อนาถ‘โรฮิงญา-ขแมร์กรอม’ยังไร้แผ่นดิน แนะอาเซียนจริงจัง-จับมือแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย จี้ไทยเลิกคิดแต่เรื่อง‘ความมั่นคง’มุมเดียว

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4577 ครั้ง

 

ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 8 “ประชากรและสังคม 2555” เรื่องประชากรชายขอบและความเป็นธรรมในสังคมไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอบทความวิชาการด้านการวิจัยประชากรและสังคม หลายประเด็นน่าสนใจ ที่เป็นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหา และข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ประชากรชายขอบ” ผู้ขาดโอกาสทางสังคม และหนึ่งในนั้นคือ “บทความเกี่ยวกับสถานการณ์และท่าทีของรัฐแรกรับต่อปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยืดเยื้อ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ความยืดหยุ่นคือทางออก” โดย ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ มีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ลี้ภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงมากนัก

 

 

ปัญหาผู้ลี้ภัย 3 กลุ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองข้าม

 

 

บทความของดร.สักรินทร์ระบุว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยืดเยื้อเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เป็นชนกลุ่มน้อย เช่น กลุ่มชาวโรฮิงญา จากประเทศพม่า และผู้ลี้ภัยชาวขแมร์กรอม จากประเทศเวียดนาม ซึ่งมีจำนวนรวมกันหลายแสนคน ที่ถูกจำกัดสิทธิ์ต่าง ๆ เพียงเพราะต้องการหลบหนีจากการประหัตประหาร การเข่นฆ่าทารุนแรง การบังคับใช้แรงงานทาส การคุมคามต่าง ๆ จนดูเหมือนว่ากลุ่มคนเหล่านี้แทบจะหาแผ่นดินยืนไม่ได้ ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และยังมีนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย แต่เป็นมุมมองด้านความมั่นคงที่ต้องการควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างดาวเป็นหลัก จึงขาดการพัฒนากลไกระดับภูมิภาค เพื่อจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยร่วมกัน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาหาผู้ลี้ภัยได้อย่างถาวร

 

แม้ปัญหาหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายปี และหลายประเทศต้องรับภาระในการดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนมาก แต่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพเรื้อรัง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับถูกมองข้าม ทั้งๆ ที่ประเทศในภูมิภาคนี้ เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพลี้ภัยจากอินโดจีนร่วมกันมาก่อน เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน (Comprehensive Plan of Action for Indochinese Refugees หรือ CPA) ได้แก้ปัญหาผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนจำนวนหลายแสนคน

 

                      “ในบทความนี้กล่าวถึงผู้ลี้ภัย 3 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในภูมิภาคนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา และกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวขแมร์กรอม หรือ เขมรล่าง ที่ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน” ดร.สักรินทร์กล่าว

 

 

จี้รัฐบาลไทยแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน

 

 

บทความชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นปัญหาผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โดยระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยมาอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดของไทย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี ประมาณ 140,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง และกะเรนนี นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัย ที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่พักพิง ประกอบด้วยบุคคลที่เคยอยู่ในพื้นที่พักพิง แต่ออกไปทำงานข้างนอก และผู้ที่หนีภัยเข้ามา แต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงที่พักพิง หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่อีกราว 200,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่จากรัฐฉานของพม่า

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย ในบทความฉบับนี้ระบุว่า ที่ผ่านมาทางการไทยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาบ่อยครั้ง เช่น ในปี 2542 ทางการไทยได้ตั้งคณะกรรมการจังหวัดขึ้น เพื่อกำหนดและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิง ว่าเข้าข่ายเป็นผู้หนีภัยจากการสู้รบหรือไม่ โดยผู้ที่ไม่เข้าข่ายดังกล่าว รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่นอกที่พักพิง จะถูกนับว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2551 และอาจถูกส่งกลับ

 

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ยึดสถานเอกอัครราชทูตพม่าในประเทศไทย ปี 2542 และการบุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ในปี 2543 โดยกลุ่มนักศึกษาและผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า ทางการไทยได้ระงับการขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัย ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการจังหวัดในปี 2544 เพื่อแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการสร้างปัญหาความมั่นคงในไทยของผู้ลี้ภัย และต้องการลดแรงจูงใจ ไม่ให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ เดินทางเขาสู่ประเทศไทยด้วย

 

                    “ต่อมาเมื่อกลุ่มปัญญาชนพม่า ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR พยายามเดินขบวนประท้วงรัฐบาลพม่าในประเทศไทย ทางการไทยได้สั่งให้ UNHCR ระงับการขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยรายใหม่จากพม่า ในปี 2548 ทำให้ UNHCR หันมาขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยในฐานะบุคคลในความห่วงใย (Persons Of Concern หรือ POCs: ประกอบด้วยผู้ลี้ภัย, ผู้แสวงหาการลี้ภัย, ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ, บุคคลไร้รัฐ, ผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับประเทศ, ผู้พลัดถิ่นที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม และกลุ่มอื่นๆ) ระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาทางการไทยได้รื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการจังหวัด เพื่อกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงขึ้นใหม่ สลับกับการระงับการดำเนินงานเป็นช่วงๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ขาดนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง”

 

 

 

โรฮิงญา แขมร์กรอม ผู้ลี้ภัยไร้แผ่นดิน

 

 

นอกจากนี้ ดร.สักกรินทร์ยังกล่าวถึงผู้ลี้ภัยอีก 2 กลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มใหญ่ ที่ยังประสบปัญหาไร้แผ่นดินและกลายเป็นผู้ไร้สัญชาติ ถูกปฏิเสธจากประเทศที่เคยอยู่อาศัย ได้แก่ กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ในประเทศพม่า และกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวขแมร์กรอม ในประเทศเวียดนาม

 

 

 

ดร.สักกรินทร์บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญา ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเคยตกเป็นข่าวไปทั่วโลก เมื่อคนกลุ่มนี้ถูกสังหารจากเหตุรุนแรงในรัฐยะไข่ จนต้องลี้ภัยออกจากพื้นที่นี้อีกครั้ง โดยระบุว่า ชาวโรฮิงยาเป็นชาวมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ (เดิมคือแคว้นอาระกัน) ในพม่า มีชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวพม่าอย่างเห็นได้ชัด และมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยกับพม่ามาตั้งแต่อดีต ซึ่งรัฐบาลกลางของพม่าถือว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่ประชาชนชาวพม่า แต่เป็นคนต่างด้าว การปฏิบัติการแบ่งแยกกลุ่มคนดังกล่าว ทำให้ชาวโรฮิงญาอพยพข้ามพรมแดนไปยังประเทศบังคลาเทศ โดยองค์การสหประชาชาติเข้าให้ความช่วยเหลือ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ก็เดินทางกลับประเทศ แต่ต่อมาทางการพม่าได้แยกพลเมืองพม่ากับชาวโรฮิงญาออกจากกันอีกครั้ง ส่งผลให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนไร้สัญชาติ ปัญหาการลี้ภัยของชาวโรฮิงญาจึงเกิดขึ้นอย่างหนักอีกครั้ง เมื่อกองกำลังทหารพม่าได้ปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และชนกลุ่มน้อยอย่างหนัก ทำให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 250,000 คน ต้องอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศอีกครั้ง และอีกราว 15,000 ลี้ภัยไปยังประเทศมาเลเซีย

 

 

สลดบังกลาเทศเมินโรฮิงญาลี้ภัย พม่าไม่รับกลับ

 

 

สำหรับชาวโรฮิงญา ที่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศบังกลาเทศ แม้จะได้รับการยอมรับในตอนแรก โดยทางการบังกลาเทศยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นผู้ลี้ภัย แต่ต่อมารัฐบาลบังคลาเทศได้เจรจากับรัฐบาลพม่า ขอส่งกลับชาวโรฮิญาไปยังภูมิลำเนาเดิมเกือบทั้งหมด ยกเว้นชาวโรฮิงญา 28,000 คน ที่ยังอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 2 แห่ง และยุติการยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ผู้ที่เข้ามาใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2535 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ ไม่สามารถอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ได้ และเนื่องจากปัญหาความหนาแน่นของประชากรและปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้ลี้ภัยในศูนย์จำนวนไม่น้อยได้เล็ดลอดออกไปทำงานในหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อมีการตรวจสอบ ทำให้กลุ่มนี้ถูกผลักดันออกนอกประเทศ จนกลายเป็นกลุ่มคนไร้รัฐ ไม่สามารถกลับประเทศพม่าได้ และทางการบังกลาเทศก็ไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

 

 

ในส่วนของกลุ่มชาวโรฮิงญาที่อพยพลี้ภัยไปยังประเทศมาเลเซีย ในเบื้องต้นมาเลเซียได้ให้ความช่วยเหลือร่วมกับ UNHCR และวางเฉยต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานของคนกลุ่มนี้ เนื่องจากขณะนั้นมาเลเซียตกอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน แม้ต่อมาจะมีการเข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย จนทำให้มีการผลักดันแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศ ทำให้มาเลเซียเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานอีกครั้ง มาตรการดังกล่าวจึงได้ผ่อนคลายลง ต่อมาชาวโรฮิงญาพยายามลี้ภัยทางเรือ เพื่อไปตั้งรกรากที่ประเทศนี้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการตอบรับจากมาเลเซียว่า จะดูแลชาวโรฮิงญาในรูปแบบใด

 

 

ปฏิเสธขแมร์กรอมเป็นผู้ลี้ภัย จนกลายเป็นแรงงานข้ามชาติ

 

 

สำหรับชาวขแมร์กรอม เป็นกลุ่มชนเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม บริเวณปากแม่น้ำโขง และทางภาคตะวันออกของกัมพูชาที่ติดต่อกับเวียดนาม ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงถึงการเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเวียดนามและกัมพูชา ทำให้กลุ่มขแมร์กรอมต้องประสบปัญหาการละเมิดสิทธิหลายประการ โดยไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากเวียดนามและกัมพูชา จนบางส่วนพยายามที่จะอพยพออกจากเวียดนามเพื่อขอลี้ภัยในประเทศไทย แต่ UNHCR ปฏิเสธคำขอลี้ภัย เนื่องจากถือว่าคนเหล่านี้เป็นพลเมืองกัมพูชา ซึ่งสามารถหนีภัยคุกคามจากเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ในกัมพูชาได้อยู่แล้ว คนเหล่านี้จึงถูกทางการไทยส่งกลับไปยังกัมพูชา แต่คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถขอแปลงสัญชาติเป็นชาวกัมพูชาได้ พยายามที่จะข้ามแดนกลับมายังประเทศไทยอีก และผันตัวเองเป็นแรงงานข้ามชาติไปในที่สุด

 

ดร.สักกรินทร์กล่าวในเวทีการประชุมว่า ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้ลี้ภัยสงครามเหล่านี้ กลายเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองในสถานภาพผู้ลี้ภัย เช่น กลุ่มชาวโรฮิงญาในไทยและมาเลเซีย ชาวขแมร์กรอมในไทย ชาวไทยใหญ่จากรัฐฉาน ที่อพยพเข้ามาในไทย โดยส่วนใหญ่พบว่า คนกลุ่มนี้เป็นแรงงานในพื้นที่จ.เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน  ดังนั้นปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยจึงเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ แม้ในทางกฎหมายบุคคลทั้งสองกลุ่ม จะมีสถานภาพแตกต่างกันก็ตาม

 

 

แนะหาความร่วมมือแก้ไขในระดับภูมิภาค

 

 

สำหรับข้อเสนอแนะต่อทางออกการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยดังกล่าว ดร.สักกรินทร์ระบุหลักๆ ไว้อาทิ ควรมีการพัฒนาการความร่วมมือในกรอบภูมิภาคอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง ประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง ประเทศที่สาม องค์การระหว่างประเทศ และองค์การพัฒนาเอกชน เพื่อนำไปสู่การแบ่งเบาภาระ และพัฒนาหลักเกณฑ์ ระบบกฎหมาย กลไก และขีดความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยในระดับภูมิภาค โดยไม่ต้องติดยึดแนวทางการส่งผู้ลี้ภัยกลับ หรือมีการตั้งถิ่นฐานในประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่อาจเรียนรู้จากประสบการณ์ของภูมิภาคอื่น

 

 

ติงอย่ามองผู้ลี้ภัยแค่ในประเด็นความมั่นคง

 

 

                        “ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอื่นๆ ควรให้ความสำคัญกับปัญหาผู้ลี้ภัย ในเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาคมากขึ้น แต่มิใช่จากมุมมองที่ว่า ผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นคุกคามต่อความมั่นคงเท่านั้น แต่ควรพิจารณาในแง่การคุ้มครองผู้ลี้ภัย และขยายความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย โดยควรมีการสร้างกลไกความร่วมมือในกรอบอาเซียนควบคู่กันด้วย โดยชั้นแรกจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันในระดับภูมิภาค และพัฒนาแนวทางร่วมกันในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย นับตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติและขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยตามแนวทางสากล กำหนดแนวทางการคุ้มครองดูแลผู้แสวงหาการลี้ภัยและผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ ให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดปัญหาการเคลื่อนย้ายจากประเทศแรกรับไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีมาตรฐานคุ้มครองสูงกว่า การจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ลี้ภัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การแสวงหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ระหว่างประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง และประเทศที่สาม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยเป็นหลัก” ดร.สักกรินทร์กล่าว

 

 

ไทยควรผ่อนคลายการส่งกลับผู้ลี้ภัยรุ่นสอง-สาม

 

 

นอกจากนี้ควรมีการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยืดหยุ่นและเป็นสากลมากขึ้น โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ต้องพัฒนารูปแบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม การช่วยให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ และการอนุญาตให้เกิด Local Intergration (การได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตในประเทศที่ขอลี้ภัยได้ ซึ่งมีการอนุญาตหลายระดับ) ในบางระดับ

 

จากปัจจุบันที่ประเทศไทยปฏิเสธแนวทาง Local Intergration อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ที่พักพิงชั่วคราว และต้องการส่งกลับผู้ลี้ภัยเมื่อสถานการณ์ในพม่าเอื้ออำนวย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศพม่าได้ เนื่องจากเป็นผู้ลี้ภัยรุ่นที่สองหรือสามที่เกิดในประเทศไทย ไร้สัญชาติพม่า และขาดความผูกพันกับภูมิลำเนาดั้งเดิมของครอบครัว  ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งเลือกที่จะไม่เดินทางกลับพม่าโดยสมัครใจ แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายลงในอนาคต ดังนั้นไทยจึงควรใช้แนวทางการผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการ เพื่อให้เกิด Local Intergration ในบางระดับแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่เคยทำประสบความสำเร็จมาแล้ว

 

 

หวังผู้ลี้ภัยพม่ากลับบ้านปลอดภัยหลังเปิดประเทศ

 

 

ดร.สักกรินทร์ยังเสนอแนะด้วยว่า ประเด็นที่กำลังถูกกล่าวถึงขณะนี้คือ การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศโดยสมัครใจในอนาคต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เอื้ออำนวย สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าในปี 2555 มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ภายหลัง พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีประเทศพม่า ดำเนินนโยบายปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมตัวเป็นประธานอาเซียนในปี 2557 อีกทั้งมีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังกะเหรี่ยง ไทยใหญ่ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในช่วงต้นปี 2555 ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย ให้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมโดยสมัครใจด้วยความปลอดภัยในอนาคต

 

ดังนั้นประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศที่สาม และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงควรแสวงหาลู่ทางในการสร้างกระบวนการและเงื่อนไข ให้เกิดการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยโดยสมัครใจ เมื่อสันติภาพกลับสู่ประเทศพม่าอย่างแท้จริง

 

             “ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาระบบกฎหมาย และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องผู้ลี้ภัย อีกทั้งมิได้มีนโยบายระดับชาติที่ชัดเจน ในการแก้ปัญหานี้อย่างถาวร ทำให้ปัญหาผู้ลี้ภัยถูกมองว่า เป็นปัญหาความมั่นคงมาโดยตลอด จนเกิดการผูกขาดด้านนโยบาย ซึ่งที่จริงแล้วประเด็นผู้ลี้ภัยเกี่ยวข้องกับมิติต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบริการสาธารณต่างๆ อีกทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องก็มีจำนวนมาก ดังนั้นภาครัฐควรเปิดโอกาสให้บุคคลกลุ่มต่างๆ มีส่วนในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยให้มากขึ้นยิ่งกว่าปัจจุบัน” ดร.สักกรินร์กล่าว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: