เปิดบันทึกของ‘อำนวย อินทรักษ์’ ‘ก่อนถึงเขาใหญ่’แห่งดงพญาเย็น ป่ากว้างกับเรื่องราวนับร้อยนับพัน 

อำนวย อินทรักษ์ 10 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2840 ครั้ง

มีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นกำลังหลัก

เป็นการค้นหาที่หนักหนาสาหัส อย่างทั่วพื้นที่ ต่อเนื่อง ทุกวิธีการ ด้วยสารพัดเทคโนโลยี เหมือนเอ็กซเรย์

แต่...จนทุกวันนี้ เข้าปีที่ห้าแล้ว ก็ยังไม่เจอ...แม้แต่ซาก และเบาะแส

น่าประหลาดที่สุด

แล้วยังเคยมีข่าว เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หายเข้าไปในป่ามาแล้วหลายราย บางรายกว่าจะหลุดออกจากป่าได้ก็สะบักสะบอม ร่อแร่ร่องแร่งนอนหยอดน้ำเกลือในโรงพยาบาล บางรายก็สูญหายไปเลย ไม่มีร่องรอยหรือซากสิ้นส่วนใด ๆ จนทุกวันนี้ หรือแม้แต่ชาวบ้านคนหาของป่าเอง ก็เคยหาทางออกป่าไม่ได้ จนตายคาป่ามาแล้วก็มี

เมื่อเอาเหตุการณ์เหล่านี้มาประติดประต่อ ก็อดที่จะตีความไม่ได้ว่า ป่าแห่งนี้ช่างใหญ่โตกว้างขวางเสียจริง ๆ ยังมีสภาพเป็นป่าดิบดงดำ บางพื้นที่ก็อาจจะยังไม่มีใครเข้าไปถึงด้วยซ้ำไป แม้แต่คนขโมยของป่าเองก็ตาม

 

ผมนายอำนวย อินทรักษ์ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เคยทำงานและพักอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาแล้วสิบกว่าปี จึงพอจะรู้เห็นยินดมสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ในป่าแห่งนี้ มาพอสมควร ตามเวลา

หลาย ๆ เรื่องผมไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อน บางเรื่องก็น่าอัศจรรย์ใจ

เพราะเขาใหญ่นั้น เป็นผืนป่าดง กินพื้นถึงสี่จังหวัด มีป่าตั้งหลายชนิด ทั้งป่าดิบเขา ดิบชื้น ดิบแล้ง และป่าผสมผลัดใบ หรือป่าเบญจพรรณ และที่สำคัญคือ

อากาศสะอาด และเย็นเกือบตลอดปี จึงเป็นแหล่งลมหายใจชั้นดีของคนกรุงเทพ ที่พัดจากเขาใหญ่ไปในยามมรสุมจากตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วยังเป็นกำแพงชั้นดีกั้นไอและควันพิษจากเมืองอุตสาหกรรมไปสู่อีสาน ในยามหน้าแล้งพร้อมกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อีกต่างหาก

เป็นแหล่งต้นน้ำ ที่จะเป็นทั้งน้ำกินน้ำใช้ ปลูกผักพืชผล และเลี้ยงสัตว์ ของคนโคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี ปทุมธานี

เป็นโรงงานสร้างปุ๋ยอินทรีขนาดยักษ์ ให้แก่แพลงตอนพืช สาหร่าย หญ้า และสัตว์ในอ่าวไทย ทำให้อ่าวไทยมีอะไรมากกว่าน้ำกับเกลือ

เป็นหน้าเป็นตา เป็นเกียรติยศของไทย ในฐานะผู้รักษามรดกโลก

เป็นที่หากินของชาวบ้านรอบเขามาตั้งแต่เมื่อมีคน

เป็นแหล่งการศึกษาธรรมชาติอย่างดีที่สุด

และเป็นอะไรอีกมากมาย

ผมจึงขออาสาพาท่านไปดูไปรู้จักกับอะไร ๆ ในเขาใหญ่ครับ

 

เอาเป็นว่า เราเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ แล้วกันนะครับ เพราะกรุงเทพฯ คือศูนย์กลาง

พอรถแล่นออกจากเขตเมืองหลวง ก็เข้าอำเภอรังสิต ซึ่งแต่ก่อนเรียก “ทุ่งรังสิต” เพราะเป็นทุ่งที่มีคลองรังสิตผ่าน หรือเป็นลำน้ำหลักของพื้นที่ ที่เชื่อมกับคลองอื่น ๆ สิบกว่าคลอง เพื่อการปลูกข้าว และการคมนาคม

พื้นที่ที่เป็นทุ่งรังสิตนี้ ก็คือส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันกว้างใหญ่ และสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยอินทรีชั้นเลิศ เกรดเอบวก ๆ เพราะเป็นพื้นที่ราบ เกิดจากทับถมของตะกอน ที่ไหลจากป่ามากับน้ำเหนือ มีสภาพแบบที่เรียกว่า “ดินดำน้ำชุ่ม” จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกแบบสุด ๆ ยิ่งกว่าพื้นที่แบบใด ๆ

ชุมชนขนาดใหญ่ที่ไหนในโลก ก็เริ่มต้นบนพื้นที่อย่างนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนที่ที่ราบอันกว้างใหญ่จะกลายเป็นทุ่งนา เรียกว่าทุ่งรังสิตนี้ ชาวบ้านเรียก “ทุ่งหลวง” สภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าป่าละเมาะ มีไม้พุ่มเตี้ยเป็นไม้เด่น เหมาะแก่การเป็นที่อยู่ ที่หากินของสัตว์ป่ามากมาย ตั้งแต่ช้าง กระทิง วัวแดง สมัน ละองละมั่ง เก้งกวาง หมูป่า งูเงี้ยวเขี้ยวขอ กบเขียด

เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ยังมีรถไฟชนช้างป่าอยู่บ่อย ๆ แถวทุ่งหลวงแห่งนี้

เมื่อมีการขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การทำนา ปลูกข้าวขายพ่อค้าส่งต่างประเทศ  จึงมีการ “หักร้างถางพง” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันต่อเนื่อง ต่อมาชุมชนก็ขยายใหญ่ขึ้น ป่าละเมาะและทุ่งหญ้า อันเป็นที่หากินและอยู่อาศัยของสัตว์ป่านานา ก็ค่อยๆ หายไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อเปิดป่ากันกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ใต้คลองระพีพัฒน์ ซึ่งขุดจากแม่น้ำป่าสักลงมา หลังจากนั้น การถางป่าก็ระบาดและลุกลามออกไปอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องยาวนาน สัตว์ป่ามากมายหลายชนิดจึงล้มหายตายจาก หมดสิ้นไป เพราะที่อยู่อาศัยของมันโดนบุกรุกทำลาย แล้วยังโดนล่าเป็นอาหารอีก

แถมกะโหลกเขาหนังสัตว์ ก็มีราคาค่างวด ยังเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ ที่อยู่ในระดับต้น ๆ ของประเทศไทยเรา

สมันซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนเบอร์หนึ่งของไทย ที่มีแห่งเดียวในโลก คือ ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ก็สูญพันธุ์ไปใน “มหกรรมเปลี่ยนป่าเป็นนา” ครั้งนี้นี่เอง

สัตว์ป่าที่รอดชีวิต ก็ถอยร่นเข้าป่าลึกเรื่อยไป ในที่สุด ที่เหลือก็เตลิดหนีขึ้นเขาใหญ่ไป ช้างป่าบนเขาใหญ่ส่วนหนึ่ง ที่ต่อไปจะได้เจอกันนั้น ก็คือช้างป่าที่เคยหากินในที่ราบแถวนี้แล้วเตลิดขึ้นไปนั่นเอง

 

 

พอรถยนต์แล่นจนสุดทุ่งหลวงก็ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาไปอีกอึดใจ รถก็จะเริ่มขึ้นเขา ระหว่างก่อนขึ้นเขาสูงนั้น จะมีอุตสาหกรรมอันหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย แถวๆ แก่งคอย คือ โรงงานปูนซีเมนต์ โรงปูนจากแก่งคอยนี้ได้ทำให้ประเทศไทยมีสิ่งก่อสร้าง มีตึกรามใหญ่โตโอฬารเฉียดฟ้ามากมาย เป็นอุตสาหกรรมหนักขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

ทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีนั้น ก็อยู่ใกล้ๆ กับศูนย์กลางของประเทศไทยนี่เอง

ผมเคยนึกสงสัยเล่น ๆ ว่า...ถ้าเราไม่มีภูเขาหินปูน ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์อยู่ใกล้ๆ อย่างนี้ แต่ดันมีอยู่ไกลถึงเชียงราย หรือสงขลา การพัฒนาประเทศจะมีต้นทุนสูงขึ้นอีกสักแค่ไหนหนอ

แล้ว...รถก็จะพากันครางอือ ๆ บางทีมีอาการแบบรถติดหน่อยๆ แต่ถ้าเป็นเทศกาล หรือวันหยุดยาวรวมนักขัตฤกษ์แล้ว รถที่เคยติดอยู่แถวกรุงเทพฯ ก็จะย้ายมาติดแถวนี้แทน

รถบรรทุกที่ตะกายปีนเขาครางอือๆๆๆ แต่ละคันนั้นช้าหลายระดับ หลายคันจึงแถมาอยู่เลนกลาง บ้างลามมาเลนสาม แต่ก็อืด อื๊ด อืด รถเล็กรถทัวร์ไปติดกันที่เลนในสุด อืดจนพ้นเขาสูงชันนั้น ก็เข้าเขตมวกเหล็ก จ. สระบุรี ที่คนส่วนใหญ่รู้จักในฉายา “นมดี กะหรี่ดัง” ครับ เพราะมวกเหล็กมีสหกรณ์โคนมขนาดใหญ่ และออกจะมั่นคง ของคนเลี้ยงวัวขายน้ำนม บำรุงพลังไทย และลือกันแซดว่า กะหรี่ปั๊บของที่นี่เด็ดขาดนัก กลิ่นกรุ่น กรอบนอก นุ่มใน เนียนลิ้น เต็มพิกัด

 

 

รถแล่นต่อไปอีกเดี๋ยวเดียว ก็เข้าสู่ตำบลกลางดง เขตอำเภอปากช่อง จ. นครราชสีมา ของดังกลางดงที่มีแต่เดิมมา คือข้าวโพดหวาน กับน้อยหน่า ดังระดับตำนาน ข้าวโพดน้อยหน่ากลางดง ใครๆ ที่เคยกินก็พากันติดใจไปตามๆ กัน จึงมีสถานีวิจัยพืชไร่ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งอยู่ โดยสถานีวิจัยแห่งนี้ คนรู้จักกันในนาม “ไร่สุวรรณ” ซึ่งเป็นนามของ คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้มีพระคุณต่อการเกษตรไทย

มีสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ ดินที่ปากช่องจนถึงตีนเขาใหญ่นี้ มีสีออกแดง คล้ายสนิมเหล็ก

ตอนต่อไปเราไปดูธรณีวิทยา รากฐานและที่มาของดินชนิดนี้กันครับ

 

ขอบคุณภาพจาก Google และเว็บไซต์ต่างๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: