จี้แก้กฎหมาย-ลดปัญหา'โรงไฟฟ้าชีวมวล' ชุมชนกำหนดที่ตั้ง-1เมกกะวัตต์ทำอีไอเอ หลายจว.มั่ว-ให้ผุดกลางหมู่บ้านมลพิษอื้อ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 30 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 8111 ครั้ง

 

โรงไฟฟ้าชีวมวลได้ชื่อว่าเป็นพลังงานทางเลือก และเป็นความหวังอนาคตพลังงานของประเทศ แต่ปัจจุบันกลับสร้างปัญหาให้กับชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ นโยบายของโรงไฟฟ้าชีวมวลคือ เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน โดยรัฐบาลหันมาสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงจากกากหรือเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร ที่มีอยู่ตามชนบทของประเทศไทย ทั้งแกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ เส้นใย และกะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ส่าเหล้า ขยะมูลฝอย น้ำเสียจากโรงงาน หรือมูลสัตว์ต่างๆ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่แล้ว จึงมีศักยภาพสูงในการผลิตวัตถุดิบ

ในปี 2544-2545 ประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรทั้งสิ้น 48,293,260 ตัน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 9,630 เมกะวัตต์ นับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญโรงไฟฟ้าชีวมวลมีขนาดไม่ใหญ่มาก มลพิษจากการเผาไหม้น้อยกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

ด้วยปัญหาในการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทำให้โรงไฟฟ้าชีมวลที่เกิดขึ้น มีปัญหาตามมา เช่น กฎหมายกำหนดว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า  10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งช่องว่างของกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหา เช่นที่ จ.ร้อยเอ็ด มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์ ติดกันถึง 3 โรง ตั้งอยู่กลางชุมชนทำให้เกิด “ฝุ่นดำ” คือ ฝุ่นจากโรงไฟฟ้าที่มาจากการเผากองแกลบดำที่กองไว้ และกองแกลบที่กองเตรียมไว้สำหรับเข้าสู่กระบวนการผลิต สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะแหล่งน้ำจากชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเวทีให้ชุมชนสะท้อนปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นซึ่งกันและกันในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การขยายมุมมองการให้เหตุผลที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และให้เห็นว่าข้อบกพร่องของนโยบายนี้คืออะไร และจะช่วยกันแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะกรณีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น จ.ร้อยเอ็ด และ จ.สุรินทร์ รวมถึงช่วยกันแสวงหามาตรการป้องกันผลกระทบ เพื่อมิให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆอีก เช่น การพิจารณาความเหมาะสมที่ตั้งของพื้นที่ ที่อาจจะต้องควบคุมโดยข้อกำหนดของผังเมือง ความเหมาะสมของปริมาณวัตถุดิบที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดผลกระทบจากการขนส่ง หรือการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาประกอบในการให้ใบอนุญาต

 

ระดมสมองแก้ปัญหาระบบไฟฟ้าชีวมวลทั้งนโยบายและปฏิบัติ

 

น.พ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวในการปาฐกถาว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลมาจากแผนพลังงานทดแทน 15 ปี คือระหว่างปี 2551-2565  โดยเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 20 ให้เป็นพลังงานหลัก และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งชีวมวลจะสามารถทดแทนได้ถึงร้อยละ 44

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผนโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อลงมาสู่การปฏิบัติกลับมีปัญหาเกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดเจน เช่น แผนพลังงานระดับประเทศที่กำหนดไว้ ไม่ได้ถูกแปลงสู่แผนการปฏิบัติในระดับภาคและท้องถิ่นอย่างเหมาะสม รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างศักยภาพการผลิตพลังงานชีวมวลในแต่ละพื้นที่ กับความต้องการใช้พลังงานของชุมชนและแผนอุตสาหกรรม และสิ่งสำคัญคือ ศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

 

“วันนี้หลายพื้นที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นและมีปัญหาตามมา ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งคงต้องหันกลับมาร่วมมือกันแก้ปัญหาว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะช่วยกันแก้ปัญหาอย่างไร ชีวมวลไม่ใช่แค่พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่เป็นความอยู่รอดทั้งหมดของชุมชน ทุกคนต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง”

 

ทั้งนี้ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกฯ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยควรจะมีการวางแผนพลังงานพอเพียง โดยจำแนกเป้าหมายรวมของการผลิตชีวมวลของประเทศไทย และมีการจัดวางเป้าหมายในระยะเวลา 15 ปี มีผู้รับผิดชอบชัดเจน นอกจากนี้ท้องถิ่นควรมีการวางขอบเขตพลังงานอย่างที่ควรจะเป็น เพื่อการผลิตพลังงานสำหรับใช้ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการวางผังเมืองให้สอดคล้องกับการผลิตและใช้พลังงาน

คนร้อยเอ็ดทนทุกข์เกือบ 10 ปีกับโรงไฟฟ้า 3 แห่ง

 

จากนั้นเป็นการสะท้อนข้อมูลปัญหาต่างๆ ใน “เสียงจากชุมชน ผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าชีวมวล” หนึ่งในเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งที่สร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือ พื้นที่ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด นายภูริธน นามลักษณ์ ในฐานะตัวแทนจากชุมชน เล่าว่า ร้อยเอ็ดเริ่มมีโรงไฟฟ้าชีวมวล เมื่อปี 2544 เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกกะวัตต์ บริเวณพื้นที่ 200 ตารางเมตร มีโรงไฟฟ้าถึง 3 โรง และเดินเครื่องแบบไม่มีพักเครื่อง

กระทั่งปลายปี 2547 หลังจากโรงไฟฟ้าเปิดเดินเครื่องได้ประมาณ 2 ปี เกิดผลกระทบอย่างมาก มีฝุ่นละอองสีดำปลิวไปทั่วทั้งหมู่บ้าน ตกลงในจานข้าว เครื่องใช้ เสื้อผ้า โรงเรียนต้องหยุดเรียนหนึ่งสัปดาห์ ต้องสร้างหน้าต่างปิดในห้องเรียน นักเรียนต้องใส่ผ้าปิดจมูกเรียนหนังสือ แต่ชาวบ้านต้องอยู่ เพราะไม่ทราบว่าจะย้ายไปอยู่ไหน

ปัญหาที่เป็นช่องโหว่ของโรงไฟฟ้าชีวมวลคือ การกำหนดโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่มีการกำหนดจำนวนโรงในแต่ละพื้นที่ บทเรียนจากร้อยเอ็ดที่เกิดขึ้นคือ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลถึง 3 โรงในพื้นที่เดียวกัน แต่ละโรงมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ เป็นไปได้อย่างไรที่พื้นที่หนึ่งจะมีโรงไฟฟ้าถึง 3 โรง และที่สำคัญคือ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ไม่มีชาวบ้านในพื้นที่เข้าทำงานแม้แต่คนเดียว เพราะคนที่ทำงานในโรงไฟฟ้าต้องจบวิศวกรรมไฟฟ้าเท่านั้น

 

‘บางคล้า’โอดกระทบมะม่วงพันธุ์ดี-ขาดทุนมาแล้ว 3 ปี

 

ขณะที่ในพื้นที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่ประมาณ 474 เมกะวัตต์ น.ส.กอบมณี เลิศพิชิตกุล ผู้แทนชุมชน กล่าวว่า ปัญหาของพื้นที่บางคล้าคือ เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีสวนมะม่วง แต่ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้ผลผลิตมะม่วงลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมด นอกจากนี้น้ำบ่อตื้นในพื้นที่ยังใช้ไม่ได้อีกด้วย ในขณะที่กำลังจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นมาอีก ชาวบ้านบางส่วนขายที่ดินให้กับบริษัทแล้ว เพราะทำนาไม่ได้ ซึ่งเป็นผลกระทบที่โยงมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวล

 

“ชาวบ้านกังวลเรื่องน้ำ เพราะทุกวันนี้การใช้น้ำในพื้นที่เต็มศักยภาพแล้ว ถ้ามีโรงไฟฟ้าอีก น้ำจะไม่พอใช้ ตอนนี้น้ำบ่อตื้นแทบจะใช้ไม่ได้แล้ว แปดริ้วเป็นแหล่งปลูกมะม่วงแหล่งใหญ่ของประเทศไทย จากกำไรปีละ 800,000 บาท แต่ 3 ปีที่ผ่านมาขาดทุนตลอด”

 

อุบลฯยันไม่ได้ค้านแต่ศึกษาให้ดี อย่าแค่คิดเรื่องแพ้ชนะ

 

หลังจากเสียงสะท้อนจากผู้แทนชุมชนในพื้นที่เกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้ว ในเวทียังมีผู้แทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นด้วย

น.ส.สดใส สร่างโศก ผู้แทนจากอ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า บริเวณที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลมีพื้นที่ 150 ไร่ อยู่กลางหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ของนายทุนที่กว้านซื้อไว้แล้ว ชาวบ้านส่วนหนึ่งสนับสนุนให้มีการก่อสร้าง เนื่องจากบริษัทนำผู้นำชุมชนไปดูงาน พร้อมกับบอกว่า หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ชาวบ้านจะได้ขายแกลบ ใช้ไฟฟ้าฟรี และมีงานทำ

“ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านไม่เห็นด้วย เพราะโรงไฟฟ้าจะตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงไปดูงานที่จ.ร้อยเอ็ด และพบว่า คนที่นั่นเจ็บป่วย เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงจัดเวทีหาผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้กับชาวบ้าน หลังจากนั้นชาวบ้านจึงทำหนังสือคัดค้าน ขอให้มีการศึกษาข้อมูลมากกว่านี้”

 

น.ส.สดใสกล่าวต่อว่า แม้จังหวัดจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาถึงผลกระทบ และข้อดีข้อเสียของโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ในช่วงที่ประเทศกำลังเกิดความวุ่นวายทางการเมือง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ.ได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในจ.อุบลราชธานี ในขณะที่คณะทำงานที่จังหวัดตั้งขึ้นมา ยังไม่ได้มีการศึกษาความเหมาะสมแต่อย่างใด

 

“เราไม่ได้ต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่ควรคำนึงถึงชุมชนด้วย โรงไฟฟ้าจะอยู่กลางชุมชนได้อย่างไร  คณะกำกับกิจการพลังงานมีอำนาจในการสั่งปิดโรงไฟฟ้า ควรจะสั่งปิดที่จ.ร้อยเอ็ด เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ก่อนที่จะอนุมัติให้ก่อสร้างที่อื่น”

 

น.ส.สดใสกล่าวอีกว่า ชีวมวลเป็นเรื่องของอนาคต หากเราจะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนั้นวันนี้ยังมีเวลาเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูล ได้เรียนรู้ร่วมกันว่า หากเกิดปัญหาขึ้นจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ชาวบ้านไม่ได้ค้านโรงไฟฟ้า ที่สำคัญคือจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ทั้งธุรกิจและชุมชน การต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ใช่เรื่องของการแพ้ชนะ เรามีบทเรียนจากเขื่อนปากมูล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ยอมแพ้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องการแพ้ชนะ เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ถ้ากกพ.ยอมถอยหลังมาทบทวนกับปัญหาที่เกิดขึ้น

 

โวยโรงไฟฟ้าไม่จริงใจ-แจ้งจับชาวบ้าน‘เชียงราย’

 

เช่นเดียวกับที่จ.เชียงราย นายบุญซ่น วงศ์คำลือ ผู้แทนจากจ.เชียงราย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ บริษัทไม่เคยให้ข้อมูลกับชาวบ้าน แต่ส่งตัวแทนเข้ามาขอซื้อที่ดิน โดยอ้างว่า จะสร้างโรงสีข้าวและรับซื้อข้าว แต่ตอนหลังมายอมรับว่า จะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ชาวบ้านจึงลุกขึ้นคัดค้าน และถูกแจ้งข้อหาแล้ว 4 คดี

“หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุมัติโครงการ บริษัทไม่เคยเข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้าน ว่าโรงไฟฟ้าดีหรือไม่ดี แต่จะไปพบกับแกนนำชุมชน มีการโทรศัพท์มาข่มขู่ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย จนขณะนี้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านแล้ว 4 คดี โดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ล่าสุดศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โรงไฟฟ้าจึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ”

 

นายบุญซ่นกล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ตั้งเป้าคัดค้านโรงไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้าควรจะให้ข้อมูลผลดีผลเสีย การเข้ามาของโรงงานแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ และยังมีข้อมูลปัญหาจากโรงไฟฟ้า ในขณะที่ปัญหาหมอกควันในจ.เชียงราย เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไขไม่ได้  หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าอาจจะทำให้มีปัญหามลพิษเพิ่มมากขึ้น ทำให้วิถีชุมชนเปลี่ยนไปด้วย

 

‘ยะลา’แฉขอซื้อที่ดินอ้างปลูกปาล์มแต่มาสร้างขวางทางน้ำ

 

ด้านนายวีระ ภูพวก  ผู้แทนจากจ.ยะลา กล่าวว่า ยะลามีโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 โรง กำลังการผลิต 9.9 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ระหว่าง 2 หมู่บ้านขวางทางเดินของน้ำ ทำให้น้ำท่วมสูงประมาณ 6 เมตรทุกปี และยังมีปัญหาฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าใหม่กำลังจะสร้างในที่พักน้ำของชุมชน และหากมีการก่อสร้างจริง ชุมชนจะเดือดร้อนมาก

 

“ยะลาเหมือนกับที่อื่นๆ คือบริษัทไม่เคยบอกความจริงว่า จะมาสร้างโรงไฟฟ้า แต่บอกว่าซื้อที่ดินเพื่อทำสวนปาล์ม ไม่มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่เคยมีนักวิชาการลงมาให้ความรู้กับชาวบ้าน”

นักวิชาการชี้อุตสาหกรรมสกปรกจะมากขึ้น

 

ดร.ชัชวาลย์ จันทรวิจิตร อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากหลายด้าน มีทั้งเชิงนโยบายจากภาครัฐ และระดับโครงสร้าง ทั้งนี้ในระดับนโยบายไม่ได้มีการเตรียมตัวรับมือกับอุตสาหกรรม ในขณะที่อุตสาหกรรมจะเกิดกับประเทศเรามากขึ้น ประเทศที่เจริญแล้ว จะไม่ทำโครงการที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นอุสาหกรรมที่สกปรกจะมาประเทศไทยมากขึ้น โรงไฟฟ้าชีวมวลจะเกิดขึ้นตามความจำเป็นในด้านพลังงาน และจะต้องมีเกิดขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมการรองรับ เช่น เทคโนโลยี การจัดการความรู้ และโครงสร้างองค์กรรองรับ กฎหมาย กฎเกณฑ์ ที่ผ่านมาปัญหาที่พบคือ การจัดการที่ไม่เหมาะสม คือเมื่อมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ชาวบ้านจะร้องเรียนกับท้องถิ่น ท้องถิ่นจะส่งต่อมาที่จังหวัด จังหวัดจะส่งให้กระทรวงที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อน

 

“ที่ผ่านมาเป็นเพราะโครงสร้างไม่สมดุลทำให้เกิดปัญหา หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิด แต่ไม่มีโครงสร้างหน่วยงานที่ควบคุมมารองรับ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันรองรับไม่ได้ ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานที่ดูแลและจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่หน่วยงานสนับสนุนและคัดค้าน ป้องกันอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน”

 

แนะต้องทำอีไอเอตั้งแต่ 1 เมกกะวัตต์ หนุนกำหนดเป็นกิจกรรมอันตราย

 

ทางด้าน นายศุภิจ นันทะวรการ  นักวิชาการด้านพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมด 306 โครงการ ในจำนวนนั้น 297 โครงการ ที่ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งใน 306 โครงการนี้มีทั้งที่สร้างแล้ว   อนุมัติให้สร้าง และโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณา

นายศุภกิจกล่าวถึงข้อเสนอสำหรับการพิจารณาอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในหลายประเด็น ประเด็นสำคัญคือเรื่องผังเมือง โดยระบุว่า พื้นที่ใดที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ควรจะพิจารณาให้สอดคล้องกับร่างผังเมืองรวมของพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน นอกจากนี้ยังมีประเด็นระยะห่างที่กำหนดในระเบียบข้อบังคับ โดยกำหนดว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องห่างจากคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรในระยะ 100 เมตร แต่ไม่มีการกำหนดระยะห่างกรณีของชุมชน ซึ่งควรจะมีการกำหนดให้เป็นมาตรฐานเพื่อบังคับใช้ก่อนพิจารณาอนุมัติโครงการด้วย

 

“ที่สำคัญควรปรับข้อกำหนดการจัดทำอีไอเอจากเดิมโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ไม่ต้องทำอีไอเอ ควรเปลี่ยนเป็นต้องทำอีไอเอตั้งแต่ 1 เมกกะวัตต์ รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรปรับข้อกำหนดให้โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นกิจกรรมที่เป็นอันตราย ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขด้วย”

 

นอกจากนี้ควรสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในพื้นที่ ด้วยการวางแผนพลังงานของจังหวัดร่วมกัน โดยความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ ประชาชน เอกชน หน่วยงานราชการ ภาควิชาการ เพื่อกำหนดแนวทางพลังงานของจังหวัด ก่อนจะตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

จี้รัฐบาลกำหนดกฎระเบียบ-หลักเกณฑ์ให้ชัดเจน

 

ด้านนายสงกรานต์  ป้องบุญจันทร์  นักกฎหมาย จากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากที่ได้ฟังจากประชาชนในพื้นที่ สรุปได้ว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ ตั้งแต่ก่อนที่จะก่อสร้าง โดยเฉพาะการเลือกพื้นที่ในการก่อสร้าง ชาวบ้านเห็นว่าพื้นที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่หน่วยงานของรัฐและบริษัทที่จะก่อสร้างเห็นว่าควรสร้างในพื้นที่นั้น ในที่สุดชาวบ้านแพ้ ซึ่งเป็นการมองความเหมาะสมของพื้นที่จากคนละมุม คนกลางที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินคือกฎหมาย

 

“ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่หลายแห่ง มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่การสรุปหลังจากนั้นจะมี 3 แนวทางที่เห็นได้คือ พื้นที่เห็นด้วยและตกลงให้มีการก่อสร้าง พื้นที่ไม่เห็นด้วยจึงไม่มีการก่อสร้าง ข้อสุดท้ายคือ พื้นที่ไม่เห็นด้วยแต่หน่วยงานของรัฐคิดว่าปัญหาของชาวบ้านสามารถแก้ไขได้ จึงอนุมัติให้สร้าง อันนั้นจะเป็นปัญหา”

 

ส่วนปัญหาที่เกิดหลังจากมีโรงไฟฟ้าแล้ว มาจากการที่ไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มแข็งจากหน่วยงานรัฐ  ทำให้โรงไฟฟ้าลดต้นทุนการผลิต ผลกระทบจึงเกิดขึ้น นอกจากนั้นเข้ามาแก้ไขของหน่วยงานรัฐ ต้องเป็นกรณีที่ใหญ่และชัดเจน เช่น ขุดดินบ้านถล่ม แต่เพียงเรื่องฝุ่นละออง หน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

นายสงกรานต์กล่าวอีกว่า กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับในการดำเนินโรงไฟฟ้าชีวมวลยังเป็นปัญหา เช่นการพิจารณาพื้นที่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ในขณะที่ผู้อนุมัติอนุญาตไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาตัดสินอนุมัติโครงการ โดยกฎหมายให้อำนาจ ที่ผ่านมายังไม่มีพื้นที่ไหนที่จะเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ทุกพื้นที่ที่เกิดปัญหา ควรจะทำข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายกฎเกณฑ์ ในการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลให้ชัดเจน อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการ

เจ้าของโรงไฟฟ้าชี้ควรทำอีไอเอ-เลือกพื้นที่โดยชุมชน

 

ด้าน นายนที สิทธิประศาสตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์  จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.พิจิตร กล่าวว่า ปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆนั้น ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ แต่ขณะเดียวกันไม่ควรโทษเอกชนทั้งหมด เนื่องจากข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเมื่อไม่มีกฎเกณฑ์ ผู้ประกอบการจึงคำนึงถึงกำไรเป็นตัวตั้ง

 

“ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าชีวมวล เห็นว่าทุกโครงการควรจะทำอีไอเอ แม้ว่าอาจจะเป็นเครื่องมือที่ไม่มีความหมาย แต่ยังเป็นกรอบทางกฎหมายที่ครอบคลุมบ้าง และที่สำคัญคือ การเลือกพื้นที่ที่เป็นปัญหามาก เอกชนไม่มีปัญหาหากรัฐจะเป็นผู้เลือกพื้นที่ให้ รัฐควรจะรับภาระในส่วนนี้ ด้วยการดูผังเมือง คุยกับคนในชุมชน ทั้งข้อดี ข้อเสีย และปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยให้เอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องจริงใจ โปร่งใส พูดความจริงกับชาวบ้าน ไม่ใช่ไปกว้านซื้อที่ดิน และบอกกับชาวบ้านว่าจะทำโครงการเกษตร แต่กลับสร้างโรงไฟฟ้า”

 

ขณะที่ ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน นางวิจิตร ชูสกุล เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้สุรินทร์มีโรงไฟฟ้าแล้ว 2 โรง และกำลังจะเกิดขึ้นอีก 8 โรง จากการทำวิจัยในพื้นที่ สำรวจแกลบพบว่าแกลบที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแล้ว และเป็นต้นทุนที่มีราคาถูก ซึ่งทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้ามองข้ามความเป็นคนในพื้นที่ ประชาชนมีส่วนร่วมเพียงตอบคำถาม แต่ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ สุดท้ายนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สร้างได้แต่มีแนวทางแก้ไข เราพูดถึงชีวมวล พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และต้องพูดถึงความเป็นธรรมของชุมชนด้วย เรารู้สึกเศร้าใจกับสิ่งที่คิดว่าเป็นทางเลือก เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปไม่ถึงกระบวนการตัดสินใจ

ผังเมืองมั่วสับสนพื้นทีสร้างโรงไฟฟ้าทับที่ทำกิน

 

ด้านนางภารณี สวัสดิรักษ์ เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เกิดขึ้นแล้วที่มีทั้งที่ยังไม่ได้ผลิต ที่ได้รับการลงนามสัญญา และที่กำลังยื่นเรื่องขออนุญาตใหม่ ได้ขยายตัวเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชนเกษตร จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการจัดการพื้นที่ และกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้ชุมชนและการพัฒนาพลังงานทางเลือก สามารถดำเนินต่อไปโดยไม่ส่งผลกระทบต่อกันในทุกด้าน แม้ว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลจะไม่ได้ถูกกำหนดพื้นที่ในผังเมืองก็ตาม แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลจัดเป็นกิจกรรมอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสามารถอยู่ในพื้นที่สีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามพบว่า ผังเมืองรวมจังหวัดที่ประกาศใช้แล้ว และอีกหลายจังหวัดที่รอการประกาศใช้ บางจังหวัดห้ามไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่อุตสาหกรรม หมายความว่า ไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนพักอาศัยและพื้นที่ชนบทเกษตรกรรม ในขณะที่บางจังหวัด ผังเมืองกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าได้ ในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม โดยไม่ระบุบริเวณที่ให้ทำได้ การกำหนดผังเมืองที่ไม่ชัดเจนและเปิดกว้างแบบนี้ จะเป็นช่องว่างทางผังเมือง ที่จะก่อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมและส่งผลกระทบต่อชุมชนในที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: