เหยื่อเหมืองทอเตรียมอุทธรณ์ หลังศาลสั่งยกเลิกประทานบัตร แต่ยังเดินหน้าต่อ

29 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2899 ครั้ง

 

หลังจากศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา พิพากษาคดีดำเลขที่ 228/2553 คดีแดงเลขที่ 163/2555 ระหว่าง น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ผู้ฟ้อง และจำเลยรวม 5 คน ประกอบด้วย รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก เมื่อปลายปี 2553 โดยมีบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ร้องสอด

จากกรณีปัญหาจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ ที่ดำเนินการอยู่ในบริเวณใกล้เคียงชุมชน ทำให้ชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี ทั้งเสียงดัง มีฝุ่นฟุ้งกระจายจากการระเบิดหินอย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน น้ำดื่มน้ำใช้ไม่สามารถใช้น้ำสาธารณะได้ดังเดิม และชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ชาวบ้านจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2553 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯ จำนวน 5 แปลง คือ ประทานบัตรที่ 26917/15804, 26923/15808, 26920/15807, 26922/15805, 26921/15806 เนื่องจากประทานบัตรดังกล่าวนี้อนุญาตออกมาโดยมิชอบ เพิกถอนใบอนุญาตของกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและเหมืองแร่เงิน และเพิกถอนมติสภาอบต.เขาเจ็ดลูก ลงวันที่ 3 มิ.ย.2548 อีกทั้งมีการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง 5 แปลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราวก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

ตุลาการเจ้าของสำนวนได้อ่านคำพิพากษา ให้ถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ลงวันที่ 29 ธ.ค.2552 ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนด 1 ปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก

นายเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์  ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึง คำพิพากษา คดีฟ้องเพิกถอนประทานบัตรบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด โดยให้บริษัทฯ จัดรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ภายใน 1 ปี ว่า จากคำตัดสินแม้ศาลจะให้เพิกถอนประทานบัตร แต่ก็มีเงื่อนไข และในระยะเวลา 1 ปีนี้ ยังเปิดให้มีการดำเนินการในพื้นที่ได้ ซึ่งควรให้เพิกถอนประธานบัตรและให้ยุติการทำเหมืองในแปลงประทานบัตรน่าจะถูกต้องกว่า เพื่อหยุดยังผลกระทบที่เกิดกับชุมชน ทั้งนี้หลังศาลมีคำตัดสิน ชาวบ้านมีเวลา 30 วันในการเตรียมข้อมูลเพื่อยื่นอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวต่อไป

นายเลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ในพื้นที่บริษัทยังยืนยันสิทธิโดยชอบ ในการดำเนินงานตามปกติ จนกว่า EHIA จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ใน 1 ปีนี้ ซึ่งตามการพิจารณาคดีแม้ศาลเห็นว่า การออกประทานบัตรนั้นไม่ชอบ เพราะยังไม่ทำ EHIA ตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 67 วรรค 2 ดังนั้นจึงต้องทำให้กระบวนการถูกต้องชอบธรรม แต่ก็มีการให้เหตุผลว่า หากมีการเพิกถอนประทานบัตรจะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายทั้งต่อบริษัทฯ เงินรายได้ของรัฐ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ที่เคยได้รับประโยชน์จากการทำเหมือง อีกทั้งตามคำร้องเรื่องสารปนเปื้อนในน้ำสาธารณะ ศาลระบุว่าได้มีการตรวจวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว พบว่าคุณภาพน้ำมีปริมาณปนเปื้อนต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด จึงไม่เป็นเหตุให้เพิกถอนประทานบัตร

นายเลิศศักดิ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ มีการยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่มีการขยายโรงแต่แร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจากผลกระทบต่างๆ ที่สะสมมาจนเห็นชัดเจนขึ้น ทำให้ความคิดให้การต่อต้านเหมืองแร่ดังกล่าวแผ่ขยายวงกว่างมากขึ้น

ด้านนายปกรณ์ สุขุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงทำเหมืองตามปกติ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้มาตรฐานระดับโลก อีกทั้งได้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แม้จะเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมาก่อนที่รัฐบาลจะออกประกาศดังกล่าวแล้วก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วพอสมควรคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาที่ศาลกำหนด

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองพิษณุโลกได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นว่าแปลงประทานบัตร จำนวน 4 แปลง ควรให้บริษัทฯ ผู้ร้องสอด ไปดำเนินการทำ HIA ภายใน 1 ปี ให้เรียบร้อยก่อน เพราะถือว่าเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถ้าภายใน 1 ปี บริษัท ผู้ร้องสอดไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก็ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 4 แปลง แต่แปลงบนเขาหม้ออีก 1 แปลงนั้นไม่ควรเพิกถอน เพราะจะมีผลกระทบกับบริษัทที่ได้ลงทุนทำไปแล้ว และไปกระทบกับค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทได้จ่ายให้กับรัฐไปแล้ว

สำหรับ เหมืองทองของบริษัท อัคราไมนิ่ง ได้รับประทานบัตรทำเหมืองในเขตพื้นที่รอยต่อจ.พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา มีชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องเสียง ฝุ่นละออง และน้ำใต้ดิน โดยมีความกังวลสงสัยว่า จากการดำเนินการของเหมืองดังกล่าวมีการปล่อยสารพิษ เช่น สารหนู สารปรอท และไซยาไนด์ ลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และน้ำใต้ดิน ทำให้ชาวบ้านที่เคยทำนาปีละ 1-2 ครั้ง ไม่สามารถทำนาได้แล้วในปัจจุบัน ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองดังกล่าว ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ทั้งจังหวัด คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ว่าจะมีการเข้ามาตรวจสอบบ้าง แต่เรื่องก็ไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขจนต้องนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: