ดึง‘ไทยพุทธ-มลายู-ไทยจีน’ถกปัญหาใต้ พบ‘ผลาญงบฯ-ยาเสพติด-คอร์รัปชั่น’อื้อ แนะถอนทหารออกไป-ให้คนท้องถิ่นแก้เอง

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 12 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4204 ครั้ง

สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่พูดกันได้ไม่รู้จบ หลายฝ่ายพยายามช่วยแก้ปัญหา ทั้งคนทั้งงบประมาณที่ทุ่มลงไปในพื้นที่ แต่ใช่ว่าปัญหาจะบรรเทาลง ในทางกลับกันประชาชนในพื้นที่กลับยืนยันว่า สถานการณ์ของปัญหาลดจำนวนลง แต่เพิ่มรุนแรงมากขึ้น และที่สำคัญคือไม่รู้ว่าการกระทำหรือก่อเหตุร้ายแต่ละครั้งเป็นฝีมือของใคร ในขณะที่รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทาง ภายใต้งบประมาณที่ไม่จำกัด ในส่วนของภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน หลายหน่วยงานได้ลงไปทำงานในพื้นที่ ในบทบาทที่แตกต่างกันออกไป ตามมุมมอง แนวทาง ความเชื่อ

 

 

เปิดเวทีถกสร้างความไว้ใจแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

 

มูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ลงไปทำงานในพื้นที่ 3 ชายแดนภาคใต้ โดยเลือกใช้วิธีการเสวนาข้ามศาสนา ระหว่างไทยพุทธ มลายู และชาวไทยเชื้อสายจีน เพื่อเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีแต่เก่าก่อน และลดความหวาดระแวงที่มีต่อกัน ในรูปแบบของการเสวนาข้ามศาสนา ครั้งแรกของประชาชนไทยพุทธ มลายู ชาวไทยเชื้อสายจีน

 

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์  ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวถึงแนวคิดในการดำเนินงานของมูลนิธิว่า เนื่องจากแต่เดิมในอดีต พื้นที่นี้เป็นของชาวมลายู มีคนไทยพุทธอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง คนจีนเข้ามาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ซึ่งจะเห็นว่าทั้งหมดอยู่ด้วยกันมานานแล้วอย่างสงบสุข ทั้งที่ภาษา ศาสนาต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ทั้ง 3 กลุ่มเกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีใครรู้ข้อมูลความจริงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใครเป็นคนทำ ทำให้เกิดความระแวง ไม่มีความไว้วางใจให้กัน และนับวันช่องว่างนี้ยิ่งห่างออกไปมากขึ้นทุกที การจัดเวทีเวทีเสวนาขึ้น ก็เพื่อพยายามทำให้ทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งกลุ่มชาวไทยพุทธ มลายู ชาวไทยเชื้อสายจีน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความแตกต่างกันตรงไหนอย่างไร เพื่อลดความระแวงค่อยๆสร้างความไว้เนื้อเชื้อใจกัน

เวทีเสวนาข้ามศาสนาครั้งแรกของประชาชนไทยพุทธ มลายู ชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน จัดขึ้นทั้งหมด 70 ครั้ง ในพื้นที่ 4 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของจ.สงขลา มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 863 คน ซึ่งการเวทีแต่ละครั้งจะแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผู้หญิง เยาวชน และผู้นำชุมชน แน่นอนว่าวัตถุประสงค์หลักคือ รับทราบปัญหาของกันและกัน สร้างความเข้าใจร่วมกัน ฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในอดีต และที่สำคัญคือ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาต่อไป

 

 

ระบุต้องมองในทุกมิติและให้ความสำคัญกับคนพื้นที่

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชนกล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีเสวนาข้ามศาสนา อาจจะไม่ต่างกับข้อมูลหลายๆเวที ที่หลายหน่วยงานเคยทำมาแล้ว แต่สิ่งที่น่าจะเป็นความแตกต่างคือ มูลนิธิศักยภาพชุมชนให้ความสำคัญกับพื้นที่การแสดงความคิดเห็นของประชาชนทุกคน จากมุมต่างๆ ของชุมชนที่ห่างไกล และที่สำคัญคือความคิดเห็น จากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และทำให้ความคิดเห็น ข้อเสนอเหล่านี้ได้เผยแพร่ออกไปให้คนทั้งประเทศได้เข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง และมองปัญหาทุกมิติ เพราะเป็นเรื่องความแตกต่างทางความคิด ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง การทหาร ความมั่นคงและผลประโยชน์ เรื่องของการแย่งชิงอำนาจ รัฐไม่เคยมองว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เป็นวาระแห่งชาติที่จะให้ประชาชนเป็นเป้าหมายของการแก้ปัญหา แต่กลับมองว่า เป็นปัญหาความมั่นคงที่ต้องใช้กำลังทหารและงบประมาณในการแก้ไขปัญหา

 

ปัญหาใหญ่คือ ยาเสพติด-งบประมาณทหาร-คอร์รัปชั่น

 

 

“ข้อมูลที่เราได้จากเวทีชุมชน ทั้งชาวไทยมลายู ชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีน มองปัญหาเหมือนกันคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นซับซ้อนมาก มีทั้งปัญหาจากขบวนการแบ่งแยกดินแดง นักการเมืองท้องถิ่น ยาเสพติด การค้าของเถื่อน งบประมาณทหาร คอร์รัปชั่น และไม่สามารถแยกออกได้ว่าใครทำ ทำเมื่อไร ทำเพราะอะไร ไม่สามารถวิเคราะห์อย่างชัดเจนได้ว่า อะไรเป็นการกระทำของขบวนการ อะไรเป็นการสร้างสถานการณ์เพราะต้องการงบประมาณ”

 

ผลการประชุมจากเวทีเสวนาข้ามศาสนาระบุว่า คนไทยแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ ไทยพุทธ มลายู เจ้าหน้าที่รัฐ โจร นักการเมือง ที่มีปัญหาทำให้เกิดความไม่สงบคือ โจรกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่  3 กลุ่มที่เหลือมีความระแวงซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันมีการทำลายเศรษฐกิจชาวไทยพุทธ เช่น การระเบิดตลาดชาวไทยพุทธ ชาวบ้านในพื้นที่มั่นใจว่า เป็นการกระทำของผู้ไม่ประสงค์ดี ต้องการข่มขู่คนไทยพุทธ ขับไล่ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ชาวบ้านอธิบายว่า คนที่ทำเป็นคนไม่มีศาสนา ทำให้ทุกคนเดือนร้อน และคนที่สร้างปัญหาคือคนที่อยู่นอกชุมชน

นอกจากนี้ผลสรุปจากเวทียังสะท้อนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่สร้างความเจ็บปวดให้กับชาวมลายู เช่น การประกาศยกเลิกการปกครอง 7 หัวเมือง การให้ประชาชนลงชื่อในเอกสารยอมรับการปกครองของรัฐบาลไทย โดยไม่เคยได้อ่านเอกสาร การกดขี่ทางวัฒนธรรมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม การจับและฆ่าหะยีสุหรง ผู้นำศาสนาอิสลาม จนถึงการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงชุดต่างๆ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาปากท้อง ราคาพืชผลทางเกษตรกรรมตกต่ำ ประชาชนมีปัญหาในด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ยังมีความเห็นตรงกันว่า ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในชีวิต แต่ทั้งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เคยลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชน ไม่เคยนำปัญหาของชาวบ้านไปอภิปรายในสภาเลย

 

ถ้ารัฐยังไม่พูดและไม่ฟังความจริงก็ดับไฟใต้ไม่ได้

 

 

ด้าน นายไพศาล พรหมยงค์ ประธานมูลนิธิอัลเกาษัร มูลนิธิที่ทำงานด้านเด็กกำพร้าในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ใน 3 จังหวัด และเด็กที่กำพร้าจากเหตุการณ์สึนามิ และในฐานะอดีตคณะกรรมการสมานฉันท์ กล่าวย้อนให้เห็นถึงปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับทุกพื้นที่ในภาคอีสานจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์  ชาวเขาทางภาคเหนือไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน อย่างกรณีที่เด็กไม่ได้รับสัญชาติ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ในด้านภาษา ศาสนา ในขณะที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างกันมาก ทั้งเรื่อง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษาที่ใช้ ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ ทำให้ความรุนแรงก่อตัวเพิ่มมากขึ้น และการดำเนินการของภาครัฐในอดีตทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้นายไพศาลได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่มาจากเวทีของชุมชน ที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้นำเสนอ โดยเฉพาะในเรื่องของการที่กฎหมายไทยกระทำต่อคนมลายู

 

“ในอดีตพี่น้องมลายู ไม่ให้ลูกพูดภาษาไทย แทบจะถ่มน้ำลายใส่เวลาพระออกบิณฑบาต ถือว่าการเข้าวัดเป็นบาป ส่วนรัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ออกกฎหมายกระทำกับชาวมลายูมาก เช่น ห้ามใส่หมวก ทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ภาครัฐเป็นผู้สร้างความปวดร้าวให้กับชาวบ้านมาโดยตลอด  ประชาชนทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาในพื้นที่ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือภาครัฐ ทั้งผลประโยชน์ อำนาจ เมื่อไหร่ที่แก้ปัญหา 2 อย่างนี้ได้ เริ่มนับหนึ่ง ก็สามารถแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้เลย” นายไพศาลกล่าว

 

ชี้ต้องแก้ความไม่เป็นธรรมทั้งระบบ-แก้เป็นส่วนๆไม่ได้

 

“ปัญหาความไม่เป็นธรรมในประเทศไทย ต้องถูกแก้พร้อมกันทั้งระบบ เพราะเกิดขึ้นทั่วประเทศ จะแก้เป็นส่วนๆไม่ได้ หากยังแก้ที่อำนาจไม่ได้ ปัญหาจะยังมีอยู่ เพราะอำนาจรัฐยังมีอยู่เต็ม ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาอำนาจและผลประโยชน์ไม่ได้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องยาเสพติด ที่เป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ขณะนี้ ซึ่งยาเสพติดมักจะมาพร้อมกับการก่อการร้าย แต่การก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ขึ้นกับใครไม่เคยมีการประกาศตัวว่าใครเป็นคนทำ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าคิดว่ามีอะไรเชื่อมโยงกัน ระหว่างการก่อการร้าย ยาเสพติด อำนาจและผลประโยชน์

นายไพศาลกล่าวต่อว่า แนวทางการจัดเวทีพูดคุยแบบข้ามศาสนาของชาวไทยพุทธ มลายู และชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จัดขึ้นนี้ เป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่รัฐไม่เคยคิดจะทำ ที่ผ่านมาเวทีเสวนาของรัฐ ความจริงไม่เคยถูกเปิดเผยออกมา ไม่เคยมีการพูดถึงประวัติศาสตร์ รัฐควรจะแสดงความจริงใจด้วยการสะสางปัญหาในอดีตและหยิบยกความจริงขึ้นมาพูด

ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต้องปรับตัวในบางเรื่องด้วย เช่น อัตตลักษณ์ของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางเรื่องต้องถูกเปลี่ยนแปลง เช่น คนมุสลิมในพื้นที่ต้องการให้ทุกคนรู้เรื่องของตนเอง แต่คนมุสลิมเองกลับไม่ยอมเรียนรู้เรื่องราวของคนพุทธ เช่นว่า ทำไมพระต้องเดินบิณฑบาต ซึ่งคนในพื้นที่ต้องมีการปรับเพื่ออยู่ร่วมกัน และร่วมกันแก้ปัญหา และควรจะยกเลิกความคิดว่าเป็น ไทยพุทธ ไทยจีน มลายู ต้องเลิกมองแบบนี้ ต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ถ้ายังแยกกันอยู่ก็ไปไม่รอด แก้ปัญหาไม่ได้

 

 

แนะให้คนในพื้นที่แก้ปัญหาเอง-จี้รัฐยกเลิกกฎหมายความมั่นคง

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสวนาครั้งแรกครั้งนี้ มีผู้แทนจากทั้ง 3 กลุ่ม ร่วมกันแลกเปลี่ยนปัญหาในพื้นที่และข้อวิตกกังวลต่างๆ เริ่มจาก นางติ้ง ชนนีบำรุง อายุ 70 ปี ชาวบ้านจากอ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า หมดหวังกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ของรัฐบาล เพราะไม่เคยทำอะไรได้ นายกรัฐมนตรีกี่คนลงพื้นที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยิ่งคนในพื้นที่จะแก้ปัญหาไม่ได้เลย เพราะทุกคนเกิดความระแวงกัน ในอดีตที่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังพอแก้ไขปัญหาได้ เพราะเป็นคนในพื้นที่รู้จักกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นอบต.ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้

ขณะที่ นางสังวาลย์  เกื้อก่อยอด ชาวบ้านอ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี  กล่าวว่า รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ยิ่งส่งทหารลงไปในพื้นที่จำนวนมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นการสร้างความระแวงให้ชาวบ้านมากขึ้น และยังมีปัญหาทหารที่มาจากภาคอื่นมาประจำที่พื้นที่ ซึ่งพูดภาษาต่างกันทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก

 

“มีเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเกิดขึ้น ชาวบ้านพูดว่า กินเหนียวที่แปลว่าไปกินเลี้ยงงานแต่งงาน แต่ทหารเข้าใจว่า ชาวบ้านไปด่าเขาว่าเขาเป็นพวกกินข้าวเหนียว ทหารยิงชาวบ้านตาย นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น”

 

แฉใช้งบวันละหลายสิบล้าน-ด่านเพียบแต่ยาเสพติดเกลื่อน

 

รัฐบาลควรจะให้คนในพื้นที่ร่วมกันแก้ปัญหา กฎหมายความมั่นคงควรจะยกเลิก เพราะมีทหารประมาณ 80,000 คนในพื้นที่ ซึ่งงบประมาณต้องใช้มากไปด้วย และไม่เกิดประโยชน์อะไร ควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา งบประมาณจะถึงมือประชาชนมากกว่า และยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นจากโครงการของรัฐ ที่รัฐจะต้องซื้อของให้ชาวบ้าน แต่กลับซื้อแพงกว่าที่ชาวบ้านซื้อ อยากจะถามว่าเงินตรงส่วนนั้นหายไปไหน

เช่นเดียวกับ นายอิสมาแอร์ ซะและ ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จ.ยะลา กล่าวว่า งบประมาณที่ลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหานั้น มากถึงวันละ 70 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยมีการตรวจสอบว่า มีการใช้ไปในเรื่องใดบ้าง ในขณะที่ปัญหายาเสพติดยังมีอยู่เต็มพื้นที่

 

“เรื่องยาเสพติดในพื้นที่น่าสงสัยมากว่ามาได้อย่างไร ในพื้นที่มีทหารถึง 80,000 คน มีด่านประมาณ 100 ด่านจากจ.สงขลา แล้วยาเสพติดมาจากไหน ใครเป็นคนเอาเข้ามา”

 

นอกจากนี้ในพื้นที่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีประมาณ 5,000-6,000 คน ผู้หญิงต้องรับภาระหนักมาก เพราะบางครอบครัวพ่อไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ กลุ่มที่น่าสงสารที่สุดคือ พ่อที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะภรรยาและลูกจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเลย

 

ชี้เงินเยียวยา 7.5 ล้านไม่ยั่งยืน-แนะให้การศึกษาสร้างอาชีพ

 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมเวทีได้นำเสนอข้อสรุปสำหรับแนวทางแก้ปัญหาไปในทางเดียวกันคือ ต้องใช้คนในพื้นที่ในการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากคนเหล่านี้จะรู้ว่าใครเป็นใครในหมู่บ้าน อาจจะทำให้การแก้ปัญหาง่ายขึ้น ส่วนข้อสรุปจากเวทีชุมชนระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดงอยู่ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนควรประกาศทุกครั้ง หากเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เพราะชาวบ้านจะได้รู้ว่าใครเป็นคนทำ จะได้รับรู้สาเหตุที่แท้จริง เพื่อแยกแยะได้ว่าใครทำอะไร รวมถึงให้บทบาทชุมชนและผู้นำชุมชนในการแก้ปัญหา เพราะชุมชนเป็นผู้อยู่กับปัญหา

นอกจากนี้การเยียวยาควรให้ทั่วถึงยุติธรรม และไม่เห็นด้วยกับการให้งบเยียวยารายละ 7.5 ล้านบาท รัฐบาลควรจะดูแลระยะยาวที่ยั่งยืนให้หลักประกันชีวิต เช่นให้การศึกษากับเด็กลูกกำพร้า จนจบการศึกษา ให้อาชีพแม่หม้ายให้เลี้ยงตัวเองได้ และรัฐควรจะช่วยเหลืออย่างเสมอภาคเท่าเทียม ทั้งไทยพุทธ มลายู และชาวไทยเชื้อสายจีน ที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ เพราะการมีทหารอยู่ในพื้นที่สร้างแรงกดดันให้กับประชาชน เกิดความตึงเครียด นำไปสู่การต่อต้านในที่สุด

ผลสรุปจากเวทียังระบุชัดเจนว่า ยิ่งมีปัญหามากขึ้นเท่าไหร่ ความสงบสุขยิ่งห่างไกลออกไป ทำให้สูญเสียทั้งกำลังคน กำลังพล ทรัพยากรและงบประมาณ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: