โต้‘น้ำแม่วงก์’ไม่ใช่เหตุน้ำท่วม'ภาคกลาง' ชี้สร้างเขื่อนทำป่าสูญ-สัตว์หายากสูญพันธุ์ แนะแก้ทั้งระบบ-ต้นทุนต่ำได้ประโยชน์คุ้ม

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 25 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1801 ครั้ง

 

‘เขื่อนแม่วงก์’ จ.นครสวรรค์ ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างด้วยเหตุผลเดิมๆคือ เพื่อป้องกันน้ำท่วม เก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และขยายพื้นที่การเกษตร ศูนย์ข่าว TCIJ ลงพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พบว่าถนนทางเข้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เรวา เป็นชุมชนบ้านเขาชนกัน อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดที่จะมีการสร้างเขื่อน เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ทว่ามีนักการเมืองระดับชาติที่อยู่ในพื้นที่ นำชาวบ้านจากพื้นที่อื่นเข้ามาครอบครองพื้นที่ และอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ทำให้การก่อสร้างเกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากต้องจ่ายค่าเวนคืนจำนวนมาก นั่นคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรมชลประทานต้องย้ายจุดสร้างเขื่อนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ และความสมบูรณ์ของผืนป่าดังกล่าว กลายเป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้น ที่ได้รับประโยชน์จากการเก็บหาพืชผักได้ตลอดทั้งปี

ป่าฟื้นตัวได้ 30 ปี สัตว์ป่าหายากเริ่มกลับมา

 

นายตะวันฉาย  หงษ์วิไล หัวหน้าภาคสนามจังหวัดนครสวรรค์-กำแพงเพชร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า จุดที่จะก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือสันเขื่อน อยู่ในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เรวา ซึ่งเป็นผืนป่าที่ต่อเนื่องผืนเดียวกับป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งสภาพป่าเพิ่งฟื้นตัวมาได้ประมาณ 30 ปี มีความสมบูรณ์มาก ไม้ในป่าแม่วงก์ส่วนใหญ่เป็นไม้สัก และจากการสำรวจของนักวิชาการพบว่า สัตว์ป่าในพื้นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์ป่าหายาก เช่น สมเสร็จ ล่าสุดพบเสือโคร่งเพิ่มจำนวนขึ้น

 

“ความสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์วันนี้ เทียบได้กับป่าห้วยขาแข้ง เพียงแต่ยังไม่ได้เป็นมรดกโลกเท่านั้น และจากการสำรวจของนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อุทยานฯทำให้รู้ว่า แม่วงก์มีสัตว์ป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์ป่าหายากที่เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เช่น สมเสร็จ นกเงือกคอแดง และล่าสุดยังมีการพบเสือโคร่ง 6 ตัวในพื้นที่ป่าแม่วงก์ด้วย”

 

มูลค่าผลผลิตรอบป่าแม่วงก์ปีละ 21 ล้าน

 

ความอุดมสมบูรณ์ของป่า นำมาซึ่งผลผลิตจากป่าที่ชาวบ้านรอบผืนป่าได้อาศัยหาอยู่หากิน ซึ่งนายตะวันฉายบอกว่า แม้การเก็บหาของป่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่มีความเกื้อกูลกันระหว่างชาวบ้านและอุทยานฯ ที่อยู่กันแบบญาติพี่น้อง วันนี้ชาวบ้านยังหากินกับผืนป่า เช่น การเก็บหาของป่าตามฤดูกาล ซึ่งสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี เช่น หน่อไม้ ผักหวาน เห็ด

 

“ถามว่าการเข้าไปเก็บหาของป่าผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายแน่นอน แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯมีการวางกรอบให้ชาวบ้านได้เก็บหาของป่าตามริมขอบป่า ไม่ได้ให้เข้าไปลึก มีการวางกฎ กติกา ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้าไปเก็บหาของป่าได้ตลอดทั้งปี ตามฤดูต่างๆ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน ก็ได้ของป่าเป็นอาหาร โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ และสามารถเข้ามาเก็บได้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะเก็บเพื่อเป็นอาหาร มีน้อยมากที่เก็บเพื่อขาย”

 

ส่วนมูลค่าผลผลิตจากป่าที่ชาวบ้านเก็บได้ตลอดทั้งปี นายตะวันฉายระบุว่า ในพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เรวา ไม่เคยคิดมูลค่าเป็นเงิน แต่หากจะเปรียบเทียบผลผลิต ที่ได้จากรอบป่าแม่วงก์กับป่าชุมชนด้านนอกอุทยานฯแล้ว อาจจะพอเทียบเคียงกันได้ ป่าชุมชนด้านนอกประมาณ 1,000 ไร่ ชาวบ้านเคยสำรวจและตีมูลค่าผลผลิตที่เก็บจากป่าชุมชนตลอดทั้งปี มูลค่าประมาณ 21 ล้านบาท ซึ่งป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า ดังนั้นคาดว่าผลผลิตจากป่าแม่วงก์ซึ่งชาวบ้านได้พึ่งพาอาจจะน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ยังถือว่ามีมูลค่าสูงมาก หากเปรียบเทียบว่า ชาวบ้านจะต้องจ่ายเงินซื้ออาหารเหล่านี้ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับความอยู่รอดของชาวบ้าน การเกื้อกูลกันระหว่างคนกับป่าแล้ว คงไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้

นอกจากนี้ข้อมูลจากบันทึกค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดย ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WSC) ระบุว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้สูญเสียโอกาสการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมที่ดี คือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และหากมีการรักษาและฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะทำให้สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดกลับคืนมา ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยจะเห็นผลในเชิงเศรษฐกิจภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี

 

ยันน้ำแม่วงก์ไม่ท่วมภาคกลาง

 

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ คือการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลาง แต่จากการพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของลำน้ำแม่วงก์ บอกว่า บริเวณทางด้านใต้ของลำน้ำแม่วงก์จะมีน้ำท่วมหลาก หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน มากกว่าที่น้ำจะท่วมขัง หรือหากท่วมก็จะท่วมอยู่ประมาณ 2-3 วันจะลดลงไปเอง ส่วนที่บอกกันว่า น้ำท่วมไปถึงอ.ลาดยาว จะท่วมในลักษณะเดียวกันคือน้ำหลาก แต่จะท่วมประมาณ 2 สัปดาห์ และไม่ได้ท่วมทุกปี ซึ่งชาวบ้านบอกว่า การที่น้ำท่วมอ.ลาดยาว เนื่องจากอ.ลาดยาวเป็นที่ราบต่ำ และพื้นที่อยู่ติดคลองระบายน้ำ น้ำจากคลองจะเอ่อท่วมขึ้นมา

นายตะวันฉายกล่าวว่า ลำน้ำแม่วงก์เกิดจากน้ำตกแม่กะสี น้ำตกแม่เรวา น้ำตกแม่กี และลำห้วยเล็กอีกหลายสายในป่าแม่วงก์ รวมเป็นลำน้ำแม่วงก์ ไหลมาทางอ.ลาดยาว วังซ่าน และมาลงที่แม่น้ำสะแกกรัง อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ที่ผ่านมาลำน้ำแม่วงก์มักจะตกเป็นจำเลยว่า ทำให้เกิดน้ำท่วมอ.ลาดยาว และพื้นที่ภาคกลาง จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา เมื่อปลายปีที่แล้ว เห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่ลำน้ำแม่วงก์จะทำให้น้ำท่วมมากขนาดนั้น

 

 

 

“ถ้าบอกว่า ลำน้ำแม่วงก์ทำให้น้ำท่วมภาคกลางเมื่อปลายปีที่แล้ว ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพื้นที่ที่ลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่าน ไม่มีพื้นที่ไหนที่น้ำท่วมเลย เช่น อ.ลาดยาว น้ำไม่ท่วมทั้งที่เรียกได้ว่า อ.ลาดยาวเป็นเมืองหน้าด่าน แต่พื้นที่ที่น้ำท่วมกลายเป็นพื้นที่ราบภาคกลาง ตั้งแต่ตัวเมืองนครสวรรค์  อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยาและกรุงเทพฯ  ถ้าบอกว่าน้ำจากแม่วงก์ทำให้ท่วมพื้นที่ภาคกลาง แต่ไม่ท่วมลาดยาวจะเป็นไปได้อย่างไร ดังนั้นปริมาณน้ำที่ท่วมภาคกลาง จึงไม่น่าจะมาจากแม่วงก์ แต่น่าจะมาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนภูมิพลมากกว่า”

 

นายตะวันฉายกล่าวอีกว่า ลาดยาวมีน้ำท่วม และพื้นที่บริเวณหมู่บ้านแม่เรวา ตลิ่งสูง อาจจะมีน้ำบ้าง โดยเฉพาะในฤดูฝน แต่จะมีลักษณะเป็นน้ำหลากมากกว่าน้ำท่วมขัง ซึ่งน้ำจะท่วมอยู่ประมาณ 2-3 วันจะแห้ง หรือในอ.ลาดยาว น้ำจะท่วมมากสุดไม่เกิน 2 อาทิตย์ น้ำก็จะแห้งไปเองเช่นเดียวกัน

 

น้ำหลากทำน้ำท่วมลาดยาว

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากสาส์นสืบ จุลสารของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อมูลว่า สภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่เขตอ.แม่วงก์ และอ.ลาดยาว มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเอียง คือมีพื้นที่สูงทางทิศเหนือและทิศตะวันตก และลาดเอียงลงมีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ ในกรณีที่เกิดฝนตกหนักน้ำจะหลากจากพื้นที่สูง ทิศเหนือจากจ.กำแพงเพชร ทิศตะวันออกจากอ.บรรพตพิสัย และอ.เก้าเลี้ยว ทิศตะวันตกเฉียงเหนือจาก อ.แม่วงก์ และทิศตะวันตกจากกิ่งอ.แม่เปินและกิ่งอ.ชุมตาบง ลงมาสู่อ.ลาดยาว ซึ่งเป็นลักษณะทางธรรมชาติที่ ทั้งนี้สาเหตุหลักของน้ำท่วมลุ่มแม่วงก์ จึงมาจากน้ำที่หลากจากพื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้น และอีกสาเหตุหนึ่งคือ ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ มิใช่น้ำที่ไหลมาจากลุ่มน้ำแม่วงก์ทั้งหมด

นอกจากนี้น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำแม่วงก์นั้น ไม่ได้มีเพียงน้ำแม่วงก์เพียงสายเดียว แต่ยังมีลำน้ำอื่นอีกหลายสาย ที่ไหลมาบรรจบกับน้ำแม่วงก์ ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในพื้นที่บริเวณที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะเขตตัวเมืองอ.ลาดยาว ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะสามารถกักเก็บน้ำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ถูกนำเสนอครั้งแรกในปี 2528 โดยกรมชลประทาน แต่เดิมนั้นสันเขื่อนจะอยู่บริเวณเขาชนกัน ซึ่งน้ำจะท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หลังจากนั้นจึงย้ายโครงการมาที่บริเวณเขาสบกก ซึ่งอยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่เรวา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่าประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งเหตุผลในการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น มีทั้งเพื่อการชลประทานและป้องกันน้ำท่วม จากรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เพิ่มเติม) โครงการเขื่อนแม่วงก์ ระบุว่า หากสร้างเขื่อนบริเวณเขาชนกัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้เดิม จะเก็บน้ำได้สูงสุด 380 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ถ้าสร้างที่บริเวณเขาสบกก ภายในพื้นที่อุทยานฯ จะสามารถกักเก็บน้ำได้ 250 ล้านลบ.ม. อีกทั้งระยะทางจากพื้นที่เขาสบกกอยู่ไกลจากพื้นที่ชลประทานมากกว่าบริเวณเขาชนกัน จึงเกิดการสูญเสียน้ำในกระบวนการส่งไปอีกประมาณ 50 % ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการระเหยสูงมาก หากมีการสร้างเขื่อนจริง พื้นที่ชลประทานอาจไม่ได้รับน้ำตามที่ระบุไว้ และยังมีปัญหาตะกอนจากต้นน้ำที่ถูกพัดพามา จะถูกทับถมอยู่ที่บริเวณเหนือเขื่อน เมื่อปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการเปิดน้ำที่อยู่ก้นเขื่อน เพื่อให้ตะกอนไหลออกจะทำให้ความจุของน้ำลดลงด้วย

แนะจัดการน้ำทั้งระบบแก้น้ำท่วม

 

แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง นายตะวันฉายกล่าวว่า ควรจะมองการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในการแก้ปัญหาทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม เช่น การสร้างแก้มลิงในพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้สำหรับการเกษตร นอกจากนี้ควรบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เช่น จัดการระบบชลประทานจากเขื่อนที่มีอยู่ ให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง ซึ่งที่ผ่านมามีบทเรียนจากหลายเขื่อน ที่ไม่มีการบริหารจัดการน้ำ เช่น เขื่อนทับเสลา เขื่อนคลองโพธิ์ เขื่อนห้วยขุนแก้ว ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ไม่มีระบบการจ่ายน้ำจากเขื่อนให้ประชาชนในพื้นที่เลย

จากรายงานการติดตามและประเมินผลกระทบ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำเสนอให้สร้างแก้มลิง เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนรายปีพบว่า ฝนมีการกระจายทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังนั้นไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดในการสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ควรจะมีการสร้างพื้นที่แก้มลิง เป็นพื้นที่รับน้ำเมื่อเกิดน้ำท่วม และที่สำคัญต้องทำลายสิ่งกีดขวางการไหลระบายของน้ำโดยเฉพาะถนน เพราะถนนเป็นตัวการทำให้น้ำท่วมขัง หรือสร้างช่องระบายน้ำที่กระจายเป็นจุดๆตลอดเส้นถนนที่ขวางเส้นทางไหลของน้ำ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: