่องรายการให้ชัดเจน และขอให้ทบทวนการจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ของทั้ง 12 ช่อง 4.กสท.ต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าของสำหรับภาคประชาชนเพื่อใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในทุกพื้นที่ของการประกอบกิจการ 5.กสท.ต้องกำหนดให้แต่ละช่องเสนอโครงสร้างการบริหารที่สะท้อนความเป็นอิสระจากภาคการเมืองและภาคธุรกิจ และมีแผนการจัดสรรและที่มาของงบประมาณที่ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้

 

 

6.กสท.ต้องมีเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ช่องบริการสาธารณะ (Beauty Contest) ที่ชัดเจน และผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ และ 7.กสท.ควรชะลอการพิจารณาการจัดสรรคลื่นความถี่บริการสาธารณะ 12 ช่อง จนกว่าจะสำรวจและรับความเห็นจากทุกภาคส่วนและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการใช้ดุลพินิจของ กสท.

 

 

            “ถ้าไม่ทำอะไรเลย ยืนยันตาม 3 : 2 ดิฉันคิดว่าจะมีจุดอ่อนมากพอที่จะทำให้กระบวนการมันสะดุด แต่ถ้าบอร์ดรับฟัง 7 ข้อนี้และมีเกณฑ์แน่นอนมันก็จะดีขึ้น แต่ก็ต้องดูว่า สุดท้ายพอมีเกณฑ์แล้วมันจะเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่” น.ส.สุภิญญาระบุ

 

 

 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2556 กสท.ได้มีมติ 3-2 อนุมัติกำหนดช่องรายการสำหรับกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ประเภทสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ช่อง 1-3 อนุญาตให้ช่อง 5, เอ็นบีที และไทยพีบีเอส ทำการออกอากาศคู่ขนานไปกับการออกอากาศแบบอนาล็อกเดิม โดยยังไม่ต้องทำเงื่อนไขของช่องทีวีดิจิตอลใหม่ มีระยะเวลาเท่ากับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่เดิม

 

สำหรับกลุ่มที่ 2 ช่อง 4-12 นั้น ได้กำหนดรายละเอียดวัตถุประสงค์การให้บริการโทรทัศน์ประเภททีวีสาธารณะ ประกอบด้วย

 

ช่อง 4 จะจัดสรรให้กับไทยพีบีเอส ที่จะต้องเน้นรายการสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว

 

ช่อง 5 จะเน้นรายการให้ความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

 

ช่อง 6 เน้นรายการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ

 

ช่อง 7 เน้นรายการสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ช่อง 8 เพื่อความมั่นคงของรัฐ

 

ช่อง 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ

 

ช่อง 10 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชน/รัฐสภากับประชาขน

 

ช่อง 11 เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาเกี่ยวกับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ช่อง 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงเด็กและเยาวชนหรือความสนใจกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

ทั้งนี้ ระยะเวลาการอนุญาต ช่อง 4-12 จะมีอายุการอนุญาต 4 ปี หลังจากนั้น กสทช.จะพิจารณาการออกใบอนุญาตให้อีกครั้งว่าจะอนุญาตให้ 15 ปีตามที่กฎหมายกำหนด ขึ้นอยู่กับการประกอบกิจการในช่วง 4 ปีที่ได้รับอนุญาตว่าเป็นไปตามคำนิยามการประกอบกิจการสาธารณะหรือไม่

 

คาดว่า กสท.จะประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจ ยื่นขอรับใบอนุญาตได้ในช่วงเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม ส่วนใบอนุญาตคาดว่าจะออกประมาณเดือนมิถุนายน 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: