'ดร.สมชัย จิตสุชน'ชี้นโยบายรัฐ ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 15 พ.ค. 2555


ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันแล้วว่า สถานการณ์ราคาสินค้าที่ขยับขึ้นยกแผง ไม่ใช่อาการอุปทานหมู่ หรือคิดไปเองของประชาชน ดังที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยกล่าวไว้ และถึงจะล่าช้าไปบ้าง แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

มาตรการหนึ่งของรัฐบาลคือ ความพยายามตรึงราคาสินค้าไว้ให้นานที่สุด ขณะที่ภาคธุรกิจส่งสัญญาณว่า การแทรกแซงกลไกตลาดมิใช่การแก้ปัญหาราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นที่ต้นเหตุ ภาคธุรกิจหลายแห่งอ้างว่าต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นอยู่แล้ว และไม่สามารถคงราคาเช่นนี้ไว้ได้อีกนานนัก หากรัฐบาลไม่เร่งรีบแก้ไข

คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงได้อย่างไร เมื่อรัฐบาลเองคือส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง

 

ราคาอาหาร-น้ำมันตลาดโลกดันราคาสินค้าไทยแพงขึ้น

 

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า สถานการณ์ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้นหรือเงินเฟ้อเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยากควบคุม อย่างราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นมาระยะหนึ่งจากการเริ่มฟื้นตัวของวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แม้ว่าหลังจากนั้นราคาอ่อนตัวลงเล็กน้อย แต่ถ้าดูแนวโน้มด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์บวกกับสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง พบว่า แนวโน้มราคายังคงเป็นขาขึ้น ขณะที่ปีที่แล้ว วัฎจักรราคาอาหารในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นก็เริ่มลดลงในช่วงปลายปี ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะลงแค่ชั่วคราวหรือไม่ หากราคาลงชั่วคราวแล้วดีดกลับขึ้นมาใหม่ ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบอีก

ส่วนที่รัฐบาลกล่าวว่า เริ่มเห็นสัญญาณราคาลดลงแล้ว ดร.สมชัย อธิบายถึงตัวเลขของเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ราคาสินค้าไม่ได้ขยับขึ้นมาก ถือว่าขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม แต่เวลาดูเงินเฟ้อสามารถดู 2 แบบ คือเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กับอีกวิธีคือเปรียบเทียบเดือนนี้กับเดือนที่แล้ว ซึ่งวิธีดูตัวเลขเงินเฟ้อแบบที่ 2 มีวิธีการทางเทคนิคว่า ต้องตัดเรื่องฤดูกาลออกไปก่อน เพราะมีสินค้าบางอย่าง ถ้าเดือนนี้ เดือนนั้น ราคาจะไม่เหมือนเดือนอื่น เช่น สินค้าที่ออกตามฤดูกาล

 

“สิ่งที่รัฐบาลบอกก็คือว่าราคาสินค้าเริ่มลง มันลงทั้งสองแบบด้วยซ้ำ คือเมื่อเทียบกับเมษายนปีที่แล้ว มันไม่ได้สูงมาก แค่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ จากสี่ห้าเดือนก่อนหน้า มันสามสี่เปอร์เซ็นต์มาตลอด และเทียบเดือนต่อเดือนมันก็ไม่ขึ้นจริงๆ ถามว่าเริ่มมีสัญญาณอ่อนตัวหรือไม่ เป็นไปได้”

 

แต่ ดร.สมชัย ชี้ให้เห็นว่า การเห็นสัญญาณราคาเริ่มชะลอตัวลงในเดือนเมษายนปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเดือนเมษายนปีที่แล้วสูงมาก จึงต้องติดตามดูต่อไปว่าเส้นกราฟของเมษายนปีนี้จะชันขึ้นหรือจะอยู่ในระดับเดิม หากอยู่ในระดับเดิม เงินเฟ้อที่เหลือของปีจะไม่สูง ความรู้สึกว่าของแพงจะเริ่มเจือจางไป ทั้งนี้ทั้งนั้นมิได้หมายความว่าราคาสินค้าจะลดลง

“ที่ต้องดูต่อไปมีสองสามประเด็นคือ แล้วราคาสินค้าจะอ่อนตัวลงไปอีกหรือเปล่า ผมลองดูตัวเลขแล้ว มีตัวเลขตัวหนึ่งคือแนวโน้มราคาอาหารซึ่งเป็นตัวสำคัญมากในเรื่องเงินเฟ้อพบว่า มีสัญญาแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ตัวเลขของประเทศไทย ผมให้ต้นปีของปี 2553 จะเห็นว่าตัวที่แพงขึ้นเร็วมากคือราคาอาหาร ช่วงที่ขึ้นเยอะคือช่วงต้นปีของปีที่แล้ว จุดนี้เป็นเหตุหนึ่งให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเลือกตั้งตอนเดือนกรกฎาคม แต่ของมันเริ่มแพงตั้งแต่เดือนเมษายน คนรู้สึกว่าของแพงต่อเนื่องมา 3 เดือน แล้วก็เลือกตั้ง”

 

อย่างไรก็ตาม ดร.สมชัย เตือนว่า ปัจจัยภายในประเทศน่ากังวลกว่าปัจจัยภายนอก

 

ปัจจัยภายในดันของแพงมากกว่าปัจจัยภายนอก

 

ดร.สมชัยกล่าวว่า ต้องกลับมาสำรวจว่าปัจจัยภายในประเทศมีส่วนทำให้ราคาสินค้าขึ้นต่อหรือเปล่า เพราะแม้ว่าปัจจัยภายนอกประเทศจะมีผลพอสมควร เช่น ราคาอาหาร แต่ปลายปีที่แล้วราคาก็เริ่มลดลง แต่ในประเทศไทยราคากลับไม่ลด เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลอ้างคือปัญหาอุทกภัย ซึ่ง ดร.สมชัย คิดว่ามีผลบ้าง แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการประกาศนโยบายประชานิยมหลายนโยบายของรัฐบาลที่มีผลกระตุ้นการบริโภค รวมถึงนโยบายค่าแรงที่ประกาศไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงหาเสียง ทั้งหมดนี้นำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อ

 

“พ่อค้า แม่ค้า รู้หมดว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าค่าแรงจะขึ้น จะมีคนที่กำเงินในมือเยอะ พร้อมจะจับจ่ายซื้อของ จึงเป็นไปได้ว่า ช่วงปลายปีที่แล้วที่ของเราดูจะแพงกว่าตลาดโลกอาจจะมาจากน้ำท่วมและการคาดการเงินเฟ้อด้วย มันจึงมีสาเหตุจากทั้งสองส่วนคือปัจจัยภายในและภายนอก แต่ปัจจัยภายนอกเมื่อดูจากปีที่แล้วจะพบว่ามันมีปัจจัยเอื้อให้ราคาสินค้าลง แต่เราไม่ลง เพราะฉะนั้นอย่างน้องตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ปัจจัยภายในน่าจะมีผลอยู่มาก”

 

ดร.สมชัยกล่าวว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ไม่รอบคอบ โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท นโยบายประชานิยม และการแทรกแซงนโยบายการเงิน คือ 3 ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อตามมา

 

ค่าแรง 300 จัดการไม่ดี ทำของแพง

 

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ดร.สมชัยกล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบอาจยังไม่มาก เพราะเพิ่งเริ่มต้นแค่ 7 จังหวัด และเป็น 7 จังหวัดซึ่งคนงานส่วนได้รับค่าแรงสูงและมีฐานะค่อนข้างดีอยู่แล้วเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น แต่เมื่อเทียบกับการขึ้นค่าแรงรอบหลังที่จะตามมา คือการขึ้นค่าแรง 40 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ แล้วขึ้นเป็น 300 บาท ในปี 2557 ต่างหากที่น่ากังวล เพราะเพียงแค่ขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ค่าแรงนอกพื้นที่กรุงเทพฯ สูงขึ้นและทำให้เงินเฟ้อในต่างจังหวัดสูง

 

โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดเงินเฟ้อ ประชาชนในต่างจังหวัดจะได้รับผลกระทบแรงกว่าคนกรุงเทพฯ เนื่องจากประชาชนในต่างจังหวัดเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารสูงกว่าคนกรุงเทพฯ ค่าอาหารของคนกรุงเทพฯ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยังต่ำกว่าคนต่างจังหวัดอยู่มาก และเมื่อเกิดการขึ้นค่าแรงในพื้นที่ต่างจังหวัดก็อาจเกิดอุปสงค์ในพื้นที่ต่างจังหวัดสูง ซึ่งจะยิ่งไปซ้ำเติมภาวะของแพงในต่างจังหวัด

ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันหรือตั้งโรงงาน ถ้าขึ้นค่าแรงเร็วเกินไปและมากเกินไป โรงงานอาจอยู่ไม่ได้ คนงานตามต่างจังหวัดจะยิ่งได้รับผลกระทบหนัก เพราะต้องเจอสภาพทั้งของแพงและไม่มีงานทำ ดังนั้น นโยบายขึ้นค่าแรงระลอก 2 และ 3 จึงเป็นนโยบายที่ ดร.สมชัย เห็นว่าค่อนข้างอันตรายและต้องระมัดระวัง

 

ถามว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐพยายามเข็นออกมาเพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ช่วยได้หรือไม่

 

“ผมคิดว่าแนวโน้มน่าจะไม่ได้ผล เพราะเมื่อเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เขาเข้าไม่ถึงประโยชน์จากมาตรการของรัฐอยู่แล้ว เช่น ธุรกิจเล็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียภาษีอยู่แล้วหรือจ่ายนิดเดียว สมมติว่าเขามีกำไรไม่กี่ร้อยบาทหรือหลักพันบาท รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลลงไปจาก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็น 23 เปอร์เซ็นต์ 7 เปอร์เซ็นต์ของ 1,000 บาท ก็แค่ 70 บาท แต่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น ถ้าเขามีคนงาน 5 คน วันเดียวก็จ่ายไม่พอแล้ว แค่ 70 บาท ดังนั้น มาตรการชุดนี้จะไม่ช่วย”

 

ส่วนมาตรการลดผลกระทบด้วยการให้สินเชื่อต่างๆ ดร.สมชัยอธิบายว่า การให้สินเชื่อเป็นนโยบายสำหรับผู้ที่ขาดเงินชั่วคราว ปัญหาจากนโยบายขึ้นค่าแรงคือต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ใช่การขาดสภาพคล่องชั่วคราว แต่เป็นสิ่งที่คงอยู่ถาวร ต้องจ่ายตลอดไป ดร.สมชัย ตั้งคำถามว่า ถ้าผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องแล้วจะนำเงินที่ไหนไปคืนธนาคาร ต่อให้สินเชื่อราคาถูกแค่ไหนก็ไม่กู้ แต่ผู้ประกอบการอาจเลือกที่จะปิดโรงงาน หรืออีกวิธีหนึ่งที่ทำได้คือขึ้นราคาสินค้า ซึ่งก็ทำให้สินค้าแพง ถ้าเศรษฐกิจภูมิภาครับได้ ถ้าขึ้นไม่ได้เพราะคนไม่จับจ่ายใช้สอย ก็ต้องปลดคนงานออก

จากสถานการณ์ราคาสินค้าขยับสูงขึ้น ดร.สมชัยกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือผู้ที่มีรายได้คงที่หรือพนักงานลูกจ้างทั่วไปที่เงินเดือนไม่ขึ้น หรือเงินเดือนเลยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว แต่ไม่ได้รับการปรับอัตราเงินเดือนขึ้นเพราะต้องเจียดไปจ่ายค่าแรง อีกกลุ่มหนึ่งคือชนชั้นล่างที่ไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะกฎหมายตามไปบังคับได้จริงๆ คือคนงานที่อยู่ในระบบ ถ้าเป็นเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งมีจำนวนคนมากกว่า กลุ่มนี้รัฐบาลไม่มีแขนขามากพอจะบังคับให้นายจ้างจ่าย 300 บาทได้

 

“ผมคาดว่าตั้งแต่ 1 เมษายน คงมีเยอะที่ไม่ได้ค้าจ้าง 300 บาท ตามสถิติเดิมมีคนงานประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามค่าจ้างขั้นต่ำ แต่พอขยับเป็น 300 บาท ผมเชื่อว่าตัวเลขนี้สูงขึ้น อาจจะขยับขึ้นไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่จ่าย เพราะเขาจะจ่ายไม่ไหว ถามว่าจะมีใครไปเอาเรื่องหรือไม่ รัฐบาลก็ไม่มีแขนขามากพอจะเอาเรื่อง หรือต่อให้เจอตัวก็เอาเรื่องไม่ไหว เพราะเอาเรื่องไป คนงานจะเดือดร้อนเองด้วยซ้ำ ถ้าต้องเลิกกิจการ แทนที่จะได้ 300 บาท หรือ 250 บาท กลับเหลือศูนย์”

 

ดร.สมชัยเห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงในระยะยาว เพียงแต่ระยะสั้นนี้จะส่งผลกระทบค่อนข้างสูง โดยระบุว่า ถ้าดูสถานการณ์แบบชั้นเดียว สมมติว่าแรงงานได้ค่าจ้างขั้นต่ำจริงทุกคน ถือว่าคุณภาพชีวิตของแรงงานยังคงดีขึ้น เพราะค่าจ้างขึ้นไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาสินค้าบางประเภทที่ขึ้นมากที่สุดก็เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัญหาก็คือว่า คนงานไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำทุกคน มีความเสี่ยงจะตกงาน ซึ่งกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ

 

 

ประชานิยม อัดเงินเข้าระบบ ใช้เงินไม่ถูกวิธี

 

การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านนโยบายประชานิยมจำนวนมาก เช่น การจำนำข้าว การพักหนี้ดี ซึ่ง ดร.สมชัยถือว่าเป็น “นโยบายยอดแย่” อันดับ 1 และ 2 หรือนโยบายอื่นๆ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ เพราะการอัดฉีดเงินเข้าระบบ เป็นตัวเร่งตัวหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะเท่ากับเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เมื่อประชาชนนำเงินนั้นมาจับจ่ายใช้สอย ราคาสินค้าจึงสูงขึ้นเพราะคนซื้อมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งสร้างประโยชน์ในระยะยาว รัฐบาลกลับไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร

 

“การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลมีน้อยมาก เกือบจะไม่มีเลย รถไฟฟ้าก็ใช่ แต่มันไม่ใช่การลงทุนของรัฐบาลอย่างเดียว ส่วนใหญ่เป็นการให้สัมปทานของรัฐบาลเสียมากกว่า คนที่จะเอาเงินมาลงทุนจริงยังเป็นภาคเอกชน เงินที่ควักจากภาครัฐเอง น้อยมาก เพราะรัฐไม่มีเงิน เอาเงินไปทำนโยบายประชานิยมเกือบหมด ยกตัวอย่างเช่นการจำนำข้าวที่เป็นนโยบายยอดแย่อันดับ 1 ใช้เงินแสนกว่าล้าน อาจขึ้นถึงแสนห้า ถ้าขึ้นไปถึงระดับนั้น มันเกือบครึ่งหนึ่งของเงินที่รัฐบาลมีให้เพื่อการลงทุนทั้งหมด รัฐบาลมีเงินลงทุนประมาณ 2-2.5 แสนล้านบาทต่อปี แต่พอไปทำนโยบายจำนำข้าว หายไปแล้วแสนกว่าล้าน ถ้าคุณจะเก็บนโยบายนี้ไว้หรือจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้สูง ซึ่งควรจะสูงดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า จะสร้างผลประโยชน์ระยะยาว รัฐบาลก็ไม่มีเงินลงทุน ถ้าจะลงทุนให้ได้ก็ต้องกู้ ซึ่งก็ไปโปะที่หนี้สาธารณะ ตราบใดที่ยังคงนโยบายประชานิยมไว้ นโยบายแย่ๆ ทั้งหลายซึ่งใช้เงินเยอะมาก มันจะเกี่ยวพันเป็นดินพอกหางหมู และเป็นการใช้เงินไม่ถูกวิธี”

 

ห่วงการเมืองแทรกแซง ธปท. ทำคุมเงินเฟ้อไม่อยู่

 

ปัจจัยสุดท้ายที่ ดร.สมชัย เห็นว่า น่าเป็นห่วงไม่แพ้ 2 ปัจจัยแรกและมีผลเกี่ยวเนื่องกันก็คือ การพยายามแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากฝ่ายการเมือง เพราะ ธปท. มีหน้าที่ดูแลควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศให้อยู่ในช่วงที่กำหนดคือ 0.5-3 เปอร์เซ็นต์ ดร.สมชัย อธิบายให้เห็นภาพว่า ทำไมการควบคุมเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

“เงินเฟ้อมันมีนิสัยเสียอย่างหนึ่งคือสูงแล้วสูงเลย เหมือนเราเลี้ยงสัตว์ไว้เชื่องๆ วันดีคืนดีมันเกิดจะหายเชื่องขึ้นมา มันไปแล้วไปเลย มันมีหลายประเทศที่เจออย่างนั้น เริ่มที่เงินเฟ้อ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ธนาคารกลางไม่เข้าดูแลควบคุมมันหรืออยากจะเข้าไปดูแลแต่นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง เงินเฟ้อปีต่อไปขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เราเคยเจอคือพอขึ้นไปถึง 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว ปีถัดไปขึ้นเป็น 20 บางทีเป็นร้อยเป็นพัน หลักการคือต้องคุมไว้ตั้งแต่ต้น อย่าปล่อยให้ถึงจุดที่คุมไม่ได้ เป็นเหตุให้ ธปท. คุมไว้ที่ 0.5-3 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามันขึ้นไปใกล้ๆ 3 คุณต้องทำอะไรกับมันแล้ว เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าถ้าปล่อยให้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์เมื่อไหร่ ปีถัดไปจะเอาอยู่หรือไม่”

 

ดร.สมชัยกล่าวว่า ธรรมชาติของนักการเมืองคือต้องการผลประโยชน์ระยะสั้น หมายถึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการอัดนโยบายประชานิยม ซึ่งทำให้เกิดเงินเฟ้อ เพราะได้คะแนนเสียงอย่างน้อยในระยะสั้น ประชาชนรู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋า นักการเมืองก็อยากจะให้มีเงินเฟ้อ วัตถุประสงค์จึงขัดกัน ไม่แปลกที่ ธปท. กับฟากการเมืองจะมีความขัดแย้งกันเสมอ ในหลักปฏิบัติจึงต้องให้ธนาคารกลางมีความเป็นอิสระระดับหนึ่ง ฝ่ายการเมืองอาจจะเข้ามาแทรกแซงได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนเกินไป

 

ถ้าเป็นบางประเทศที่ถือหลักตามตำรา เขาไปถึงขั้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศนั้นๆ ห้ามพูดเรื่องเงินเฟ้อเด็ดขาด ห้ามพูดเรื่องดอกเบี้ย ห้ามพูดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่เมืองไทยพูดทุกอย่าง เพราะถ้าพูดเมื่อไหร่แสดงว่ามีแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองเข้ามาที่ธนาคารกลางแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงมาก ถ้าธนาคารกลางไม่แข็ง

 

จากสถานการณ์ที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมาบริหารประเทศ พบว่า มีแรงกดดันต่อ ธปท. ให้ดำเนินนโยบายการเงินสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ดร.สมชัย ตั้งคำถามว่า ในอนาคตต้องดูว่าจะมีการกดดันธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดดอกเบี้ยหรือเปล่า ซึ่งดร.สมชัยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ลด แต่ถ้ามีแรงกดดันกันมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนคณะกรรมการของ ธนาคารแห่งประเทศไทยแม้จะไม่เห็นผลกระทบทันที แต่ในระยะยาวอาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินหละหลวมได้

 

ข้อกังวลของ ดร.สมชัย ดูจะเห็นเค้าลางยิ่งขึ้น เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานคณะกรรม ธปท. คนใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา ดร.โกร่ง เป็นผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ ธปท. อย่างต่อเนื่อง และมีทีท่าสอดคล้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในหลายเรื่อง ที่สำคัญ ดร.โกร่ง ยังได้ชื่อว่ามีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่ ธปท. สามารถควบคุม ถ้าเช่นนั้นสถานการณ์ของแพงก็ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวลใช่หรือไม่ ดร.สมชัยตอบว่า

 

“ต้องดูแนวโน้ม ถ้าแนวโน้มยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ถือว่าน่ากังวล แต่ถ้าผมเดาถูกและเราโชคดีว่าแนวโน้มจะราคาอาหารและน้ำมันในตลาดโลกจะลดลง ก็ไม่น่ากังวลไปอย่างน้อยครึ่งปี แต่ถ้าผมผิด ราคาอาหารและน้ำมันเกิดสูงขึ้น ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เพราะตะวันออกกลางก็ยังตึงเครียดอยู่ แต่สถานการณ์ที่น่าจะมาช่วยคือปัญหาการเงินในยุโรป เพราะทำท่าจะมีปัญหาแรง เมื่อเป็นอย่างนี้ราคาอาหารและน้ำมันก็จะไม่ขึ้น ก็จะช่วยเรื่องเงินเฟ้อของเรา”

 

ดร.สมชัยกล่าวว่า หากจะลดปัญหาสินค้าราคาแพง นอกจากรัฐบาลต้องหามาตรการลดผลกระทบแล้ว ก็ควรจะเพลาๆ นโยบายประชานิยมลง

 

“เศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงอยู่ รัฐบาลต้องบริหารอย่างระมัดระวัง แม้ว่าแนวโน้มจากนี้ไปเงินเฟ้ออาจจะดูไม่รุนแรง แต่ไม่มีใครรู้ สถานการณ์มันเปลี่ยนได้เร็วมาก เพราะฉะนั้นจุดยืนทางนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องดูแล เช่น จะลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทได้อย่างไร นโยบายประชานิยมจะเพลาๆ มือได้อย่างไร เรื่องการแทรกแซงนโยบายการเงินหรือถ้าจะแทรกแซง รัฐบาลต้องแทรกแซงอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่แทรกแซงเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้น”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: