จวกรัฐคิดไม่ฉลาด-ทำลายป่าผุด‘แม่วงก์’ ทุ่ม1.3หมื่นล้าน-อ้างป้องกันน้ำท่วมกรุงฯ เตรียมระดมร้องศาลปกครอง-จี้หยุดเขื่อน

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ, วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 13 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2559 ครั้ง

 

หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อใช้ในการควบคุมปริมาณน้ำปีละ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากแม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำคลองโพธิ์ และห้วยทับเสลา ด้วยงบประมาณ 13,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2545 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มาแล้ว พร้อมทั้งสั่งให้กรมชลประทาน กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบแบบบูรณาการ มากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเพียงอย่างเดียว

 

ปธ.มูลนิธิสืบฯชี้เขื่อนแม่วงก์แก้น้ำท่วมไม่ได้

 

นางรตยา  จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงกรณีดังกล่าวว่า จุดที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง เพราะน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน รวมไปถึงลุ่มน้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี และ จ.นครสวรรค์ หากพิจารณาว่า ถ้ามีน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ปริมาณน้ำจะลดลงเมื่อมาถึงเขื่อนแม่วงก์เพียง 99 เซนติเมตร เทียบกับว่า แก้ปัญหาได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำคลองโพธิ์ ก็เป็นเพียงระยะรับน้ำที่มาจากป่าเท่านั้น

นางรตยากล่าวต่อว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ถือเป็นบ้านที่สงบของสัตว์ป่า รวมถึงเป็นต้นน้ำ ช่วยรับน้ำจากภาวะฝนตกหนัก ทั้งยังผลิตอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งทางมูลนิธิสืบฯ ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้ ถือเป็น 1 ใน 17 เขตพื้นที่อนุรักษ์ ถือเป็นป่าต่อเนื่องกับห้วยขาแข้ง จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเอาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำโดยการสร้างเขื่อน นอกจากนี้หากจะสร้างพื้นที่รับน้ำในกรณีป้องกันน้ำท่วม คิดว่าน่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ หากจะแก้ปัญหาน้ำท่วม

จวกรัฐอย่าบ้องตื้น-แนะวันนี้รักษาป่า

 

“เขื่อนแม่วงก์ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก มีเนื้อที่ 11.7 ล้านไร่ ถือเป็นบ้านสมบูรณ์ของสัตว์ป่าแหล่งสุดท้าย หากจะเทียบว่าได้อะไรเสียอะไรจากการสร้างเขื่อนครั้งนี้ จะเห็นว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นการเอาน้ำไปท่วมผืนป่า ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ทั้งยังเห็นว่าควรจะอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ การกระทำของรัฐบาลเช่นนี้ ถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ฉลาดและไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ คิดว่าสมบัติส่วนรวมของชาติรัฐบาลต้องดูแล แต่การจะนำสมบัติส่วนรวมมาใช้ประโยชน์คิดว่าน่าจะสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน อยากให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนการก่อสร้างเขื่อนด้วย วันนี้ประเทศไทยน่าจะมาถึงจุดที่ต้องรักษาผืนป่า ฟื้นฟูต้นน้ำ มูลนิธิสืบฯหวังว่า รัฐบาลจะเล็งเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศ คิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะสร้าง” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยมีเหตุจำเป็นหรือไม่ ที่จะสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม นางรตยากล่าวว่า ต้องพิจารณาแต่ละพื้นที่ สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมจะเหมาะสมมากว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แม้ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์มาแล้ว ปริมาณน้ำก็จะเข้าไปท่วมป่าขนาดใหญ่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามแม้จะมีผู้เห็นด้วยจากการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็ยังมีชาวบ้านที่เสียประโยชน์เช่นเดียวกัน

 

ยังไม่ทำพิจารณ์-เตรียมร้องศาลปกครอง

 

ด้าน นายอดิศักดิ์ จันทรวิชานุวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก กล่าวว่า ทันทีที่รับทราบข่าว ประชาคมในพื้นที่ยังไม่ได้คุยกัน รู้สึกตกใจกับท่าทีของรัฐบาล เนื่องจากการอนุมัติของครม.ยังไม่ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ทั้งยังไม่ผ่านคณะกรรมการชำนาญการ หรือมีการจัดทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด ซึ่งทางภาคีเครือข่ายอาจจะยื่นร้องต่อศาลปกครองกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้

 

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย การที่ครม.ออกมติแบบไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาใดๆเลย อนุมัติได้อย่างไร เราคัดค้านเรื่องนี้ เพราะเป็นการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากสร้างในพื้นที่ดังกล่าวจะสูญเสียป่าไม้นับหมื่นไร่ แม้ว่าเหตุผลของรัฐบาลเพื่อป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะน้ำแล้งก็ตาม ซึ่งเหตุผลการสร้างเขื่อนมันก็เป็นรูปแบบเดิมๆ ซึ่งคนในจ.นครสวรรค์ ไม่ได้มองแค่ประเด็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ยังมองว่าที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อป่าไม้และสัตว์ป่า”

 

เตรียมรวมตัวกดดันหลังสงกรานต์

 

นายอดิศักดิ์กล่าวต่อว่า ภาคีเครือข่ายต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคเหนือตอนล่าง, มูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก, กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะคีรี เป็นต้น แนวทางของภาคีต่อจากนี้ หลังวันหยุดสงกรานต์จะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล เพื่อให้ระงับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยภาคีจะเดินทางไปพบผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ระงับโครงการดังกล่าว  ส่วนสาเหตุที่คัดค้านเนื่องจาก กระบวนการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ผ่านมา ขัดต่อพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ  มีการขุดดิน ระเบิดหิน ไม่ทราบว่า ทางอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติอนุมัติได้อย่างไร

อย่างไรก็ตามมีการให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ศึกษาวิจัยประกอบการจัดทำอีไอเอ เกิดการลักลั่นในการทำอีไอเอล่วงหน้า และไม่มีการเข้ามาสอบถามกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแต่อย่างใด ทั้งนี้ทางภาคีเครือข่ายจะเดินหน้าคัดค้านต่อไป

 

‘ปลอด’ฟุ้งช่วยคุมน้ำจากเจ้าพระยา

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังครม.อนุมัตินายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในฤดูฝนปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา จะมีน้ำสูงถึงปีละ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะช่วยให้ควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้รับน้ำได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการตัดสินใจดำเนินการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นความคิดริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการศึกษาถึงรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง

นายปลอดประสพกล่าวว่า งบประมาณที่ครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ทั้งสิ้น 13,280.445 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี แล้วเสร็จภายในปี 2562 มีผลผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562 แบ่งเป็นงบประมาณด้านต่างๆ ดังนี้ 1.งบด้านบุคลากร 100.146 ล้านบาท 2.งบดำเนินการ 43.857 ล้านบาท 3.งบลงทุน 12,007.674 ล้านบาท 4.งบดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม 560.850 ล้านบาท และ 5.งบด้านอื่นๆ กรณีสำรองงบประมาณ 567.918 ล้านบาท

 

“เขื่อนแม่วงก์เก็บกักน้ำได้สูงถึงวันละ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร จะรองรับระบบชลประทานได้กว่า 300,00 ไร่ รัฐบาลจะเร่งรัดการสำรวจผลกระทบต่อชุมชน โดยเร่งรัดการขออนุญาตใช้พื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อนบางส่วนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จุดประสงค์สำคัญในการสร้างเขื่อนแม่วงก์นี้ เพื่อรองรับน้ำในพื้นที่ 5,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตัวเขื่อนจะปิดกั้นลำน้ำแม่วงก์ที่เขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ รวมถึงพื้นที่ ต.ปางมะค่า อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร นอกจากนี้ยังจัดสรรน้ำในพื้นที่ชลประมานได้ถึง 291,900 ไร่” นายปลอดประสพกล่าว

 

ธีระอ้างได้พื้นที่ชลประทานเพิ่มอีกเกือบ 3 แสนไร่

 

ขณะที่นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รับไปดำเนินตามขั้นโดย โดยกรมชลประทานจะดำเนินการสำรวจด้านธรณี ปฐพีวิทยา สภาพภูมิประเทศ รังวัด ปักหลักเขต ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนก.ค.2555 จากนั้นจึงจะเริ่มการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็นโครงการในแผนพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)

นายธีระกล่าวต่อว่า ตัวเขื่อนจะสร้างปิดกั้นลำน้ำวงก์ ที่เขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ลักษณะของโครงการประกอบด้วย เขื่อนหัวงาน และอาคารประกอบ พร้อมอาคารฝายทดน้ำ และระบบชลประทาน มีลักษณะเป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว มีอาคารระบายน้ำล้น และอาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม มีปริมาณน้ำเก็บกักที่ระดับปกติ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 260 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 237 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นกว่า 291,900 ไร่ และพื้นที่ชลประทานด้านท้ายเขื่อนที่ราษฎรร้องขอเพิ่มเติมอีก 10,000 ไร่ รวมถึงจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการและพื้นที่ท้ายน้ำ

 

“เขื่อนแม่วงก์จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ที่มีพื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมด 5,056 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติรายปีเฉลี่ย 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในเขตจ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี รวมทั้งในพื้นที่หลายจังหวัดของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” รมว.เกษตรฯ กล่าว

เสียพื้นที่ป่าสมบูรณ์กว่า 1.3 หมื่นไร่

 

ศูนย์ข่าว TCIJ ศึกษาข้อมูลจากรายงานการติดตามและประเมินผลกระทบโครงการเขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งจัดทำโดย ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น กล้าไม้อีก 10,000 ต้น หรือเปรียบเทียบได้ว่าพื้นที่ป่า 1 ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วมจะมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ 80 ต้นเป็น ไม้สัก 13 ต้น ลูกไม้ 576 ต้น และกล้าไม้อีก 1,880 ต้น

จากการคำนวณพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไป จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามารถดูดซับไว้ได้นั้น หากมีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 10,400 ตันคาร์บอน

ซึ่งหากจะทดแทนพื้นที่ที่สูญเสียไป ด้วยการปลูกป่าให้ได้พื้นที่ที่ดูดซับคาร์บอนเท่าเดิม อาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี และต้องใช้พื้นที่มากกว่าที่สูญเสียไป การทำลายพื้นที่กักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักในปัญหาโลกร้อน ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการเขื่อนแม่วงก์

นอกจากนี้นักวิชาการยังได้ประเมินว่า 20 % ของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันมาจาก การตัดไม้ทำลายป่า หากมีการทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นจะยิ่งเป็นการเพิ่มก๊าซเรือนกระจกให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตามปัญหาการลดลงของพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอนแล้ว ยังพบว่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นการทำลายแหล่งที่พักพิงของสัตว์ป่า และพันธุ์พืชหายาก รวมทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในแม่น้ำแม่วงก์ได้

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ ระบุว่า หากมีการสร้างเขื่อนบริเวณเขาสบกก สามารถช่วยลดปริมาณน้ำนองสูงสุด (หากเกิดน้ำท่วมทุกๆ 5 ปี) ในบริเวณเขาชนกันได้ 30.74 % บริเวณจุดบรรจบคลองตะกวดลดลง  28.14 % และจุดบรรจบคลองโพธิ์ลดลง 25.04 % เท่านั้น คือ สามารถลดได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับการสร้างเขื่อนบริเวณเขาชนกันที่สามารถลดปริมาณน้ำนองได้มากกว่าเท่าตัว

 

ข้อมูลประกอบ

ข้อมูลโครงการเขื่อนแม่วงก์

ที่ตั้ง : บริเวณเขาสบกก เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์

ประเภท : เขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว

ขนาดของสันเขื่อน : ความสูง 57 เมตร ยาว 794 กว้าง 10 เมตร

ความจุอ่างเก็บน้ำ : 250 ลบ.ม.

พื้นที่น้ำท่วม : 11,000 ไร่ (17 ตร.กม.)

ประโยชน์ที่จะได้รับ : พื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม 291,000 ไร่

ระยะเวลาการก่อสร้าง : 5 ปี ต้องรอน้ำเต็มเขื่อนอีก 2 ปี รวม 7 ปี (ระหว่างนี้ชาวบ้านจะไม่มีน้ำใช้ 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: