ไทบ้านสกลฯโวยจนท.ภูผาเหล็ก บุกตัดทำลายต้นยางพารา21ไร่

สำนักข่าวลุ่มน้ำเซิน 20 ต.ค. 2555


เมื่อวันที่ 15 ต.ค.เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ออกแถลงการณ์ เรียกร้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ยุติการดำเนินการคุกคาม จับกุม ทำลายอาสินของชาวบ้านในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตอุทยานฯ กับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จนกว่ากลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะได้ข้อยุติ พร้อมประณามการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการบุกทำลายต้นยางพาราของชาวบ้าน

 

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก เวลา 20.30 น. วันที่ 12 ต.ค. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก นำกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ  40 นาย เข้าตัดฟันต้นยางพาราชาวบ้านในเขตอ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร จำนวน 2 แปลง รวมพื้นที่เสียหาย 21 ไร่ โดยการปฏิบัติการบุกทำลายของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ทั้งนี้ เมื่อปี 2553 เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เรื่องการแก้ปัญหากรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเขตอุทยานฯ กับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเป็นประธาน ซึ่งกลไกดังกล่าวมีหน่วยงานทุกภาคส่วนเป็นคณะทำงานร่วม และการทำงานที่ผ่านมา มีข้อตกลงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ 1.ให้ชะลอการจับกุม ดำเนินคดีกับชาวบ้าน 2.ให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของตนได้ 3.ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการถือครองในพื้นที่ทับซ้อน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายสวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ สกลนคร กล่าวว่า การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2552 นั้น ไม่มีการกันพื้นที่ทำกินชาวบ้านออกจากพื้นที่ รวมทั้งไม่มีการทำประชาพิจารณ์ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กลับใช้อำนาจข่มขู่ คุกคาม จับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้าน ข้อหาบุกรุกอุทยานฯ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอาศัยทำกินก่อนประกาศเขตอุทยานฯ

 

 

                “ข้อเท็จจริงในการแก้ไขปัญหา อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามข้อตกลง กระทั่งปี 2554 นายวสันต์ ปิ่นเงิน เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯ แทนคนเดิม กลับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของคณะทำงานแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเครือข่ายไทบ้านฯ แต่ใช้กฎหมายเข้าดำเนินการจับกุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานฯ รื้อถอน ทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการนำกำลังเข้าบุกตัดฟันต้นยางพาราของชาวบ้าน ในคืนวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่าน” นายสวาทกล่าว

 

 

นายสวาทกล่าวด้วยว่า เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กทับที่ทำกินและที่ดิน ผู้เดือดร้อน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.กุดบาก นิคมน้ำอูน วาริชภูมิ ส่องดาว จ.สกลนคร และ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้รับทราบ และให้มีการดำเนินการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับกรณีปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก

 

ความเป็นมาของปัญหา

 

ในช่วงปี พ.ศ.2537 อธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้น (นายผ่อง เล่งอี้) ได้มีคำสั่งให้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยให้อยู่ในความดูแลของหน่วยป้องกันและรักษาป่า ที่ สน.8 โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก – ภูผาหัก ต่อมาได้มีอนุมัติให้ตัดคำว่า ภูผาหัก ออก และในปี 2539 รัฐโดยกรมป่าไม้ โดยสำนักงานป่าไม้เขตอุดรธานี ได้ดำเนินการสำรวจและรังวัดขอบเขตพื้นที่เพื่อเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เพิ่มเติม คือ ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพระเจ้า ป่าดงพันนา ป่าแก่งแคน ป่าภูวง ป่ากุดไหนาใน ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์

 

ในปี พ.ศ.2544 หน่วยงานวิศวกรรมป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการรังวัดและปักหลักแนวเขตพื้นที่รอบนอกเพื่อจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ โดยได้ผนวกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในบริเวณโดยรอบจำนวน 19 ป่า เข้าเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก รวมเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 419 ตารางกิโลเมตร หรือ 261,875 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี และ จ.กาฬสินธุ์ ดังนี้

 

1.จังหวัดสกลนคร ครอบคลุมพื้นที่สำรวจคิดเป็นร้อยละ 90 ประมาณ 377 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงพันนา ป่าสงวนแห่งชาติดงพระเจ้า เขต อ.สว่างแดนดิน และ อ.ส่องดาว ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุดไฮ ป่าสงวนแห่งชาติป่านาใน และป่าสงวนแห่งชาติป่าโนนอุดม ท้องที่ อ.กุดบาก ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูวง ท้องที่ อ.วาริชภูมิ  อ.นิคมน้ำอูน และอ.กุดบาก จ.สกลนคร

 

2.จังหวัดอุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ที่สำรวจคิดเป็นร้อยละ 4 ประมาณ 16.5 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว ป่าสงสวนแห่งชาติป่าหัวนาคำ ป่าสงวนแห่งชาติป่านายูง ป่าสงวนฯ ป่าหนองกุงทับม้า ป่าสงวน ฯ ป่าหนองหญ้าไชย เขต อ.ศรีธาตุ ป่าสงวน ฯ ป่าบ้านจิต ป่าไชยวาน ป่าหนองหลัก ป่าดอนสาย  อ.หนองหาน  อ.ไชยวาน ป่าหนองหญ้าไซ ป่าท่าลาด ป่าวังชัย และป่าลำปาว ต.หนองหญ้าไซ  อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี

 

3.จังหวัดกาฬสินธุ์ ครอบคลุมพื้นที่สำรวจคิดเป็นร้อยละ 6 ประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแก้งกะอาม ในต.ทุ่งครอง อ.สหัสขันธ์ ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ (ปัจจุบันแยกเป็น อ.คำม่วง)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                       

                                

สภาพปัญหาและผลกระทบ

 

 

จากการรังวัดพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานนั้นได้ผนวกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติภูมผาเหล็ก นั้นได้ซ้อนทับที่ตั้งของชุมชน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินของราษฎรจำนวน 6 อำเภอ 9 ตำบล 3 จังหวัด 20 หมู่บ้าน โดยประมาณ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น

 

1.กระทบต่อที่ตั้งชุมชนและที่อยู่อาศัย ได้แก่ 1.1.บ้านบ่อแกน้อย บ้านหนองม่วง บ้านทรายทอง บ้านท่าวัด บ้านคำติ้ว ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร 1.2.บ้านหนองกุง บ้านชัยชนะ บ้านคำก้าว บ้านท่าศิลา บ้านภูตะคาม (ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน) ต.ส่องดาว ต.ท่าศิลา อ.ส่องดาว จ.สกลนคร 1.3 บ้านวังทอง บ้านสมสวัสดิ์ บ้านน้อยสุมณฑา ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี

 

2.กระทบต่อที่ดินทำกินของชาวบ้าน ได้แก่ 2.1 บ้านผาสุก ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี  2.2 บ้านค้อเคียว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร 2.3 ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์

 

จากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กทับที่ตั้งชุมชน ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านนั้นได้ส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา และเกิดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ได้แก่ เจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเขตในการเข้าทำกินในที่ดินทำกิน โดยมีกระแสการข่มขู่ คุกคาม ขับไล่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งจากการรังวัดและปักแนวเขตอุทยานนั้นหน่วยงานรัฐมิได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการชี้แนวเขต และการปักแนวเขตได้รุกล้ำที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน อีกทั้งการเข้าใช้ประโยชน์ในป่าที่ถูกกีดกันโดยในอดีตชาวบ้านสามารถเข้าเก็บหาของป่า หาฟืน เพื่อการยังชีพได้ ภายหลังมีการเตรียมการประกาศเขตอุทยานฯ และมีเจ้าหน้าที่เข้าไปอยู่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้

 

 

การดำเนินการแก้ไขปัญหา

 

 

1.วันที่ 19 มิถุนายน 2545 คณะกรรมเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ภูผาเหล็ก ร่วมกันยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการร้องเรียนเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา ตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ ให้เพิกถอนแนวเขตอุทยาน ให้เจ้าที่ในพื้นที่ยุติ การคุกคาม ข่มขู่ หรือ พูดจาไม่สุภาพกับชาวบ้าน และให้รื้อถอนสำนักงานที่ตั้งทับแหล่งน้ำซับของชาวบ้าน คณะกรรมการเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีอุทยานแห่งชาติทับที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

2.คณะกรรมการศูนย์ประสานงานเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ภูผาเหล็ก ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาการประกาศอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กทับที่ดินของชาวบ้าน ต่อนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2545

 

3.สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ มีหนังสือเลขที่ กษ 0100/4913 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2545 ถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีกลุ่มราษฎรและผู้นำท้องถิ่นได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) เรื่องพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กทับที่ทำกินของชาวบ้านและกรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้พูดจาไม่สุภาพ ข่มเหงรังแกราษฎรและมีการก่อสร้างสำนักงานทับแหล่งน้ำซับของราษฎร

 

4.หนังสือส่วนราชการสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ กษ 0100/ ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2545 ถึง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) เรื่อง รายงานผลการปฏิบัติงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กตามข้อเรียกร้องของราษฎร ในวันที่ 19 มิถุนายน 2545 และขอแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งสรุปผลได้ดังนี้ การปฏิบัติงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 15 สิหงหาคม 2545 โดยได้มีเวทีพบปะราษฎร อ.ส่องดาว จ.สกลนคร มีราษฎรเข้าร่วมจำนวน 400 – 500 คน โดยประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และมีข้อสรุปคือ ขอให้มีการปรับปรุงแนวเขตระหว่างอุทยานทับที่ทำกินของราษฎรและบางส่วนขอให้ยกเลิกเขตอุทยานและขอให้ไม่ให้จับกุมราษฎรที่เข้าเก็บหาของป่า

 

(1) กรณีสถานที่ก่อสร้างสำนักงานอุทยานฯ ได้มีการก่อสร้างไปแล้วและมีการก่อสร้างใกล้กับแหล่งนำซับของราษฎร ให้สำนักงานอุทยานแก้ไขโดยมีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับอุทยานดูแลไม่ให้มีน้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำกิน น้ำใช้ของราษฎร

 

(2) กรณีที่สำนักสงฆ์ อยู่ในเขตพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานเนื้อที่ 1,200 ไร่ ให้มีการแก้ไขโดยขอให้ทางอุทยานยกเลิกการกั้นทางขึ้นและให้ทำความเข้าใจกับเจ้าอาวาส เพื่อความร่วมมือในการทำงานและสำหรับพื้นทีวัดจะมีการเร่งเพื่อทำการประกาศให้ถูกต้อง

 

(3) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติและแก้ปัญหาได้เป็นการถาวร ให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโดยให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ) เป็นประธานและให้ข้าราชการในพื้นที่ ผู้นำชุมชนและราษฎรในพื้นที่ร่วมเป็นคณะทำงาน

 

 

5.หนังสือวันที่ 14 สิงหาคม 2545 นายแทน ขาวขันธ์ ผู้ใหญ่บ้านโคกตาดทอง ม. 5 ต.ค้อเคียว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร และคณะกรรมการประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จำนวน 18 คน ร่วมด้วย นายสาคร พรมภักดี ส.ส. เขต 4 จ.สกลนคร นายจิต มีชาติ สมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและคัดค้านกรณีการตั้งอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมทั้งเสนอให้ตั้งเป็นเขตป่าชุมชนแทน

 

6.หนังสือส่วนราชการ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขที่ กษ 0100/6509 ลงวันที่ 23 กันยายน 2545 ลงชื่อ นายชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพัลลภ เรื่องแจ้งให้ป่าไม้เขตอุดรธานี เข้าประชุมกรณีปัญหาพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ในวันพุธ ที่ 25 กันยายน 2545 เวลา 10.00 น. ณ ห้องทำงานกระทรวงเกษตรฯ

 

7.วันที่ 25 มกราคม 2546 สำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ ที่ นร. 0104.33/1544 ลงวันที่ 24 มกราคม 2546 ถึง นายทองชัย ฟองชน (ประธานกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก) โดยอ้างถึงหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ นร. 0108.33/27174 ลงวันที่ 10 กันยายน 2545 เรื่องแจ้งให้ทราบกรณีการร้องเรียนของราษฎรโดยได้ส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรแล้วและรายงานผลการพิจารณาข้อเรียกร้องของราษฎร ตามรายละเอียดหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ ทส. 0913/42 ลงวันที่ 3 มกราคม 2546 เรื่องการชี้แจงรายละเอียดประเด็นร้องเรียนของราษฎร ซึ่งกรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วแจ้งผลให้ราษฎรทราบ โดยมีรายละเอียด คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ตรวจสอบแล้ว เรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องที่ราษฎรได้ยื่นหนังสือร้องเรียน ฉบับที่ 18 มิถุนายน 2545 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) ขณะนั้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545 ซึ่งกรมป่าไม้เดิม ได้ตรวจสอบและรายงานผลให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ทราบ ตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ กษ 0712.3/1469 ลงวันที่ 26 กันยายน 2545 สรุปดังนี้

 

1.กรณีการประกาศพื้นที่และรังวัดปักแนวเขตในปี 2544นั้น กรมป่าได้ตรวจสอบแล้วและสรุปผลว่าไม่มีการทับที่ของชาวบ้านแต่ย่างใด เป็นแต่พียงการรังวัดพื้นที่รอบนอกซึ่งจะมีการรังวัดพื้นที่ทำกินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติในลักษณะไข่แดงออกจากเขตอุทยานแห่งชาติในโอกาสต่อไป

 

2.กรณีเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ พูดจาไม่สุภาพและการข่มขู่ คุกคาม และขับไล่ชาวบ้านนั้นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ชี้แจงว่าเป็นการจับกุมราษฎรที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อนุรักษ์

 

3.กรณีการสร้างที่ทำการอุทยาน ฯ กรมป่าไม้อ้างว่าจุดที่ก่อสร้างนั้นเป็นป่าเต็งรัง อยู่ต่ำกว่าแหล่งน้ำซับของราษฎรและอยู่ห่างจากแหล่งน้ำและสิ่งก่อสร้างมีระบบบำบัดน้ำเสียแบบไบโอเซฟทั้งหมดจึงไม่มีปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

8.วันที่ 27 กันยายน 2545 ตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.อ.ทรงบุญ วุฒวงศ์ และนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ) ลงพื้นที่เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของราษฎร แต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด

 

9.วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 ตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย พ.อ.ทรงบุญ วุฒิวงศ์ เป็นประธาน ได้ประชุมร่วมกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กประกาศทับที่ จาก ต.ศิลา ต.ปทุมวาปี ต.ส่องดาว จ.สกลนคร และ ต.ผาสุก จ.อุดรธานี จำนวน 50 คน และมีข้อสรุปคือ

 

1.กรณีการประกาศอุทยานฯ ตัวแทนกระทรวงทรัพยากรฯ ยืนยันว่ายังไม่มีการประกาศเขตอุทยานฯ และจะไม่มีการประกาศอุทยาน ฯ หากราษฎรไม่ยินยอม

 

2.กรณีการติดป้ายประกาศเขตอุทยานแห่งชาติให้มีการตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่โดยประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านที่ประสบปัญหา 5 ต. ประกอบด้วย ต.ปทุมวาปี ต.ศิลา ต.ส่องดาว ต.ผาสุก และเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ ให้ประชุมเพื่อหามติแลแนวทางร่วมกันร่วมกัน

 

10.วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ภูผาเหล็ก โดยมีนายทองชัย ฟองชล เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องและข้อตกลงร่วมกันระหว่างตัวแทนกระทรวงทรัพยากรฯ ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 กรณีการปลดป้ายอุทยานฯ และการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันในการติดตามการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานรัฐและได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการปลดป้ายอุทยานฯ และป้ายจำแนกเขตออกทั้งหมดภายใน 15 วัน และให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือหวงกันไม่ให้ราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกิน

 

พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานฝ่ายราษฎรเพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวน 12 คน

 

11.หนังสือจากอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เลขที่ ทส 0923.605/76 ลงวันที่ 20 เมษายน 2547 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ตามหนังสือเรียกร้อง ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ซึ่งสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 10 (จ.อุดรธานี) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสรุปปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหา จำนวน 5 คน ตามคำสั่งสำนักฯ 10 ที่ 1182/2547 ลงวันที่ 2 เมษายน 2547 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐโดยมี ผ.อ.ส่วนป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ เป็นหัวหน้าคณะ และหัวหน้าอุทยานฯ ภูผาเหล็ก เป็นคณะทำงานและเลขานุการ ทั้งนี้คณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นไม่มีรายชื่อของคณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ภูผาเหล็กจำนวน 12 คน ตามรายชื่อที่ส่งในวันที่ 24 ก.พ. 2547 แต่อย่างใด

 

ข้อเรียกร้อง

 

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในการประกาศอุทยานฯ ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อยื่นของเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐ โดยมีข้อเรียกร้อง คือ

 

1.กรณีการชี้แนวเขตอุทยานรุกล้ำทับที่ดินทำกินของราษฎร ให้มีการเพิกถอนแนวเขตอุทยานที่ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร

 

2.ให้สิทธิกับประชาชนในการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ในการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากร   โดยประชาชน

 

3.ให้มีการรื้อถอนที่ทำการอุทยานที่ก่อตั้งทับแหล่งน้ำซับที่เป็นแหล่งนำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน

 

สถานการณ์ปัจจุบัน

 

1.ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายหรือไม่

 

2.ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนรอบพื้นที่รวมกันเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการประกาศอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กในพื้นที่โดยเด็ดขาด

 

3.ราษฎรใน ต.ปทุมวาปี  อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ทุกหมู่บ้าน ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก โดยมีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์ป่า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: