‘ศาลฎีกา’ยกคำร้องปล่อยตัว‘สองตายาย’คดีบุกรุกป่าโคกยาว อ้างกลัวหลบหนี-ชาวบ้านนับร้อยแห่เยี่ยม

สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน 2 พ.ค. 2556


 

วันที่ 29 เมษายน ชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กว่า 100 คน เข้าเยี่ยม นายเด่น คำแหล้ อายุ 62 ปี และนางสุภาพ คำแหล้ อายุ 58 ปี สามีภรรยาสมาชิก คปอ.ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 และ 4 คดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ที่เรือนจำอำเภอภูเขียว

 

หลังจากเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สั่งจำคุกจำเลยทั้งสอง เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งทีมทนายความของเครือข่ายฯ คปอ.และชาวบ้านได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว และนัดกันมารอฟังคำสั่งจากศาล วันที่ 29 เมษายน 2556

 

 

ทั้งนี้ตามกำหนดการชาวบ้านจะเดินเท้าไปเยี่ยมผู้ถูกคุมขังทั้ง 2 ราย จากนั้นจะกลับมาปักหลักบริเวณหน้าศาลจังหวัดภูเขียว เพื่อร่วมรับฟังคำสั่งศาลฎีกาว่าผลการให้ประกันจะออกมาอย่างไร

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ชาวบ้านสมาชิก คปอ.กำลังเตรียมขบวน มีเจ้าหน้าที่ศาลออกมาแจ้งว่าได้เบิกจำเลยออกมาจากเรือนจำ เพื่อมารับฟังคำสั่งการให้ประกันจากศาลแล้ว เป็นผลให้ชาวบ้านยุติการเคลื่อนขบวน เปลี่ยนมาเป็นร่วมชุมนุมอยู่บริเวณหน้าศาล รอฟังคำสั่งศาลฎีกา

 

ต่อมาเวลาประมาณ 11.30 น. ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาต เพราะเกรงจะหลบหนี

 

 

            “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 4 ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาและยังไม่ยื่นฎีกา มีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง” คำพิจารณาของศาล

 

 

นายศรายุทธ ฤทธิพิณ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าวว่า สมาชิกต่างแสดงเหตุผลไปในทางเดียวกันว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ในการวินิจฉัย คำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณา 1.ความหนักเบา แห่งข้อหา 2.พยานหลักฐาน ที่ปรากฏแล้ว มีเพียงใด 3.พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร 4.เชื่อถือ ผู้ร้องขอประกัน หรือ หลักประกัน ได้เพียงใด 5.ผู้ต้องหา หรือ จำเลย น่าจะหลบหนี หรือ ไม่ 6.ภัยอันตราย หรือ ความเสียหาย ที่จะเกิดจาก การปล่อยชั่วคราว มีเพียงใด หรือไม่ และ 7.ในกรณีที่ ผู้ต้องหา หรือ จำเลย ต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาล พึงรับประกอบการวินิจฉัยได้ ประกอบไปด้วย

 

ส่วนประกอบการพิจารณาความที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวทั้ง 7 ข้อนั้น ผู้ถูกคุมขังไม่มีการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุที่ศาลจำต้องนำมาเป็นส่วนประกอบการพิจารณาไม่ให้ประกันได้ อีกทั้งในข้อที่ 5 ตามที่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จะหลบหนีนั้น เป็นไปไม่ได้เพราะจำเลยทั้งสองเป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา อีกทั้งต่างมีหลักทรัพย์ประกันจากทางกองทุนยุติธรรม ที่ได้ประสานให้ความช่วยเหลือในด้านหลักประกันอยู่แล้ว

 

นายศรายุทธ ระบุถึงคำถามของชาวบ้านด้วยว่า ศาลในชั้นต้นและอุทธรณ์นั้นสามารถใช้ดุลยพินิจได้ใช่หรือไม่ แล้วทำไมศาลจึงไม่มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัว กลับโยนให้ศาลฎีกาสั่ง โดยไม่สั่งการเอง หากเปรียบเทียบกับคดีของนายทอง กุลหงส์ วัย 72 ปี และนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 48 ปี ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันและอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ศาลยังสามารถให้ประกันได้ เช่นนี้แล้วมีความยุติธรรมในการใช้ดุลพินิจหรือไม่ และเหตุใดศาลจึงไม่มีคำสั่งยกฟ้องจำเลยทั้ง 10 ราย (ชาวบ้าน 10 คนถูกจับกุมในกรณีเดียวกับแต่ถูกแยกฟ้องเป็น 4 คดี)

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ว่า ขณะที่มีการชุมนุมปราศรัยอยู่บริเวณหน้าศาลนั้น เวลา 14.30 น.ชาวบ้านที่ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมผู้ถูกคุมขังที่เรือนจำภูเขียว ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ให้เยี่ยมได้เพียง 10 นาที และสามารถเข้าเยี่ยมได้แต่นายเด่น คำแหล้ แต่เพียงคนเดียว เพราะระเบียบของเรือนจำอนุญาตให้ผู้ต้องขังชายเข้าเยี่ยมได้ในวันจันทร์, พุธ และศุกร์ ส่วนผู้ต้องขังหญิงเยี่ยมได้ในวันอังคารและพฤหัสบดี ขณะที่วันเสาร์และอาทิตย์ รวมทั้งวันหยุดราชการไม่มีให้เข้าเยี่ยม จนถึงเวลาประมาณ 16.30 น.จึงได้ร่วมกันเดินทางกลับ

 

ทั้งนี้ สมาชิก คปอ.ปักหลักตากแดดปราศรัยอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามถนนด้านหน้าศาลจังหวัดภูเขียว จนถึงเวลาประมาณ 16.30 น.จึงสลายการชุมนุม

 

 

ที่มาของพื้นที่พิพาท

 

 

กรณีพื้นที่พิพาทดังกล่าว ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่ ต.ทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งพระ ต.ทุ่งนาเลา ต.ห้วยยาง ต.ดงกลาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประมาณกว่า 290,000 ไร่ ในส่วนพื้นที่ ต.ทุ่งลุยลาย ต่อมามีโครงการปลูกสวนป่าโคกยาว ทดแทนพื้นที่สัมปทาน ด้วยการนำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกในพื้นที่เมื่อปี 2528 ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพราน ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่

 

เมื่อชาวบ้านบางส่วนออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมการจะเข้ามาอยู่ตามพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินผืนนั้นมีเจ้าของเป็นผู้ครอบครองอยู่แล้ว  ดังนั้นชาวบ้านจึงเสมือนตกอยู่ในสภาพถูกลอยแพ กลายเป็นคนไร้ที่ดิน

 

การเรียกร้องต่อสู้ของชาวบ้านจึงเริ่มแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่ท้ายที่สุดกลับต้องตกเป็นจำเลยเป็นกรณีพิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาว  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตามมติ ครม.ปี 2553 เห็นชอบให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง และดำเนินคดีในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงประสบปัญหาถูกคุกคามและจับกุมอยู่สืบเนื่องเรื่อยมา

 

กระทั่งจากเช้ามืดของวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เวลาประมาณ 05.00 น. เจ้าหน้าที่นำโดยนายอำเภอคอนสาร (นายประทีป ศิลปะเทศ) สนธิกำลังของป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ประมาณ 200 นาย นำกำลังเข้ามาในพื้นที่พิพาทที่ดินสวนป่าโคกยาว เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และจับกุมชาวบ้านรวม 10 ราย โดยต่อมามีการฟ้องรองคดีกับชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์

 

 

 

 

ลำดับการอ่านคำพิพากษา ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

 

 

กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาชาวบ้าน (จำเลย) โดยแยกเป็น 4 คดี 10 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ป้องรักษาป่าที่ ชย.4 คอนสาร เป็นโจทก์

 

คดีที่ 1 วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ศาลพิพากษานายคำบาง กองทุย อายุ 65 ปี และนางสำเนียง กองทุย อายุ 61 ปี (สามี-ภรรยา) จำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา

 

คดีที่ 2 วันที่ 13 มิถุนายน 2555 ศาลพิพากษานายทอง กุลหงส์ อายุ 72 ปี และนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 48 ปี   (สองพ่อลูก) จำคุก 4 เดือน โดยคดีนี้ ศาลได้เพิ่มวงเงินประกันจากรายละ 100,000 บาท เป็นรายละ 200,000 บาท เป็นเหตุให้เงินที่เตรียมไว้ต้องถูกรวมมาประกันจำเลยเพียงรายเดียวคือนายสมปอง ด้วยนายทอง ยอมเสียสละนอนอยู่ในคุก เพื่อให้ลูกชายที่มีอาการพิการทางสมอง เป็นโรคประสาท ได้รับการประตัวออกมาก่อน ต่อมาวันที่ 28 มิ.ย.55 น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งชาติ ได้ใช้ตำแหน่งประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555

 

คดีที่ วันที่ 9 สิงหาคม 2555 ศาลพิพากษานายสนาม จุลละนันท์  อายุ 59 ปี จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

 

คดีที่ 4 วันที่ 28 สิงหาคม 2555 ศาลพิพากษานายเด่น คำแหล้ อายุ 60 ปี (จำเลยที่ 1) และนางสุภาพ คำแหล้ อายุ 57 ปี (จำเลยที่ 4) ตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลย อีก 3 ราย คือนายบุญมี วิยาโรจน์ อายุ 51 จำเลยที่ 2, นางหนูพิศ วิยาโรจน์ อายุ 70 ปี (ภรรยานายบุญมี) จำเลยที่ 5 และนางเตี้ย ย่ำสันเทียะ อายุ 54 ปี  จำเลยทั้ง 3 รายนี้ ศาลยกฟ้อง

 

 

ลำดับการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์ภาค 3

 

 

คดีที่ 2 วันที่ 6 มีนาคม 2556  ที่ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3  ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลย คือนายทอง กุลหงส์ อายุ 72 ปี และนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 48 ปี (สองพ่อลูก) มีคำสั่งให้ จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

 

ต่อมาชาวบ้านในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้ประสานไปยังกองทุนยุติธรรม โดยทางกองทุนยุติธรรม ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งได้ทำเรื่องขอความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านและได้ประกันตัวออกมาในวงเงิน คนละ 200,000 บาท เพื่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

 

คดีที่ 4 วันที่ 25 เมษายน 2556  ที่ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3  ยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลย คือ 1. นายเด่น คำแหล้  2.นางสุภาพ คำแหล้ จำคุก 6 เดือน

 

ส่วน นายบุญมี วิยาโรจน์ อายุ 51 ปี  นางหนูพิศ วิยาโรจน์ อายุ 70 ปี และนางเตี้ย ย่ำสันเทียะ อายุ 54 ปี  ทั้ง 3 รายนี้ ศาลยกฟ้อง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: