‘มกุฎ อรฤดี’จวกพวกดีแต่พูด อยากให้คนอ่านหนังสือ-แต่ไม่มีให้อ่าน

 

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 25 เม.ย. 2555


วงการหนังสือที่ดูเหมือนว่าการแข่งขันจะไม่แพ้วงการอื่น ในขณะที่วงการนี้มีความรู้ของคนทั้งประเทศเป็นเดิมพัน โดยเฉพาะเด็กๆที่โตขึ้นมาในวันนี้ เขาจะเลือกอ่านหนังสืออะไร ตัวเลขที่บอกว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 5 เล่มต่อคน เป็นตัวเลขที่ฐานคิดจากอะไร จริงๆแล้วคนไทยอ่านหนังสือเท่านั้นจริงหรือ

ศูนย์ข่าว TCIJ พูดคุยกับ มกุฎ อรฤดี ผู้เสนอแนวคิดก่อตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ ถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ในแวดวงหนังสือ ในฐานะคนทำหนังสือมายาวนาน มกุฎไม่เห็นด้วยกับมหกรรมลดราคาหนังสือ อย่างงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เพราะเป็นต้นเหตุให้ร้านหนังสือเล็กๆ ต้องปิดตัวลง มกุฎมองว่าการรณรงค์ให้คนอ่านหนังสือไม่จำเป็นต้องลดราคาหนังสือ ในขณะที่มีวิธีอื่นมากมาย และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการ ทางออกหนึ่งที่มองว่าจะแก้ปัญหาระบบหนังสือในประเทศไทยได้คือ สถาบันหนังสือแห่งชาติ ที่จะเข้ามาจัดการระบบหนังสือในประเทศนี้ จึงต้องมีสักรัฐบาลหนึ่ง ยอมรับความฝันของเขา

 

ทำไมคุณภาพของคนอ่านหนังสือในปัจจุบันถึงด้อยลงกว่าแต่ก่อน

 

มกุฎ : การที่คุณภาพของคนอ่านหนังสือปัจจุบันด้อยลงกว่าอดีตนั้น น่าจะมาจากคนสมัยนี้ไม่แสวงหา มีการทำวิจัยว่า ทำไมเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ เด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออกปัญหาเป็นเพราะระบบการศึกษา ผมทำมากับมือตั้งแต่อายุ 13 ปี ผมจึงรู้ว่าระบบหนังสือของประเทศนี้เป็นอย่างไร ผมเดินทางมา 42 ปี เพื่อศึกษาว่าปัญหา อุปสรรคเรื่องหนังสือ มันอยู่ตรงไหนและจะแก้ด้วยอะไร อย่าเสียเวลาไปสิงคโปร์ ฝรั่งเศสเลย คุณไปยังที่ของคุณและดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน

บางคนอาจจะบอกว่า ชาวบ้านไม่อ่านหนังสือซึ่งปัญหานี้ต้องตอบด้วยการกระทำ ผมมีโครงการที่จ.กระบี่ โดยจัดหนังสือไว้ที่มัสยิด 8 แห่ง 8 ตำบล จากที่ชาวบ้านแถวนั้นไม่เคยอ่านหนังสือเลยหลังจากเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชาวบ้านเหล่านี้เขากลับมาอ่านหนังสือมากกว่าปีละ 100 เล่ม

 

เป็นเพราะสังคมไทยไม่ใช่สังคมของการอ่าน แต่เป็นสังคมมุขปาฐะ แบบที่เล่าต่อๆกันมาใช่หรือเปล่า

 

การที่นักวิชาการ มักจะพูดว่าสังคมไทยมิใช่สังคมแห่งการอ่าน แต่เป็นสังคมมุขปาฐะนั้น มกุฎบอกว่า เป็นการพูดแบบไม่เคยลงมือทำ สังคมมุขปาฐะ เกิดจากการที่ประชาชนไม่มีสื่อให้เขา เมื่อไม่มี จะพูดได้อย่างไรว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ

ตอนที่ผมเอาหนังสือไปให้ที่มัสยิด จ.กระบี่เกือบ 10,000 เล่ม ไม่มีห้องสมุด ไม่มีบรรณารักษ์ มีเพียงสมุด 1 เล่ม ไว้เขียนยืมเวลาที่ใครจะมายืมหนังสือ หนังสือแทบจะไม่มีเหลือติดมัสยิดเลย 1 ปีผ่านมา เขาจัดงานใหญ่เพื่อจะหมุนเวียนหนังสือ เพราะหนังสือแต่ละกองที่ให้ไปจะไม่เหมือนกัน เราก็ไปสอบถามว่าปัญหามันมีอะไร เราพบว่าไม่มีหนังสือหายแม้แต่เล่มเดียว ผมว่าคนที่พูดไม่เคยลงมาทำ

นอกจากนี้ที่มีการพูดกันว่า การอ่านต้องเริ่มจากครอบครัวนั้นเป็นการพูดตามที่ UNESCO บอกมา แต่ครอบครัวคนไทยพ่อแม่อ่านหนังสือไม่ออก ราคาหนังสือแพงเกินไป พ่อแม่มีอาชีพทำไร่ทำนา ค่าแรงวันละ 200 บาท หนังสือเล่มละร้อยกว่าบาท การอ่านจะเริ่มจากครอบครัวได้อย่างไร

ประเทศไทยนั้นพูดได้คำเดียวว่า การอ่านต้องเริ่มจากโรงเรียน ที่ผ่านมาเดินตามคนอื่นมาตลอด อย่างการสร้างห้องสมุดในห้างสรรพสินค้าได้รูปแบบมาจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเขามีห้องสมุดในห้างสรรพสินค้า แต่ไม่รู้ว่าจุดประสงค์ของสิงคโปร์ในการทำแบบนั้นต้องการอะไร

“ผมเคยพยายามเสนอให้มีกฎหมายของกรุงเทพมหานคร และกฎหมายของเมืองใหญ่ว่าห้างสรรพสินค้าทุกแห่งที่สร้างใหม่ และคิดไปถึงห้างเก่าด้วยว่า ห้างสรรพสินค้าต้องมีสัดส่วนพื้นที่ของห้องสมุด ตามอัตราส่วนพื้นที่ใช้สอย เราเคยเสนอในโครงสร้างสถาบันหนังสือแห่งชาติ สิ่งเหล่านี้เราคิดไว้ให้หมด แต่นักการเมืองไม่ทำ”

 

ตัวเลขคนอ่านหนังสือในประเทศน้อยลง สวนทางกับจำนวนสำนักพิมพ์และหนังสือที่มีจำนวนมากขึ้น

 

มกุฎ : จากที่มีตัวเลขออกมาว่า คนไทยอ่านหนังสือคนละ 5 เล่มต่อปีนั้น ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีการประสานงานกัน ตัวเลขที่ได้มาเป็นของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และเป็นตัวเลขที่เกิดในเมืองใหญ่ กับที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์สิริกิตต์ ซึ่งแต่ละปีขายหนังสือได้มากถึง 10,000 ล้านบาท

ถ้าดูแค่ตัวเลขตรงนี้น่าพอใจ แต่เขาไม่ได้ดูตัวเลขอีก 70 กว่าจังหวัดว่า ประชาชนในจังหวัดเหล่านั้น เคยเห็นหนังสือบ้างหรือเปล่า หรือถ้าได้อ่านเขาอ่านอะไร ทำไมสำนักงานสถิติแห่งชาติจึงไม่พยายามถามประชาชนทุกปีว่า แท้จริงแล้วประชาชนคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละกี่เล่ม  ไม่เคยมีตัวเลขสถิติจริงๆ ที่บอกว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มต่อปี ผมบอกได้ว่าเป็นตัวเลขโกหก ถามว่าคุณเอาตัวเลขนี้มาจากไหน ตอบไม่ได้  5 เล่มนี้คุณเอาตัวเลขมาจากศูนย์สิริกิติ์ ไม่ใช่ทั่วประเทศ เพราะผมเข้าใจว่า ถ้าเราหาตัวเลขจริงๆทั่วประเทศ เราอาจจะได้ตัวเลขติดลบ

ยิ่งถ้าหากมีการแยกประเภทออกมาว่า คนไทยที่อ่านหนังสือ อ่านอะไร จะตกใจมาก หนึ่งอ่านหนังสือซุบซิบดารา อ่านหนังสือสแกนกรรม หนังสือโรมานซ์ หนังสืออิโรติก ที่มนุษย์ชาติอื่นเขาไม่อ่านกันมากมายขนาดนี้ ที่ประเทศเวียดนาม รัฐบาลสามารถจะรู้ได้ว่าประชาชนอ่านอะไร หรือที่ประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลสามารถรู้ว่าในแต่ละปีประชาชนยืมหนังสืออะไรออกจากห้องสมุด ยืมคนละกี่เล่มมีการเก็บสถิติ หอสมุดแห่งชาติของสิงคโปร์สามารถยืมออกได้

หอสมุดเรายืมหนังสือออกมาไม่ได้ เมื่อยืมออกไม่ได้ก็จบ เพราะไม่มีคนปกติที่ไหนจะมีเวลาไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดจนจบเล่ม

สัปดาห์หนังสือสัญญาณตกต่ำของวงการหนังสือ

 

มกุฎ : การที่สำนักพิมพ์ต่างๆ มาลดราคา ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จะทำให้ร้านหนังสือเล็กๆ ต้องปิดตัวลง ในที่สุดกลไกอย่างหนึ่งก็หายไปคือ ห้องสมุดสาธารณะกลายๆ ร้านหนังสือเล็กๆ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนห้องสมุดสาธารณะกลายๆ  เพราะถ้าหากมีร้านหนังสือมากตามในซอย ในห้าง เด็กที่ต้องการอ่านหนังสือ แต่ไม่มีสตางค์จะแอบเข้าไปอ่านในร้านเหล่านี้

ถามว่าร้านหนังสือเสียหายไหม ไม่เสียหาย วันหนึ่งถ้าเด็กมีสตางค์ เขาจะกลับมาซื้อ ผมศึกษาเรื่องนี้มาจากตัวเอง ผมแอบอ่านหนังสือตามร้าน จนผมเก็บเงินค่าขนมซื้อหนังสือเล่มแรก มันเป็นการเอื้อกันในระยะยาว ไม่ใช่ไปตัดมือตัดตีนกันตั้งแต่ต้น

ในประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่นสวิสเซอร์แลนด์ ยุโรป มีกฎหมายกำหนดให้ขายหนังสือราคาเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นร้านใหญ่  ร้านเล็ก ต้องขายหนังสือราคาเท่ากัน สมมติว่าถ้ามีร้านหนึ่งขายหนังสือลดราคาเกินกว่าที่กำหนด จะถูกปรับเล่มละประมาณ 20,000 บาท จะไม่มีร้านไหนยอมเสียค่าปรับ

ดังนั้นการส่งเสริมการขายจึงมีวิธีอื่นที่ไม่ใช่การลดราคาหนังสือ เช่น เชิญนักเขียนสนทนา เสวนาเรื่องต่างๆ มีแม้กระทั่งการประกวดนักอ่านของแต่ละร้าน กิจกรรมต่างๆจะงอกงาม เพื่อส่งเสริมการอ่าน ไม่ใช่ลดราคาอย่างเดียว ประเทศอื่นๆมีการคิดกันเรื่องนี้ แต่รัฐบาลไทยไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ในกลไกส่งเสริมการอ่านของฝรั่งเศส รัฐบาลรู้เรื่องและจัดการ ร่างกฎหมาย มีแม้กระทั่งการสอนเรื่องคนขายหนังสือ ล่าสุดคนขายหนังสือที่ฝรั่งเศสมีหลักสูตรปริญญาตรี ในเรื่องอื่นๆเช่น วิชาบรรณาธิการมีหลักสูตรถึงปริญญาเอก ในประเทศจีนมีสอนวิชาหนังสือ วิชาบรรณาธิการ และเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับหนังสือ ถึงปริญญาเอก มีถึง 48 มหาวิทยาลัย

 

ปี 2013 กรุงเทพมหานครจะเป็น Book Capital

           

มกุฎ : การที่จะให้คำตอบว่ากรุงเทพมหานคร เหมาะสมจะเป็น Book Capital หรือไม่นั้น คงต้องศึกษาจากเมืองอื่นที่เคยเป็นเมืองหนังสือโลก เช่น ประทศสเปนซึ่งเป็นประเทศแรกที่ได้เป็นเมืองหนังสือโลก หลังจากที่ UNESCO ได้ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา สเปนรุ่งเรืองมากในเรื่องหนังสือ มีมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก ระบบหนังสือของเขาเกิดมา 800 ปีแล้ว

การที่แมดริดได้เป็นเมืองหนังสือโลก ยังไม่พอสำหรับสเปน สเปนไปสร้างเมืองหนังสืออีกเมืองหนึ่งที่เมืองโบราณ เป็นเมืองร้างกลางทะเลทราย มีการสร้างโรงเรียน ร้านขายหนังสือ โรงพิมพ์ ครอบครัวชาวบ้านอยู่ พยายามจัดทัวร์ลงไปดู เพื่อให้เมืองที่ตายแล้วฟื้นขึ้นด้วยหนังสือ จึงเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มาก พอเราเข้าไปจะเห็นพิพิธภัณฑ์หนังสือตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ทั้งๆที่เมืองนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับหนังสือ มีแต่ของโบราณ อาคารโบราณ ท้ายที่สุดเมืองนี้ก็กลับมามีชีวิตชีวา นักท่องเที่ยวก็เดินทางไป นั่นคือความพยายามของเขา

ส่วนประเทศอื่น อย่างเลบานอนในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ทุกคนมีชีวิตในบังเกอร์ รัฐบาลจึงจัดให้บังเกอร์ทุกแห่งมีห้องสมุด มีชั้นหนังสือ พอสงครามสงบบังเกอร์กลายเป็นห้องสมุด คนจะไม่รู้จะไปไหนเข้าห้องสมุดในบังเกอร์อ่านหนังสือ จนกลายเป็นเมืองหนังสือโลก ในขณะที่ประเทศไทยนั้น หอสมุดแห่งชาติไม่ให้ยืมหนังสือออกนอกพื้นที่ หรือบางทีเช่น ที่สถานีรถไฟฟ้าที่สยามสแควร์ หนังสือถูกล่ามโซ่

สิ่งที่พยายามทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เราเปิดห้องสมุดข้างบันไดที่บางแสน มหาวิทยาลัยบูรพา ตรงข้างห้องเรียนมีบันได ชั้นไปวาง หาหนังสือไปใส่ มีโต๊ะ เก้าอี้ สมุด 1 เล่ม ห้องสมุดไม่มีบรรณารักษ์ ไม่มีคนเฝ้า วิธีนี้ลอกแบบมาจากกระบี่ เริ่มเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้มีคนยืมประมาณ 200 กว่าเล่ม เท่าที่สำรวจยังไม่มีหนังสือหาย

มีวิธีคิดอีกว่า ถ้าในประเทศจะจัดระบบแบบนี้ คือ ยืมหนังสือแบบให้เกียรติกันจะทำได้ไหม ซึ่งสามารถทำได้ มีวิธีที่จะจัดระบบหนังสือสาธารณะทั่วประเทศ แบบไม่ให้หนังสือหายทำได้ เพียงแต่ว่ารัฐบาลต้องคิดแล้ว และมีการคิดไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ถ้ารัฐบาลจะทำ

           

สถานการณ์วันนี้ของแวดวงหนังสือ

สถานการณ์ในแวดวงหนังสือขณะนี้นั้น มกุฎมองว่าอยู่ในช่วงตกต่ำและมีผู้ทำนายว่า ภายใน 3 ปี จะร่วงลงเหว สำนักพิมพ์เล็กๆ จะปิดตัวจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่เมื่อมีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เพิ่มมากขึ้นเร็วเท่าไหร่ สำนักพิมพ์เก่าจะตายเร็วขึ้นเท่านั้น

ผมคิดว่ามันค่อยๆ เดินลงเหวไป พอที่จะให้รู้สึกว่าที่ผ่านมายังเห็นไม่ชัดเจน เพราะว่างานจะช่วยประทังชีวิตไว้ปีต่อปี ในวงการหนังสือต้องคิด ไม่ว่าสำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ ก็ตาม ล้มหายไป ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะสุขสบาย นักเขียนที่เคยเขียนงานให้สำนักพิมพ์เล็กๆจะไม่มีที่พึ่ง ร้านค้าเล็กๆที่เคยสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์เล็กๆก็หมด ทีนี้มันก็จะเกิดการผูกขาดขึ้นที่ประเทศนี้ จะมีแต่สำนักพิมพ์ใหญ่ที่มีร้านค้าของตัวเอง สายส่งของตัวเอง

ถ้าหากเกิดการผูกขาดเรื่องหนังสือขึ้น เราเรียกว่าเป็นการผูกขาดวิชาความรู้ การผูกขาดวิชาความรู้เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประเทศคอมมิวนิสต์ผูกขาดวิชาความรู้ได้ เพราะระบอบเป็นแบบนั้น แต่ประเทศประชาธิปไตยผูกขาดความรู้ไม่ได้ และถ้าเกิดว่าเปิดช่องให้ผูกขาดความรู้ได้เมื่อไหร่ ความสับสนวุ่นวายจะเกิดขึ้น

 

หนังสือเล่ม จะอยู่ได้นานขนาดไหน ในกระแส e-book

 

มกุฎ : หนังสือคือหนังสือเกิดมาเป็นพันปีแล้ว มันก็อยู่ได้ของมันผ่านอุปสรรค ผ่านการแข่งขันอะไรมา หนังสือก็ยังอยู่ มีอะไรหลายอย่างที่ตัวเราต้องใช้อยู่ทั้งที่ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องใช้ ถ้าถามว่าหนังสือเป็นสิ่งจำเป็นไหม จำเป็น เป็นวิญญาณสำหรับผม

 

ทำไมสำนักพิมพ์ผีเสื้อไม่เปิดร้านหนังสือของตัวเอง

 

มกุฎ : มีความพยายามที่จะคิดเรื่องร้านหนังสือ แต่ไม่มีคนมากพอ และไม่มีเวลา ถ้าคิดจะตั้งร้านขายหนังสือต้องคิดเรื่องธุรกิจ วิชาการ วิชาความรู้ที่จะสอนเด็กจะลดลงไป เมื่อเราคิดเรื่องธุรกิจจะมาคิดเรื่องสาธารณะไม่ได้ ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ได้กำไรเยอะ แม้แต่ในวิชาบรรณาธิการศึกษา เรื่องที่พยายามหลีกเลี่ยงคือการคิดราคา แต่ตอนนี้ต้องคิดเรื่องการสอนคนขายหนังสือ เวลาที่เข้าไปร้านหนังสือใหญ่ๆ จะรู้สึกว่าเด็กขายหนังสือไม่รู้จักหนังสือ จัดระบบหนังสือก็ไม่รู้เรื่อง ในต่างประเทศคนขายเนื้อวัว ยังต้องสอนให้รู้จักเนื้อ แต่คนขายหนังสือในเมืองไทยไม่เคยรู้เรื่องหนังสือ ถามอะไรไปตอบแค่ไม่มี หมด ไม่รู้

 

การเลือกพิมพ์หนังสือแบบมีสาระในภาวะที่สำนักพิมพ์เล็กๆต้องปิดตัวลง

 

มกุฎ : เป็นที่แน่นอนว่าในภาวะที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่มักจะพิมพ์หนังสือนอกกระแส ไม่เป็นที่นิยมต้องปิดตัวลง แน่นอนว่าหนังสือประเภทนอกกระแสอาจจะหายากขึ้น ซึ่งขณะนี้จะเห็นแล้วว่าสำนักพิมพ์จะแข่งขันกันด้วยหนังสือขายดี ระบบหนังสือถูกครอบงำด้วยระบบธุรกิจ จะหวังหาหนังสือดีงาม มีวิชาความรู้ เพื่อพัฒนาคนนั้นคงเป็นเรื่องยาก

เมื่อสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่บอกว่า ทำหนังสือด้วยอุดมการณ์ให้คนได้อ่าน พิมพ์วรรณกรรมดีๆ บทความดีๆ มันจะไม่มี หนังสือเหล่านี้จะไปปรากฏใน e-Book เพราะง่าย แต่ถามว่าประชาชน ชาวไร่ ชาวนา ที่ไม่มี e-Book อ่าน จะทำอย่างไร รับรู้สิ่งเหล่านี้ได้ที่ไหน หรือในห้องสมุดประชาชนตามต่างจังหวัด จะมี  e-Book พอกับประชาชนที่เข้าไปอ่านหนังสือหรือไม่ เราก็ต้องคิดต่อ หรือว่าชาวบ้านอยากได้หนังสือที่ว่าด้วยการทำไร่ไถนาสักเล่ม เขาจะยืมไปอ่านที่บ้านได้อย่างไร ในเมื่อที่บ้านเขาไม่มีคอมพิวเตอร์ ต้องคิดให้รอบคอบ

เราพยายามรวบรวมปัญหาที่เกี่ยวกับหนังสือทั้งหมดไว้ว่า ระบบหนังสือในเมืองไทยประกอบด้วยห่วงโซ่ 14 ห่วง และชาวบ้านเป็นห่วงโซ่หนึ่ง ชาวบ้านไม่มีสตางค์ ไม่มีโอกาส ไม่มีความรู้ ไม่มีเวลา จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้เข้าถึงสื่อความรู้ของรัฐในห้องสมุดได้เท่าเทียมกับคนในเมือง ทำได้อย่างไร

 

โครงการสถาบันหนังสือแห่งชาติ ทางออกของระบบหนังสือไทย

 

เมื่อปี 2543 มกุฎ เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีว่า ประเทศไทยต้องมีสถาบันหนังสือแห่งชาติ หลังจากนั้น ในปี 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.ไอซีที ในขณะนั้น ให้ความสนใจโครงการสถาบันหนังสือแห่งชาติ จึงประสาน มกุฎเพื่อจะดำเนินนโยบายโครงการสถาบันหนังสือแห่งชาติ ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงไอซีที

ผมคิดว่าดีเหมาะสมทุกอย่างเริ่มทำงานให้เขา ผมปิดสำนักพิมพ์เป็นเวลา 2 ปี เพื่อทำงานนี้ให้รัฐบาลโดยไม่รับเงินจากรัฐบาลเลย เพราะเราอยากจะทำ ในที่สุดได้เป็นกฤษฎีกาออกมา แต่รัฐบาลกลับเปลี่ยนกฤษฎีกา จากโครงสร้างสถาบันหนังสือเป็น TK PARK เพราะเขาพยายามทำให้มันเป็นแค่อนุสรณ์ชิ้นหนึ่ง ด้วยการสร้างห้องสมุดในห้างสรรพสินค้า แต่ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั้น

สำหรับวิธีคิดของสถาบันหนังสือแห่งชาติ สถาบันนี้จะดูแลระบบหนังสือของชาติทั้งหมด ซึ่งระบบหนังสือ คือ ทุกอย่างที่ ประกอบขึ้นเพื่อเป็นหนังสือ เช่น  โรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ ประกอบด้วยใครบ้าง บรรณาธิการ คนตรวจปรู๊ฟ ควรจะให้สถาบันหนังสือเป็นคนดูแล

          “วันหนึ่งเด็กตรวจปรู๊ฟไม่ได้รับความยุติธรรม เดินไปที่สถาบันหนังสือไปบอกได้ หรือวันหนึ่งบรรณาธิการบอกว่า มีความรู้ไม่พอจะทำงาน อยากได้ความรู้ ไปที่สถาบันหนังสือ หรือนักเขียนบอกว่าอยากเขียนเรื่องอวกาศ เป็นหน้าที่ของสถาบันหนังสือ ที่จะต้องหาสถานที่ให้นักเขียนไปหาความรู้เพิ่มเติม แล้วกลับมาเขียนหนังสือ คืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการเขียนหนังสือ สถาบันหนังสือจะต้องจัดการดูแล หรือวันหนึ่งร้านขายหนังสือบอกว่า ฉันขายหนังสือไม่ได้เพราะร้านนั้นลดราคา สถาบันหนังสือต้องเข้ามาดูแล สำนักพิมพ์บอกว่ากระดาษขึ้นราคา สถาบันหนังสือต้องทำให้ราคากระดาษถูกให้ได้ สถาบันนี้จะต้องจัดการทุกอย่างเกี่ยวกับหนังสือ แม้กระทั่งหนังสือสมัยใหม่อย่าง e-Book ละเมิดหรือทำอะไร สถาบันนี้ต้องรู้”

สถาบันหนังสือแห่งชาติต้องรู้ว่า มีหนังสือมีค่าอันไหนบ้างที่มีอยู่ในประเทศไทย และถูกลักลอบไปอยู่ที่อื่นต้องซื้อกลับมา และต้องรู้ว่าใครครอบครองหนังสือประเภทไหนอยู่ ต้องมีการสำรวจเพื่อดึงข้อมูลมาเก็บไว้ที่สถาบันในรูปอื่นที่ไม่ใช่หนังสือ นี่คือหน้าที่ของสถาบันที่กำหนดไว้

 

วงการหนังสือกับแนวคิดเรื่องสถาบันหนังสือ

 

มกุฎ : สำนักพิมพ์ทุกแห่งในประเทศไทย ประชุมและหารือร่วมกันเกี่ยวกับสถาบันหนังสือแห่งชาติ ซึ่งสำนักพิมพ์เล็กๆส่วนใหญ่เห็นด้วย มีสำนักพิมพ์ที่ไม่เห็นด้วยมีไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ เนื่องจากกลัวเสียผลประโยชน์เรื่องการสั่งซื้อหนังสือ มีการคัดค้านบ้างในที่สุดก็ผ่านไป ผมเดินทางประชุมทั่วประเทศไทย ทุกภาค มีคนมาประชุมมาก ทุกคนเห็นด้วยในหลักการก่อนที่จะเสนอกฤษฎีกา เมื่อเสนอกฤษฎีกาก็จบ จบด้วยมือของรัฐบาล เริ่มด้วยมือรัฐบาลทักษิณ จบด้วยมือรัฐบาลทักษิณ

 

ความอยู่รอดของธุรกิจสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก

 

สถานการณ์ของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กในทุกวันนี้ ค่อนข้างเสี่ยงมาก มกุฎบอกว่าวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สามารถอยู่ได้ ข้อเสนอคือสำนักพิมพ์เล็กต้องร่วมมือกัน อย่าทำตัวโดดเดี่ยว อย่าอยู่คนเดียว

อย่างในการซื้อกระดาษสำนักพิมพ์เล็กซื้อกระดาษครั้งละ 50 รีม สมมุติว่าราคา 1,200 บาท สำนักพิมพ์ใหญ่ซื้อที่ตู้คอนเทนเนอร์ ราคา 900 บาท ดังนั้นเมื่อต้นทุนกระดาษต่างกัน 30 เปอร์เซ็นต์ จะกำหนดราคาให้เท่ากันไม่ได้ สำนักพิมพ์เล็กตายตั้งแต่ต้น จึงต้องมีหน่วยงานที่จะดูเรื่องนี้ สำนักพิมพ์ใหญ่จะต้องซื้อกระดาษในราคาที่เท่ากันได้ พอเวลาที่ผลิตเป็นหนังสือเท่ากัน 160 หน้า ราคาควรจะสูสีเท่ากัน แต่เวลานี้สำนักพิมพ์เล็กต้องตั้งราคาสูงกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ คุณตายตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

เมื่อรวมกันได้เรื่องกระดาษ เรื่องอื่น ย่อมรวมกันได้ เช่นการจัดหาสายส่งที่สามารถไปกันได้ ร้านเล็กที่มีอยู่ฟื้นขึ้นมา แข่งกับร้านใหญ่ได้ เมื่อแข่งได้หลังจากนั้นเรียกร้องรัฐบาลให้กำหนดราคาหนังสือ หนังสือเล่มเดียวกันราคาต้องเท่ากันทุกแห่ง ต้องมีสักรัฐบาลที่เห็นด้วย แต่ไม่มีใครคิดไปไกลกว่างานที่ศูนย์สิริกิติ์ ที่คิดขายเอาเงินกับบ้าน จบแค่นั้น แต่หลังจากนั้นจะมีร้านหนังสือเล็กๆตายทุกวัน ถ้าเราพยายามคิดอย่างที่ไม่เอาประโยชน์ตัวเองเข้าไป มันจะมองเห็นอะไรต่างๆ

อนาคตของวงการหนังสือไทย

 

มกุฎ : รัฐบาลไทยต้องตั้งหน่วยงานที่ดูแลหนังสือ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนอ่านหนังสือได้เท่ากัน คนกรุงเทพฯสามารถอ่านหนังสือดีๆที่หอสมุดแห่งชาติได้ แต่ชาวบ้านที่อยู่นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ศรีษะเกษ มีโอกาสหรือไม่ ซึ่งคนที่อยู่ต่างจังหวัดควรจะมีโอกาสเท่ากับคนในกรุงเทพฯ

ทำไมเราไม่พยายามคิดถึงคนพวกนี้ ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น หากทุกคนในประเทศไทยโอกาสที่จะแสวงหาความรู้เท่าเทียมกัน  เราจะไม่มีความขัดแย้งกัน ว่ากฎหมายนั้นไม่ยุติธรรม เรื่องนี้ไม่ดี ถึงเวลานั้นทุกคนจะตัดสินใจเรื่องการเมืองได้เองหมดเลย ตัดสินใจด้วยความรู้ ไม่ใช่ความเชื่อ ความหลง ต่อไปเราจะพูดกันด้วยความรู้ ผมต้องการแค่นี้ ไม่ได้ต้องการสร้างสำนักพิมพ์ใหญ่โต เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินกว่าที่คนอื่นจะคิด ผมเกิดมาด้วยสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นผมยังมีความหวังอยู่  ผมหวังว่าถ้าผมตายไปผมจะกลับมาเกิดจนกระทั่งประเทศนี้จะจัดการกับหนังสือได้นั่นแหละ ผมถึงจะไม่เกิด

ผมยังมีความหวัง คนทำหนังสือจำนวนมากที่เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ เริ่มเห็นว่าตัวเองไม่รอด แทนที่ทุกคนจะสละเรือแต่กลับช่วยกันอุดเรือ แล้วพาเรือไปให้รอด แต่ก่อนทุกคนพยายามเอาตัวรอด แต่ตอนนี้น้ำลึกเกินกว่าที่ทุกคนจะเอาตัวรอดได้ เรือพอจะอุดได้แต่ต้องช่วยกัน พอถึงขั้นนั้นอาจจะต้องสู้กับสำนักพิมพ์ใหญ่ ซึ่งคงไม่ยาก สำนักพิมพ์ใหญ่คงจะไม่สู้แบบไม่ยุติธรรม คงไม่ถึงขนาดปิดร้านไม่ให้สำนักพิมพ์เล็กเข้าเลย แต่หากจะถึงขนาดนั้นสำนักพิมพ์เล็กที่มีกำลังพอ เปิดร้านสำนักพิมพ์เล็กขึ้นมาแล้วขาย แต่สำนักพิมพ์เล็กด้วยกัน ให้มีอยู่ทั่ว มีวิธีคิดที่ดีกว่านั้นด้วยซ้ำ เช่น ให้ร้านเช่าหนังสือเป็นตัวแทนของสำนักพิมพ์เล็ก ด้วยการส่งหนังสือตัวอย่างไป ในชั้นแรกเป็นตัวอย่างหนังสือที่จะให้ยืม ถ้าใครยืมแล้วชอบสั่งซื้อร้านให้เช่าก็จำได้รายได้สองทาง โครงการนี้เราให้ชื่อว่า ห้องสมุด 100 แห่งในกรุงเทพมหานคร เราเคยเสนอกทม. แต่กทม.ไม่เอา ถ้ากทม.รับตั้งแต่ตอนนั้นขณะนี้ กทม.จะมีห้องสมุดในมือมากกว่า 200 แห่ง คือห้องสมุดมัสยิดในกทม.100 แห่ง ห้องสมุดให้เช่าอีก 100 แห่ง โดยกทม.ไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย เพราะมีอยู่แล้ว เราแค่หาหนังสือไปให้เท่านั้นเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: