‘EDF’คว้ารางวัล Thailand NGO Award 2012 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

วรลักษณ์ ศรีใย ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 17 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2772 ครั้ง

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่หมายถึงองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทั้งที่จดทะบียนและไม่จดทะเบียน อยู่ประมาณ 30,000 แห่ง ในรูปของกลุ่ม สมาคม มูลนิธิ ซึ่งที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับกระทรวงมหาดไทยมีอยู่เพียง 3,000 แห่งเท่านั้น ซึ่งภารกิจหลักขององค์กรพัฒนาเอกชนเหล่านี้ คือการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนในการตัดสินใจและการพัฒนา อย่างไรก็ตาม NGO ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนั้นแหล่งสนับสนุนเงินทุนของ NGO ไทยมาจากต่างชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งแหล่งทุนดังกล่าวได้เริ่มลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้NGO เมืองไทยต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อหาเงินทุนทำงาน

 

จากภาวะดังกล่าว ได้มีองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศได้พลิกวิกฤตนั้นให้เป็นโอกาสด้วยการ ตั้งรางวัลเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดแหล่งเงินทุนต่างๆ เพื่อความอยู่รอดของ NGOไทย และได้ดำเนินงานตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

 

 

รางวัลองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งประเทศไทย หรือ Thailand NGO Awards จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือของ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ร่วมกับ รีซอร์ส อันลิอันซ์ และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย มีระบบบริหารจัดการที่ดี สร้างมาตรฐานและแนวปฏิบัติในการระดมทรัพยากรอย่างมีธรรมาภิบาล เสริมสร้างขีดความสามารถและส่งเสริมให้NGO เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กร

 

โครงการรางวัลองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO Award) เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ.2457  โดย เดอะรีซอร์ส อัลลิอันซ์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการระดมทรัพยากร และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเป้าหมายอย่างยั่งยืน ในครั้งนั้นมีองค์กรพัฒนาเอกชนจาก 8 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศไทย  และเมื่อปี 2554 ได้จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

 

 

เกณฑ์ตัดสิน เน้นธรรมาภิบาล จัดการเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพตัวเอง

 

 

มร.ริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า Thailans NGO Awards 2012  จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้มีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 100 องค์กร โดยพิจารณาคัดเลือกจากใบสมัคร ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในสนาม เพื่อหาองค์กรตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จำนวน 12 องค์กร  

 

โดยเกณฑ์การตัดสินคณะกรรมการได้พิจารณาจาก 6 มิติ ดังนี้คือ 1.การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประสิทธิผล สามารถอธิบายถึงแนวทางกระบวนการหรือมาตรการในการใช้ทรัพยากรตอบสนองต่อจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ และมีความสอดคล้องกับแผนงาน  2.องค์กรสามารถอธิบายถึงวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดการระดมทรัพยากรในท้องถิ่นขึ้นในระดับองค์กรและโครงการ ทั้งจากผู้มีส่วนได้เสียและอาสาสมัคร

 

3.รูปแบบการระดมทรัพยากร ที่สามารถนำไปขายผลทั้งในกลุ่มชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ที่สามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติและเรียนรู้ทบทวนได้  4.แนวปฏิบัติ วิธีการ การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล การบริหารงานภายใน กฏระเบียบด้านบริหารที่ชัดเจน การตรวจสอบภายในและภายนอก ระบบการรายงานระหว่างคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้บริจาค อาสาสมัคร แนวปฏิบัติด้านการจัดการ และการตรวจสอบด้านการเงิน การส่งเสริมให้ประพฤติตามกฏหมายและจริยธรรม นโยบายด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 5.ผลลัพธ์จากการดำเนินงานขององค์กร และการประเมินผลกระทบจากการดำเนินการและโครงการ โดยภาพรวมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในภาคประชาสังคมและผู้ด้อยโอกาส และ 6.คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่องค์กร แสดงให้เห็นความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืน ให้กับองค์กรและกลุ่มชุมชนผู้ได้รับผลประโยชน์

 

 

5 องค์กรเพื่อคนพิการเข้าชิง ไร้เงาสิ่งแวดล้อม

 

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่หน้าสังเกตว่า จากตัวเลของค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยทั้งหมด 30,000 องค์กร แต่มีองค์กรที่ส่งใบสมัครเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ เพียงแค่ 100 กว่าองค์กร ซึ่งจากรายชื่อองค์กรที่เข้ารอบ 12 องค์กรสุดท้าย จะเป็นองค์การที่ทำงานด้านเด็ก คนพิการ ด้านที่อยู่อาศัย และสุขภาพ แต่ไม่มีองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม งานอนุรักษ์ ที่คัดค้านนโยบายของรัฐเลย

 

สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนดีเด่นประจำปี 2555 ที่ผ่านการคัดเลือกจาก 100 กว่าองค์กร ประกอบด้วย 1.มูลนิธิหมอชาวบ้าน ก่อตั้งเมื่อปี 2522 โดยมุ่งสนับสนุนให้ชาวบ้านทุกคนเป็นหมอและมีความรู้ ความเข้าใจด้านการดูแลสุขภาพ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้เมื่อเจ็บป่วย และได้ริเริ่มรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ เช่น วิ่งเพื่อสุขภาพ รณรงค์เพื่อไม่สูบบุหรี่

 

2.สมาคมคนตาบอด จ.พิษณุโลก ก่อตั้งปี 2544 จุดประสงค์เพื่อให้บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่คนตาบอด รวมทั้งการส่งเสริมให้คนตาบอดได้รับโอกาสที่เท่าเทียม เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม  3.โครงการฟื้นฟูผู้พิการชุมชน มูลนิธิธิดาเมตตาธรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 ในพื้นที่จ.เลย เริ่มดำเนินการในโครงการค่ายอพยพบ้านวินัย ซึ่งเปิดทำการเพื่อรองรับผู้อพยพจากจ.เชียงขวาง ของประเทศลาว โดยในปี 2522 มีผู้อพยพที่เป็นโรคเรื้อนได้เข้ามาอยู่ที่ศูนย์อพยพ คณะซิสเตอร์ธิดาเมตตาธรรม จึงเข้ามาดูแลฟื้นฟูผู้อพยพที่เป็นโรคเรื้อน และให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้พิการในหมู่บ้านชาวไทยที่ใกล้เคียงกับค่ายอพยพ และยังทำงานด้านส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวม้งด้วย

 

 

4.สมาคมคนตาบอดชาวอีสาน ก่อตั้งในปี 2523 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนตาบอดที่มีภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เข้ามาประกอบอาชีพและศึกษาพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองในเขตกรุงเทพฯ โดยให้ความช่วยเหลือแก่คนตาบอดได้เข้าถึงสิทธิต่างๆตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด  5.มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เชียงใหม่ ดำเนินการในด้านช่วยเหลือเด็กและสตรีชนเผ่าที่ถูกเอาเปรียบโดยการสนับสนุนด้านการศึกษา และการฝึกอบรมต่างๆ ฝึกวิชาชีพ เรียนรู้ภาษาไทย เพื่อช่วยให้หญิงสาวเหล่านี้ประกอบอาชีพสุจริต

 

6.สมาคมคนพิการจังหวัดสมุทรปราการ ก่อตั้งเมื่อปี 2525 โดยการรวมตัวของผู้พิการที่มีความคิดเห็นตรงกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการที่ถูกทอดทิ้ง ทำหน้าที่เรียกร้องสิทธิพื้นฐาน ส่งเสริมและพัฒนาคนพิการอย่างต่อเนื่อง  7.มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว ก่อตั้งในปี 2541 โดย ดร.อัมพวา วัฒนาวงศ์ อดีตเด็กกำพร้าที่อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือคนอื่น โดยรวบรวมเพื่อนก่อตั้งองค์กรสาธารณกุศล ดำเนินงานเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า และครอบครัวที่ยากจน  8.มูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย (ประเทศไทย) หรือ  WAFCATก่อตั้งเมื่อปี 2542 ดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการทางการเคลื่อนไหว ให้มีเก้าอี้ล้อเข็นที่เหมาะสม เพื่อให้คนพิการสามารถพึ่งตนเองได้ และเช้าถึงโอกาสต่างๆ เช่น การศึกษาและสวัสดิการต่างๆ

 

 

‘มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา’ เข้ารอบสุดท้าย

 

 

9.มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา หรือ อีดีเอฟ ก่อตั้งในปี 2530  เป้าหมายเพื่อบรรเทาความยากตน พัฒนาแผนการศึกษา และอำนวยการสื่อสารช่วยเหลือระหว่างประเทศ โดยได้ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาภาคบังคับและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 10.มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ. ก่อตั้งขึ้นจากความช่วยเหลือของ Chirstian Children’s Fund,Inc. สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กยากไร้ในด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดี โดยทำงานให้การศึกษาแก่เด็กยากไร้ใน 47 จังหวัดของไทย 11.มูลนิธิที่อยู่อาศัย ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 เป็นเครือข่ายองค์กรที่อยู่อาศัยสากล ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้มีโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เรียบง่ายและน่าอยู่ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน โดยผู้เข้าร่วมโครงการสามารถมีบ้านของตนเองได้ตามกำลังทรัพย์ของตน  และสุดท้ายองค์กรที่ 12.มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  ริเริ่มขึ้นจากการที่องค์กรอนามัยโลกประกาศเป็นปีแห่งการไม่สูบบุหรี่ จึงเป็นประเด็นที่กลุ่มคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข เพื่อรณรงค์ให้คนไทยลดการสูบบุหรี่และสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่แก่คนรุ่นใหม่ นำมาสู่โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ต่อมาในปี 2539 จึงปรับเปลี่ยนสถานะเป็น มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘อีดีเอฟ’คว้ารางวัลยอดเยี่ยมองค์กรระดับใหญ่

 

 

สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนต้นแบบระดับประเทศ ที่ได้รับรางวัล “องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555” (Thailand NGO Awards 2012 ) ประจำปีนี้  ได้แก่ ประเภทองค์กรระดับเล็ก รางวัลยอดเยี่ยมได้แก่ มูลนิธิหมอชาวบ้าน รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ สมาคมคนตาบอดจังหวัดพิษณุโลก รางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ โครงการฟื้นฟูผู้พิการชุมชน มูลนิธิธิดาเมตตาธรรม สาขาเลยและ รางวัลชมเชยได้แก่ สมาคมคนตาบอดชาวอีสาน

 

ประเภทองค์กรระดับกลาง รางวัลยอดเยี่ยมได้แก่ มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ สมาคมคนพิการจังหวัดสมุทรปราการ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว (ฟอร์เด็ก) และรางวัลชมเชยได้แก่มูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย(ประเทศไทย) หรือ WAFCAT

 

และสำหรับองค์กรระดับใหญ่ รางวัลยอดเยี่ยมได้แก่ มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ ในประเทศไทย รองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ มูลนิธิที่อยู่อาศัย ประเทศไทย และ รางวัลชมเชย ได้แก่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

 

 

แนะเอ็นจีโอไทยปรับตัว เพิ่มศักยภาพตัวเอง

 

 

น.ส.นีลาม  มัคคาจานิ ผู้บริหาร เดอะรีซอร์ส อัลลิอันซ์ กล่าวว่า สถานการณ์การสนับสนุนเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น องค์กรพัฒนาเอกชนไทยจึงต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับและพัฒนาความพร้อมเพื่อดึงดูดแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เพื่อความยั่งยืนขององค์กร องค์กรที่ส่งใบสมัครเพื่อเข้าคัดเลือก NGO Awards ในปีนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้สมัครจากปีที่แล้ว แต่เห็นได้ชัดว่า NGO ไทยมีการพัฒนาตนเองขึ้นมาก มีการบริหารที่ดี ทำงานได้ดี

 

 

                “จากใบสมัครที่ส่งเข้ามา เห็นได้เลยว่า NGO ไทยมีการพัฒนาขึ้นมาก ที่เห็นตัวอย่างได้ชัด เช่น สมาคมคนตาบอดจังหวัดพิษณุโลก สมาคมคนตาบอดชาวอีสาน และสมาคมคนพิการจังหวัดสมุทรปราการ จากที่เราลงพื้นที่ภาคสนาม ดูการทำงาน เห็นได้เลยว่ามีการพัฒนาการทำงานที่เป็นระบบขึ้นมาก”

 

ทั้งนี้นีลามกล่าวว่า ในอนาคตรูปแบบการทำงานของ NGO ต้องเปลี่ยนไป เพราะขณะนี้ผู้บริจาคส่วนใหญ่เปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยบริจาคโดยไม่ต้องการอะไร แต่ตอนนี้ผู้บริจาคต้องการเห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรม มีรูปเล่มรายงานชัดเจน ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนเองคงต้องปรับตัวเองมากขึ้น โดยมีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการบันทึกการทำงาน อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำเสนอต่อแหล่งทุน

 

 

จี้รัฐไม่อยากให้รับเงินต่างชาติก็ต้องสนับสนุน

 

 

ส่วนปัญหาที่องค์กรพัฒนาเอกชนของไทยถูกตัดงบประมาณ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกและประเทศเดียวที่ประสบปัญหาเช่นนี้  มีเกิดขึ้นกับหลายประเทศ แต่ภาครัฐต้องมีการลงทุนหรือเตรียมพร้อมให้กับเอ็นจีโอ ว่าหากไม่รับเงินจากต่างชาติจะให้ทำอย่างไร กรณีประเทศอินเดีย ภาครัฐก็ประกาศว่า เอ็นจีโอไม่ต้องการแหล่งเงินจากนอกประเทศ ประเทศเอธิโอเปียก็เช่นเดียวกัน ซึ่งนีลามมองว่า หากรัฐบาลต้องการประกาศในเชิงนั้น รัฐบาลต้องสร้างความสามารถหรือศักยภาพของเอ็นจีโอ ให้รองรับกับสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งการทำอย่างนี้ ต้องทำทั้งหมด ทั้งภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกัน ตัวอย่างประเทศศรีลังกาที่ประกาศว่าตัวเองเป็นประเทศที่พ้นจากประเทศกำลังพัฒนา ประชาสังคมในประเทศได้รวมตัวกันและยื่นข้อเสนอกับแหล่งทุนว่า ถ้ารัฐจะตัดงบประมาณ ควรจะให้สิ่งอื่นมาทดแทน

 

 

                “หากรัฐบาลหรือผู้บริจาคเองต้องการจะตัดอะไร ควรที่จะเสริมให้ศักยภาพให้เราหาทุนเองได้ด้วยส่วนหนึ่ง ประเทศอื่นก็ทำแบบนี้เช่นเดียวกัน คือนำเงินมาเพื่อสร้างศักยภาพ เพราะว่าถ้าเราไม่มีศักยภาพเราไม่สามารถทำงานต่อได้ ในอดีตที่ผ่านมา NGO เมื่อได้เงินมาจะใช้เงินในการทำงานจนหมด ไม่ได้เก็บเงินไว้เพื่อทำงานเชิงรุก”

 

นอกจากนี้ NGO ไทยอยังไม่มีความสามารถในการทำการตลาดเพื่อหาทุน ซึ่งคงจะต้องฝึกในด้านนี้ให้ได้ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการหาทุน

 

 

ชี้เอ็นจีโอไทยไม่ความเข้มแข็ง ต่อรองรัฐบาลไม่ได้

 

 

ขณะที่ ริชาร์ด จากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า วิกฤตการถูกลดงบประมาณจากรัฐบาลและแหล่งทุนอาจจะเป็นโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายให้ NGO เข้มแข็งขึ้น เพื่อยื่นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองกับรัฐบาล หรือแหล่งทุน เพราะที่ผ่านมา NGO เมืองไทย ไม่มีการรวมตัวกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง จึงไม่มีโอกาสจะพูดกับรัฐบาลได้ ซึ่งวิกฤตินี้อาจจะเป็นโอกาส

 

 

                 “อาจจะเรียกได้ว่า นี่เป็นจุดอ่อนหนึ่งของ NGO เมืองไทย คือไม่มีการรวมตัวกันเป็นองค์กรอย่างเข้มแข็ง ไม่มีผู้ใหญ่ที่จะเป็นหลัก เมื่อก่อนยังเห็นมีชัย วีระไวทยะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เห็นว่ามีใครพอพูดได้”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: