ศศินชี้นักอนุรักษ์ยังจำเป็น ธนาธรแนะผลักทุนปรับตัว

27 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2271 ครั้ง

 

ร้านหนังสือ Book Re:public เชียงใหม่ จัดห้องเรียนประชาธิปไตย ครั้งที่ 4 : สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย ข้อถกเถียง โดย ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะนักอนุรักษ์ซึ่งเป็นที่สนใจของคนหนุ่มสาว และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เป็นนักธุรกิจหนุ่ม ผู้เคยผ่านงานกิจกรรมในขบวนการนักศึกษา

 

 

‘ประชากรเพิ่ม-รายได้สูง-บริโภคมาก-สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย’ ห่วงโซ่การพัฒนาในกระแสโลก

 

 

ธนาธรกล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในกระแสโลกร้อน ซึ่งไปไกลกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา ไปสู่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับชาติและระดับโลกด้วย จากความเปลี่ยนแปลงของโลกในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตของจำนวนประชากรสูงขึ้น รายได้ต่อหัวของประชากรสูงขึ้น ส่งผลต่อความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตสูงขึ้น และต้องมีการใช้ทรัพยากรพื้นฐาน ที่ดิน น้ำ พลังงาน ฯลฯ ในการผลิตเพื่อป้อนความต้องการที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศไทย คือปัญหาการนำทรัพยากรมาใช้อย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยทรัพยากรถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของคนเมือง เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อนผลิตไฟฟ้า ขณะที่ปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาตกไปอยู่กับคนในชนบท

 

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาความต้องการพลังงานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ยิ่งอนุรักษ์ผลกระทบยิ่งกลับไปอยู่ที่คนจน ย้ำทางเลือกนโยบายไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

 

 

ธนาธรยกตัวอย่าง กรณีพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันไฟฟ้ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ไทยใช้ มาจากถ่านหินซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสกปรกที่สุดในโลก และยังมีปัญหาของการคัดค้านไม่ว่ากรณีถ่านหิน เขื่อน นิวเคลียร์ ขณะที่ความสามารถในการผลิตพลังงานแต่ละประเภทในแต่ละพื้นที่มีไม่เท่ากัน รวมทั้งต้นทุนการผลิตพลังงานต่างกัน พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มีราคาแพงและจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล การที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลาย ๆ คน หลาย ๆ แนวทาง พยายามจะบอกว่า ต้องการเพียงพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ตรงนี้เท่ากับตัดให้คนจนไม่มีสิทธิเข้าไปใช้ชีวิตสะดวกสบาย เนื่องจากผลคือค่าไฟจะแพงขึ้นหากต้องการไปถึงสังคมสีเขียว

 

 

                  “ถ้าคุณบอกว่าไม่เอาพลังงานเลยผลิตไฟฟ้าได้ 100 ก็ใช้ได้ 100 แล้วคนที่อยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เหมือนอย่างคนกรุงเทพจะทำอย่างไร เขาจะเอาไฟที่ไหนใช้ คนกรุงเทพฯ ใช้ไฟน้อยลงหรือเปล่า” ธนาธร ตั้งตำถาม

 

 

ในกรณีอุตสาหกรรมรถยนต์ มีความคิดตอบสนองต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งการทำให้เครื่องยนต์วิ่งได้ไกลขึ้นโดยใช้พลังงานเท่าเดิม ซึ่งรถรุ่นใหม่ที่ลดการปล่อยคาร์บอน แต่ตรงนี้ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปล่อยคาร์บอนอยู่ดี

 

ส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio-fuel) ซึ่งมาจากพืชก็ต้องการพื้นที่จำนวนมาก เพื่อการเพาะปลูกจะกระทบกับพื้นที่ปลูกพืชอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัด และจะส่งผลให้ราคาอาหารแพงขึ้นได้ สำหรับทางเลือกในการใช้รถไฟฟ้านั้น รถไฟฟ้ามีราคาแพงเป็น 2 เท่าของรถทั่วไป หากทางนโยบายเลือกสนับสนุนตรงนี้ จะเป็นปัญหาต่อการเคลื่อนที่อย่างอิสรเสรีของคนชั้นล่างและคนชั้นกลาง ขณะที่ไฟฟ้าต้องมีแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าเช่นกัน

 

หรือกรณีการใช้ไฮโดรเจนเซลล์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับรถยนต์ที่เป็นพลังงานสะอาด ราคารถยนต์จะอยู่ที่คันละ 6 ล้าน เราพร้อมที่จะประกาศนโยบายนี้ใช้ไหม หากจะเป็นผู้นำด้านความเขียว ความขาวสะอาดของสิ่งแวดล้อม แต่จะทำให้คนมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศนี้จะเข้าถึงรถยนต์ไม่ได้

 

 

                “สิ่งสำคัญ ถ้าเรา Enforce ความเขียวมากขึ้นเท่าไหร่ ผลกระทบมันจะกลับไปอยู่ที่คนที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อยกว่ามากขึ้นเท่านั้น คุณต้องเลือก ดังนั้นพอพูดถึงเรื่องเขียว มันไม่ได้เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว มันมีเรื่องนโยบายเข้ามาเกี่ยว มันเป็นเรื่องของการเลือกนโยบายแล้วว่า คุณจะเอาเขียว เขียวขนาดไหน อย่างไร มันไม่ได้ง่ายและเบ็ดเสร็จขนาดนั้น ในการตอบเรื่องการพัฒนากับสิ่งแวดล้อม ความสมดุลของสิ่งต่างๆ เหล่านี้คืออะไร” ธนาธรกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มายาคติต่อต้านทุนนิยม-กิจกรรมต้านบริโภคนิยม สิ่งประโลมใจที่ไม่ได้แก้ปัญหาจริง

 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกแนวความคิดหนึ่งที่ว่า เราทุกคนตกอยู่เป็นทาสของลัทธิบริโภคนิยมที่ทำให้คนมีความต้องการมากขึ้น บริโภคมากขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้น เบียดบังสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกิดการมองว่าการพัฒนาเป็นเรื่องความโลภ มายาคติ ค่านิยมจากต่างประเทศที่รุกล้ำพรมแดนความเป็นไทย วัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียง วัฒนธรรมชุมชนที่อยู่กันอย่างสุขสบายมานับร้อยปี คนไทยแต่ก่อนไม่มีความต้องการเกินตัว กลายเป็นมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเอามาต่อต้านกับกระแสการบริโภคนิยม 

 

นอกจากนั้นการต่อต้านการพัฒนา ยังมีรูปแบบของกิจกรรมรณรงค์ เช่น การหยุดขับรถมาปั่นจักรยาน วันปิดทีวีแห่งชาติ หรือการปฏิเสธลัทธิบริโภคนิยม ด้วยการรงค์ใช้กระดาษรีไซเคิล บริโภคผักปลอดสารพิษ ไม่ซื้อเสื้อผ้าที่มาจากโรงงานใหญ่ๆ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกชั่วครู่ว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้น รู้สึกว่าตัวเองมีความสูงส่งทางศีลธรรมมากกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาจริง

 

 

                “ผมเคยเป็นมาก่อนนะ แต่ก่อนเคยสะพายย่าม ไว้ผมยาว ใส่รองเท้าแตะ เรารู้สึกว่าใช้ชีวิตแบบนี้เราเป็นคนดีขึ้น มันเท่ มันอะไรสักอย่าง แต่ถ้าคุณไม่เข้าไปแก้ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ต่อให้คุณแต่งตัวหรือเสพย์ของแบบนั้นเท่สักเท่าไหร่ก็ไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้”  ธนาธรกล่าว

 

 

ระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ดีกว่าการกลับไปสู่ระบบศักดินา

 

 

ธนาธรกล่าวด้วยว่า การปฏิเสธลัทธิบริโภคนิยม จะทำได้ต้องปฏิเสธทุนนิยม เพราะความต้องการบริโภคเกิดจากแรงกระทำจากภายนอก ที่ต้องเกิดขึ้นโดยความต้องการแสวงหากำไรที่มากขึ้น ขณะที่การปฏิเสธการบริโภคสินค้าส่วนเกินในมุมกลับจะส่งผลกระทบทำให้คนในสายการผลิตจำนวนมากต้องตกงาน เพราะการบริโภคในสังคมทุนนิยมคือการทำให้เกิดการจ้างงาน คำถามคือเราเอาการจ้างงานไหม

 

 

                     “ในสังคมที่คุณจะต้องสะสมทุนในระดับปัจเจกเพื่อเอาชีวิตรอด เพื่อซื้อข้าวมื้อต่อไป เพื่อผ่อนบ้าน ผ่อนรถ คุณต้องการงานไหม ถ้าคุณต้องการงาน พูดให้ถึงที่สุดก็คือคุณต้องบริโภคให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ไม่บริโภค” ธนาธรกล่าวถึงความซับซ้อนของการแก้ปัญหาระบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามระบบทุนนิยมประชาธิปไตยก็ถือเป็นระบบที่ดีที่สุดที่มีในปัจจุบัน ดีกว่าการกลับไปสู่ระบบศักดินา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักสิ่งแวดล้อมจำยังเป็น ทั้งต้องผลักดันวาระทางการเมือง

 

 

ในประเด็นความสัมพันธ์ของประชาธิปไตยกับสิ่งแวดล้อม ธนาธรกล่าวว่า ทิศทางของการปกครองในสังคม ระบอบประชาธิปไตย ควรเข้าไปในวงที่ยิ่งเล็กยิ่งดี ลงไปในระดับ อบต. อบจ. แล้วให้คนในพื้นที่ตัดสินใจกันเองในการจัดสรรทรัพยากร และผลประโยชน์ต้องอยู่ที่เขาหากเขาต้องเสียสละ ไม่ใช่ต้องเสียสละเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนกรุงเทพฯ

 

ยกตัวอย่างกรณีโครงการเขื่อนแม่วงก์ ต้องให้คนในท้องถิ่นวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจในสิ่งที่ต้องสูญเสียและได้รับ แล้วตัดสินใจเองว่าจะเอาเขื่อนนี้หรือไม่ รัฐจากส่วนกลางในกรุงเทพฯ ไม่ควรมีสิทธิเข้าไปจัดการ คิดแทนและไปจัดสรรทรัพยากรแทนเขา ในขณะที่คนในพื้นที่ไม่ได้อะไรอย่างที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต

 

ธนาธรกล่าวด้วยว่า สำหรับตนเห็นว่า คนทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องมีในสังคม และส่วนตัวต้องการป่าสีเขียว มีความหลากหลายทางชีวภาพ แม่น้ำสะอาด ให้ชาวบ้านกับป่าอยู่กันอย่างสมดุล อยู่กันอย่างมีความสุข ฯลฯ แต่ว่าในเรื่องจุดคุ้มทุนหรือความสมดุลไม่มีใครตัดสินแทนใครได้ ตรงนี้ต้องมีกลไก และตรงนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่สำคัญ การยกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมต้องทำระดับนักการเมืองและระดับชาติด้วย ส่วนข้อเรียกร้องทางสิ่งแวดล้อมต้องทำเป็นวาระทางการเมือง

 

นอกจากนี้ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาเพียงระดับชาติ แต่เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค และระดับโลกด้วย เช่น กรณีจีนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ซึ่งกระทบต่อประเทศท้ายน้ำ แต่ไม่มีใครกล้าไปค้านจีน หรือการที่ประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายใช้เทคโนโลยีสีเขียวไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ผลคือทำให้ต้นทุนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น  สินค้าราคาสูงขึ้นส่งออกไม่ได้ ทำให้คนตกงาน ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายเช่นนี้เพียงประทศใดประเทศหนึ่งทำไม่ได้ เพราะเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกที่ต้องมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน

 

 

เผยทุนไม่เคยปรับด้วยตัวเอง แนะภาคประชาสังคมร่วมกับรัฐผลักดันการเปลี่ยนแปลง

 

 

ธนาธรกล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญคือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลัง 3 กลุ่ม คือ รัฐ ทุน และภาคประชาสังคม ซึ่งภาคประชาสังคมสามารถร่วมกับรัฐเพื่อจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยกดดันให้ทุนต้องรับผิดชอบต้นทุนการผลิตในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ที่ผ่านมาทุนจะมีการวิวัฒนาการเรื่องนี้ แต่ทุนไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของมันเอง แต่จะมีเมื่อถูกกฎหมายบังคับและถูกเรียกร้องจากสังคมภายนอก

 

การที่ทุนในปัจจุบันปรับเปลี่ยนก็เป็นเรื่องคาร์บอนเครดิต โดยมีการใช้กลไกตลาดเอามาจัดการ ให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กลไกตรงนี้ดีหรือไม่เป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดตรงนี้มาจากการผลักดันของภาคประชาสังคม อีกทั้งการที่จะทำให้ทุนเพียงรายใดรายหนึ่งปรับเปลี่ยนนั้นเป็นไปได้ยาก ต้องใช้กฎหมาย และคนที่จะผลักดันให้เกิดกฎหมาย คือองค์กรภาคประชาสังคมที่ผลักดันประเด็นไปในระดับรัฐ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักอนุรักษ์ไม่ปะทะ แค่ทำหน้าที่ ‘หน่วง’ การพัฒนา

 

 

ศศินยกตัวอย่างถึงกรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีนว่า การสร้างเขื่อนก่อนเกิดน้ำท่วมเมื่อปี 2554 จะพูดเรื่องน้ำความต้องการน้ำในอีก 20 ปี ซึ่งการคาดการณ์ไม่ต่างกับการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้า ความต้องการอาหารที่นับเอาจากหัวประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจที่เติมโตขึ้น และแผนการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น

 

ในกรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีนมีแผนการจัดการลุ่มน้ำโดยแบ่งพื้นที่ตามศักยภาพน้ำ โดยเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ และตรงนี้จะถูกนำมาใช้เขียนโครงการและตั้งงบประมาณในการจัดการน้ำในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำโดยการสร้างเขื่อนหรือทำระบบแจกจ่ายน้ำ ทั้งที่แต่ละพื้นที่มีศักยภาพตามธรรมชาติไม่เท่ากัน ซึ่งสำหรับเขาเห็นว่าการพัฒนาเพื่อให้ทุกพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่อาจตั้งโจทย์ไว้ว่าจะทำอย่างไรให้คนสามารถอยู่ในพื้นที่ได้โดยอยู่ดีกินดีและมีเศรษฐกิจดีเท่าคนในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมาก

 

ศศินกล่าวว่า ตนเปลี่ยนจากนักวิชาการที่สอนให้เด็กสร้างเขื่อนและตัดถนนมาทำในสิ่งที่ชอบ และคิดว่าต้องมีใครสักคนที่รักษาสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ บางเรื่องที่เชื่อว่าควรต้องรักษาไว้ อย่างป่าไม้ในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งมันก็เป็นการหน่วงดึงไว้ ไม่ใช่การปะทะ หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อมาแล้ว ก็ให้เหลือเขื่อนแก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่วงก์ เพื่อเก็บพื้นที่ป่าเอาไว้ให้เสือที่ห้วยขาแข้งกระจายไปแพร่พันธุ์ ประมาณ 17 ตร.กม. และเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับกรมชลประทาน ซึ่งชนชั้นกลางในเมืองรับกระแสนี้ ช่วยกันต้านเขื่อนจำนวนมาก

 

 

                 “เราไม่ปฏิเสธนะครับว่า วันนี้ที่เราได้แชมป์โลกในการส่งออกข้าว เราได้มาจากเขื่อน ถ้าไม่มีเขื่อนต่าง ๆ เหล่านี้เราไม่ได้แชมป์โลกการส่งออกข้าวหรอก เพราะว่าจะต้องทำนาปีละ 3-4 ครั้ง ต้องอาศัยการเก็บน้ำจากเขื่อน แต่ประเด็นของการอนุรักษ์วันนี้ก็คือว่า มันเยอะขนาดขึ้นแท่นแชมป์โลกแล้ว หยุดไหม หยุดคือ ไม่ได้หยุดจากการเป็นแชมป์โลก แต่เราขึ้นมาถึงตรงนี้แล้ว เราหันมาว่า เรามาเก็บตรงนี้ เก็บที่ไว้ให้สิ่งมีชีวิตประเภทอื่น” ศศินกล่าว

 

 

รับ ‘แช่แข็ง-กลับไปอยู่ในยุคหิน’ ไม่เกิด เสนอแค่อยู่เท่าที่มีอยู่

 

 

ศศินเล่าด้วยว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนการพัฒนาเขื่อนไม่มีใครคัดค้าน แต่เมื่อคุณสืบ นาคะเสถียร ในฐานะหัวหน้าโครงการช่วยชีวิตสัตว์ป่า ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน และคุณโจ๋ย บางจาก (สันติธร หุตาคม) บันทึกภาพมาเผยแพร่ จากนั้นเรื่องอนุรักษ์ได้ไปกระทบกับชนชั้นกลาง ทำให้รู้ว่าการสร้างเขื่อนส่งผลต่อสัตว์ป่า อีก 2 ปีต่อมาเมื่อต้องสู้กับเขื่อนน้ำโจน คนเมืองกาญจนบุรี ก็ลุกขึ้นมาคัดค้าน โดยประเด็นหลักคือกลัวแผ่นดินไหว ทำให้ยุติการก่อสร้างไป หลังจากนั้นประเทศไทยก็ไม่เคยสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าสมบูรณ์อีกเลย ซึ่งเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนแก่เสือเต้นก็มีการยื้อกันมายาวนาน

 

ส่วนเหตุที่ต้องจริงจังในการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนแก่งเสือเต้น ศศินกล่าวว่า เพราะถ้าวันนี้ปล่อยเขื่อนทั้ง 2 แห่งให้เกิดขึ้น จะเป็นการเปิดให้แนวคิดการสร้างเขื่อนที่กระทบป่าสมบูรณ์และสัตว์ป่าให้กลับมาอีกครั้ง และจะเกิดเขื่อนเล็กเขื่อนน้อยขึ้นไปในพื้นที่ป่า มันจะไม่ใช่แค่ 2 เขื่อนนี้ ฝ่ายอนุรักษ์แพ้แน่นอน

 

 

 

 

    “มันไม่ใช่เรื่องของการว่าจะกลับไปอยู่ในยุคหิน หรือการกลับไปไม่พัฒนา หรือการแช่แข็งมันไม่ใช่แล้ว เพราะวันนี้มันมากไกลถึงขั้นที่มันเกินนความสุข สะดวก สบายแล้ว มันเป็นอะไรที่น่าจะอยู่เท่าที่อยู่นี่ผมคิดว่ามันก็สบายดีอยู่แล้ว ส่วนคนที่คิดว่ามันยังไม่พอก็ไม่เป็นไร ก็คิดไม่เหมือนกันได้ แต่โลกน่าจะสมดุลนะ ถ้ามันมีการดึงกันไว้บ้าง” ศศินกล่าว

 

 

 

 

‘อนุรักษ์เพื่อโลก’ ชุดความรู้สู้ ‘การพัฒนา’

 

 

ศศินกล่าวด้วยว่า การคิดในเรื่องสิ่งแวดล้อม ในเรื่องประโยชน์ นักสิ่งแวดล้อมจะตัดสินบนชุดความรู้อีกชุดหนึ่ง เช่น การเก็บเสือไว้เป็นมรดกโลก ซึ่งตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยขนาดเล็กที่ให้คนท้องถิ่นจัดการ ซึ่งในเรื่องแม่วงก์ก็ยอมรับว่านักอนุรักษ์ไปคิดแทนคนในพื้นที่จริง ๆ คิดแทนว่าต้องพื้นที่เก็บป่าส่วนรวมเอาไว้ซึ่งไมใช่เฉพาะของ อ.ลาดยาว แต่พูดถึงส่วนรวมของชาติ และมองไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งถ้ายึดโยงเอาความรู้ของนักอนุรักษ์ที่เขียวกว่าตนเองเช่น WWF ก็มีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่อ้างได้ มันก็เป็นประเด็นที่ต้องมีการปะทะกันทางชุดความรู้นี้ด้วย สำหรับกรณีคนที่ได้รับประโยชน์จากการพื้นที่ชลประทานจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นักอนุรักษ์ก็นำข้อมูลใน EIA มาต่อสู้ เพื่อดูความสมเหตุสมผลของโครงการ เพราะภาพรวมการพัฒนาของประเทศมันก็ต้องมีการคนถ่วงดุลตรวจสอบ ในระบบประชาธิปไตยตรงนี้ก็ต้องมี

 

โจทย์ใหญ่ที่สนใจคือการที่บอกว่าคน จ.สุโขทัย และพิจิตร ที่อยู่ห่างไปอีกประมาณ 200 กิโลเมตร ไม่ควรให้คนสะเอียบย้ายที่อยู่ และเปลี่ยนวิถีชีวิตวิถีชุมชน โจทย์นี้กรมชลออกแบบแก้ไขสำเร็จ โดยมีโครงการเขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่างที่ทำให้ชุมชนไม่ต้องย้าย แต่น้ำจะท่วมป่าสักทองเช่นเดิม ซึ่งก็ทำให้ต้องมีการปรับขบวนในการต่อสู้ และล่าสุดจากคำประกาศของคนสะเอียบก็ยังยืนยันที่จะสู้อยู่เพื่อรักษาป่าสักทองซึ่งเป็นป่าอุทยานแห่งชาติ

 

 

แนะทุนนิยม โครงการเกิดได้ ถ้าปรับลด ‘ผลประโยชน์สูงสุด ต้นทุนต่ำสุด ในเวลาที่สั้นที่สุด’

 

 

ศศินกล่าวในฐานะอดีตนักวิชาการด้วยว่า การที่ทุนนิยมจะเข้าไปในพื้นที่โดยคิดเรื่องทำอย่างไรจะได้ผลประโยชน์สูงสุด ต้นทุนต่ำสุด ในเวลาที่สั้นที่สุด ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผ่านมาจึงพุ่งเป้าไปที่ บ่อนอก จ.ประจวบฯ ซึ่งติดทะเล แต่ก็ถูกต่อต้านจากชาวบ้านจนสร้างไม่ได้ โดยส่วนตัวเห็นว่าหากขยับโรงไฟฟ้าไปออกมาอยู่ใกล้ภูเขา และปรับลดเป้าหมายผลประโยชน์สูงสุด ต้นทุนต่ำสุด ในเวลาที่สั้นที่สุด โรงไฟฟ้าก็จะตั้งได้ เพราะวันนี้การอนุรักษ์ไม่ได้สุดโต่ง ไม่ได้กลับไปสู่ยุคเอาหรือไม่เอา

 

ในความรู้ที่เป็นนักธรณีวิทยา ส่วนตัวอยากใช้ถ่านหิน เพราะปริมาณถ่านหินสำรองที่แม่เมาะจำนวนมาก อีกทั้งขณะนี้ปัญหาของแม่เมาะอยู่ที่เหมืองไม่ใช่โรงไฟฟ้าแม้จะเคยมีปัญหา แต่จะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีจะเอื้อให้เอามาใช้อย่างมั่นคง และการแก้ปัญหาต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรม ส่วนตัวคิดว่าต้องมีการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า และลงทุนเรื่องเหมือนให้มากขึ้น มีกระบวนการที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมที่มากกว่าการชดเชยให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘ขาดคน-ขบวน-เงินทุน’ ปัญหาเอ็นจีโอด้านอนุรักษ์

 

 

ส่วนทิศทางขบวนการอนุรักษ์ขณะนี้ ศศินกล่าวว่า นักอนุรักษ์ใช้การแก้ปัญหาการในหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงทางใดทางหนึ่งเป็นตำตอบ และแตกต่างกันตามพื้นที่ ยกตัวอย่างในกลุ่มนักอนุรักษ์ที่รณรงค์ปิดไฟสำหรับนักอนุรักษ์มันคือการขายความคิด ขายข้อมูลในบางเรื่อง และหากิจกรรมมาสร้างพื้นที่ในการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ไม่ใช่ขอแค่ได้ทำ ส่วนการตั้งพรรคการเมืองเพื่อผลักดันประเด็นก็มีคนเสนอ แต่ไม่ถูกจริตที่จะทำ

 

ส่วนการโยงไปถึงการเมืองหรือเปล่า ศศินกล่าวว่า วันนี้น้ำยาของนักอนุรักษ์มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น คือยังไม่มีใครทำไม่มีใครขับเคลื่อนเรื่องงานเชิงสังคมหรือการเมืองเลย ทั้งองค์ความรู้ ทั้งศักยภาพของทุน ทั้งคน และที่สำคัญคือเรื่องขบวน ซึ่งขณะนี้ไม่มีการจัดขบวนการอนุรักษ์หรือขบวนการสิ่งแวดล้อม

 

ศศินกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่คุณสืบ นาคะเสถียร เสียชีวิตใหม่ ๆ มีองค์กรอนุรักษ์เกิดขึ้นมากมาย แต่วันนี้ก็ทยอยหายไป ส่วนมูลนิธิสืบเหลือเงินทำโครงการอยู่อีกไม่กี่ปี ขณะที่คนทำงานอนุรักษ์ก็ลดจำนวนลง

 

 

                “วันนี้เอ็นจีโอด้านอนุรักษ์มันไม่เหลือ ไม่มีนะ ไม่ต้องห่วงว่าจะไปลดทอนการพัฒนา” ศศินกล่าว อีกทั้งยังระบุถึงปัญหาการเข้ามาของการรับเงินจากแหล่งทุนธุรกิจพลังงาน ซึ่งมีผลต่อการตั้งคำถามของคนภายนอกต่อจุดยืนขององค์กรอนุรักษ์ด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: