‘กรมทางหลวง’มั่วเงินกู้น้ำท่วม3.5แสนล. ยัดไส้ของบฯ'ซ่อมถนน-ผุดสะพาน'2พันล. อ้างไม่ได้งบประจำปีและพัฒนาเหมือนกัน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 22 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2266 ครั้ง

เมื่อวิธีการใช้งบประมาณของประเทศ เปิดช่องให้ฝ่ายบริหารใช้เงินได้ตามความเห็นชอบของฝ่ายการเมือง โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งบประมาณเงินกู้ เพื่อสร้างโครงการพื้นฐาน ที่เปิดทางให้ส่วนราชการ กระทรวง กรม ต่าง ๆ ขออนุมัติผ่าน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร

 

วงเงินกู้ 3.5 แสนล้าน จึงเป็นแหล่งเงินที่หอมหวาน ของรัฐมนตรีว่าการที่มีความเฉลียว ในการใช้เงินหลวง ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าฉากกระทรวงคมนาคม โดยนายชัชชาติ สุทธิพันธ์ รมช.คมนาคม จัดอีเวนต์สัมมนาในกระทรวง เรื่อง “การต้านทุจริตประมูลโครงการป้องกันน้ำท่วม งบประมาณ 3.5 แสนล้าน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่ก่อนหน้านี้ มีการแทรกวาระพิจารณา ขอใช้เงินสนับสนุนกรมทางหลวงเกือบ 2,000 ล้านบาท เพื่อโครงการอันสวยหรู ที่ชงมาจากกระทรวงคมนาคม ของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม ที่ควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ภายใต้ “โครงการพัฒนาทางหลวง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างอนาคตประเทศ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เปิดแฟ้มกรมทางหลวงของบนอกบัญชี1,950 ล้าน

 

 

โดยอ้างความเป็นมาตั้งแต่ วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 กระทรวงคมนาคม ได้ส่งเรื่องขออนุมัติงบประมาณ ให้กับกรมทางหลวง ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2555 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องขอเสนอโครงการพัฒนาทางหลวง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างอนาคตประเทศของกรมทางหลวง นำเสนอต่อคณะกรรมการ กยอ. เพื่อพิจารณา

 

แฟ้มลับข้อเสนอของกรมทางหลวง ระบุว่า กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้เสนอโครงการพัฒนาทางหลวงเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างอนาคต จำนวน 8 เส้นทาง วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท  

เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่เป็นคอขวด จำนวน 3 เส้นทาง เพื่อเพิ่มความจุของทางหลวงและลดจุดตัดของกระแสจราจร บริเวณทางร่วมทางแยกบนทางสายหลัก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสนับสนุนการเดินทางให้มีความสะดวก รวดเร็ว

 

เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งบนถนนทางหลวงและสะพาน ซึ่งเชื่อมโยงกับประตูการค้าที่สำคัญของประเทศ จำนวน 5 เส้นทาง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยมีรูปแบบการดำเนินงานและแผนลงทุน จะดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนหรือสะพาน รวม 8 เส้นทาง ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2556-2558 โดยมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,950 ล้านบาท

 

ทางกระทรวงคมนาคม คาดการณ์แนบความประสงค์ “จะใช้จ่ายจากแหล่งเงินกู้ทั้งหมด” โดยอ้างว่า “ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 กรมทางหลวง ไม่ได้ขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อดำเนินการดังกล่าว”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สภาพัฒน์ฯชำแหละโครงการสอดคล้องแผนชาติ-นโยบายรัฐบาลหรือไม่

 

 

แต่ข้อเสนอนี้ ถูกชำแหละโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ในประเด็นเรื่องความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯและสอดรับกับนโยบายรัฐบาลเพื่อไทยหรือไม่

 

คำตอบในประเด็นแรก เรื่องความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 คือ โครงการทั้ง 8 เส้นทางที่เสนอ เป็นการก่อสร้างและปรับปรุงทางหลวงและสะพาน เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการจราจรอยู่ในปริมาณสูง เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักสู่จังหวัดภาคเหนือและภาคใต้ และรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางและขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกับการขยายตัวของเมือง และการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

 

ส่วนประเด็นที่สอง เป็นไปตามแนวทางนโยบายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่ คำตอบคือ โครงการที่เสนอยังมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง โครงข่ายถนน และทางหลวงสายหลักเชื่อมโยงเมืองหลักในภูมิภาค เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างจำเป็นต้องเร่งทำเพื่อแก้จราจรหนาแน่นวันละ 3.4 หมื่นคัน

 

 

ที่ประชุมยังได้ถกเถียงถึง “ความจำเป็นของโครงการ” อย่างละเอียดพบว่า โครงการในกลุ่มที่ 1 จำนวน 3 เส้นทาง วงเงินรวม 940 ล้านบาท เป็นการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ โดยการก่อสร้างทางลอดบริเวณทางแยกเดชาติวงศ์ และสะพานข้าทางแยกอุทยานสวรรค์ เพื่อลดปัญหาจราจรบริเวณจุดตัดทางแยกดังกล่าว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางต่อเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 1 ถ.พหลโยธิน ที่เป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง ทั้งในจังหวัดและการเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ เข้าสู่จังหวัดในภาคเหนือ และมีปริมาณจราจรบนเส้นทางเฉลี่ย 34,600 คันต่อวัน ทำให้มีปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ดังกล่าว

 

ซึ่งการดำเนินการลดปัญหาจุดตัดตามที่เสนอ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวของการจราจรในบริเวณดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การก่อสร้างทางลอดในบริเวณดังกล่าว ควรจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมทางเทคนิค โดยเฉพาะด้านข้อจำกัดของระบบระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

 

นอกจากนี้ กรมทางหลวงมีความจำเป็นต้องขยายสะพานเดชาติวงศ์ทั้งฝั่งขาเข้า-ขาออก เพื่อรองรับปริมาณจราจรจากทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร เนื่องจากปัจจุบันสะพานดังกล่าวเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เดินทางต่อเนื่องดังกล่าวได้ ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดบนสะพานตลอดทั้งวัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อีก 4 เส้นทางทั้งเชียงราย-ประจวบคีรีขันธ์

 

 

โครงการในกลุ่มที่ 2 จำนวน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 1,010 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ เพื่อทดแทนสะพานเดิมที่มีสภาพเสื่อมโทรมจากการใช้งานมานาน จำนวน 4 เส้นทาง ที่เหลือ 1 เส้นทางเป็นการบูรณะทางหลวงหมายเลข 4 อ.ปราณบุรี-อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย ประกอบด้วย

 

1.โครงการซ่อมแซมสะพานเดชาติวงศ์ (เดิม) ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม และไม่มีการปิดใช้สะพานดังกล่าว แต่เนื่องจากขณะนี้สะพานเดชาติวงศ์ (ใหม่) ไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจร ที่เดินทางเชื่อมต่อจากทางหลวงหมายเลข 1 จึงจำเป็นดังกล่าวต้องบูรณะซ่อมแซมสะพานเดชาติวงศ์ (เดิม) เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้กรมทางหลวงควรพิจารณาความเหมาะสมทางเทคนิค ในด้านความสามารถในการรองรับน้ำหนักบรรทุกของสะพาน และผลกระทบต่อสถาปัตยกรรมของสะพาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดด้วย

 

 

 

2.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำทดแทนสะพานเดิม ที่ จ.เชียงราย 2 แห่ง ได้แก่ แม่น้ำคำและแม่น้ำแม่กก เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1129 เชียงแสน-เชียงของ ขนาด 4 ช่องจราจร ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศจากประเทศจีนตอนล่าง ผ่าน สปป.ลาว ที่สะพานเชียงของ แต่สะพานข้ามแม่น้ำทั้ง 2 แห่งมีสภาพทรุดโทรม จากการใช้งานมานาน และมีการกัดเซาะบริเวณคอสะพาน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางสัญจรไปมาได้อย่างปลอดภัย และที่สะพานข้ามแม่น้ำคำได้ปิดการจราจรแล้ว และได้มีการติดตั้งสะพานแบริ่ง เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรไปมาชั่วคราว

 

3.การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำยมทดแทนสะพานเดิม จ.พิจิตร ปัจจุบันสะพานมีสภาพทรุดโทรมจากการใช้งานมานาน และมีการกัดเซาะบริเวณคอสะพาน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางสัญจรไป มาระหว่าง จ.พิจิตร-จ.พิษณุโลกได้อย่างปลอดภัย

 

4.โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 4 อ.ปราณบุรี-อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงดังกล่าวมีปัญหาสภาพผิวทางเสียหายโดยเฉพาะฝั่งขาขึ้น (กรุงเทพฯ) ในขณะที่เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง/ขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ สู่จังหวัดภาคใต้ทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการดังกล่าว

 

 

ที่สุดคณะกรรมการฯ สรุปภาพรวมการดำเนินโครงการทั้ง 8 โครงการที่กรมทางหลวงเสนอ ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างและปรับปรุงถนน และสะพานที่มีอายุการใช้งานมานาน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในระดับพื้นที่ และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งสินค้าในพื้นที่ที่เป็นเมืองหลักหรือประตูหลักในการเดินทางและขนส่งเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาค รวมทั้งเป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่  AEC ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นภารกิจปกติของกรมทางหลวง

 

 

ออกแบบ-เล็งผู้รับเหมา เวนคืนที่ดินล่วงหน้าอีก 50 ล้าน

 

 

สำหรับโครงการ 8 เส้นทาง มีความพร้อมในด้านการดำเนินงาน โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงดำเนินการศึกษาสำรวจและออกแบบแล้ว นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในด้านการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้าง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างทดแทน/บูรณะถนนหรือสะพานที่มีเขตทางเดิมอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีการเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น

 

มีเพียงโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับอุทยานสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เท่านั้น ที่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดิน จำนวน 9.4 ไร่ ซึ่งกรมทางหลวงได้ประมาณค่าเวนคืนที่ดิน จำนวน 50 ล้านบาท รวมกับวงเงินค่าก่อสร้างที่เสนอในครั้งนี้แล้ว

 

ข้อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องล้วนถูกจัดเตรียมสมบูรณ์ ทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม รายงานว่า โครงการที่เสนอทั้ง 8 โครงการ ไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำ EIA

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยกรมทางหลวงได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ในโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับอุทยานสวรรค์ จ.นครสวรรค์ และโครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณแยกเดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นการก่อสร้างทางใหม่ 2 โครงการ ในขณะที่เหลือ 6 โครงการเป็นการปรับปรุงถนนหรือสะพานที่มีอยู่แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานดังกล่าว

 

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน กรมทางหลวงสัญญากับรัฐบาลว่า “จะใช้ระยะเวลาในการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง 2 เดือน และสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในปี 2555”

 

 

เคยขอผ่านงบในกติกา-แต่ไม่ได้ ต้องซิกแซก รอลุ้นผ่านครม.หรือไม่

 

 

กรมทางหลวงรายงานความไม่พร้อมเรื่องงบประมาณว่า  ในปีงบประมาณ 2556 กรมทางหลวงไม่ได้เสนอข้อรับการจัดสรรงบประมาณฯ เพื่อดำเนินการโครงการ ทั้ง 8 เส้นทาง ทำให้ขาดความพร้อมทางด้านแหล่งเงิน “จึงได้เสนอโครงการให้ กยอ.ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาว อันจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศจากภัยธรรมชาติในระยะยาว และวางอนาคตการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนเสนอแก่รัฐบาลต่อไป”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อคณะกรรมการ กยอ.เห็นเอกสารทั้งหมด ที่กรมทางหลวงชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบาย จึงพิจารณาจำนนด้วยหลักการที่ว่า “โครงการที่เสนอในครั้งนี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”

 

และเพื่อการบรรเทาปัญหาจราจรในระดับพื้นที่ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณการจราจรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นกยอ.พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการที่เสนอ จะสามารถมีส่วนช่วยรองรับการเดินทางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

การลุ้นเงินลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท ของกรมทางหลวง ในยอดวงเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาทนั้น เบิก-จ่าย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการฯ พ.ศ.2555 ซึ่งถือว่า “ผ่านด่านกยอ.”

 

แต่ยังต้องรอลุ้นในการพิจารณา “อนุมัติ” จากคณะรัฐมนตรี อีกรอบ เร็วๆ นี้

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: