สลดยอด ‘ฆ่าตัวตาย’พุ่ง ปี 53 เกือบ 4 พันราย กรมสุขภาพจิตเผยเหตุซึมเศร้า-โรคจิต พระดังชี้สังคมเปลี่ยนทำคนโดดเดี่ยว สช.ดันถกในเวทีสมัชชาสุขภาพฯ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 3070 ครั้ง

 

สื่อเกาหลีเปิดตัวเลขวัยรุ่นฆ่าตัวตายพุ่ง

เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์โชซอน อิลโบ ของเกาหลีใต้ รายงานอ้างข้อมูลของสำนักงานสถิติของเกาหลีใต้ ระบุว่า ว่า มีวัยรุ่นฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้เฉลี่ยวันละ 1 คน โดยในปี 2553 มี วัยรุ่น 353 คน ที่มีอายุระหว่าง 10-19 ปี จบชีวิตลงจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ยังไม่รวมจำนวนวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวระบุด้วยว่า การฆ่าตัวตายกลายเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในวัยรุ่น ที่เข้ามาแทนการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนน ที่เคยเป็นสาเหตุสำคัญทำให้วัยรุ่นเสียชีวิตมากที่สุดในปี 2551

 

รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์โซซอน อิลโบ ชิ้นนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันปัญหาการฆ่าตัวตาย กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่เพียงคุกคามต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในวัยผู้ใหญ่ เท่านั้น แต่กำลังลุกลามไปยังบุคคลทุกเพศทุกวัยมากขึ้น ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

 

อนามัยโลกชี้ทั่วโลกฆ่าตัวทุก 40 วินาที

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก  คิดเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที หรือ อัตราเฉลี่ย 16 คน ต่อประชาชนแสนคนต่อปี โดยผลจากการฆ่าตัวตายของบุคคล 1 คน ส่งผลกระทบต่อจิตใจของครอบครัวและผู้คนรอบข้างของผู้ตายอีก 5 คน และ ส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ยังประเมินว่า มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย แต่ไม่เสียชีวิตอีก 20 เท่าของตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จ

 

ไทยปี 53 เฉลี่ยวันละ 10 ราย

 สำหรับประเทศไทย หากย้อนไปดูสถิติข่าวการฆ่าตัวตาย ที่ปรากฎในสื่อต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การนำเสนอประเด็นข่าวการฆ่าตัวตายของคนไทย อันเกิดจากสภาพกดดันในสภาวการณ์ต่างๆ มีปรากฎอยู่ในสื่อมวลชนอยู่เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง แม้ตัวเลขของจำนวนกรณีที่เกิดขึ้น จะไม่เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ แต่การฆ่าตัวตาย ของคนไทยยังคงเกิดขึ้นสม่ำเสมอ  โดยจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่เก็บสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยล่าสุด มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเกิดขึ้นทั้งสิ้น 3,761 คน คิดเป็นการฆ่าตัวตายวันละประมาณ 10 คน หรืออัตรา 5.9 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ลดลงจากปี 2542 ที่เคยเกิดการฆ่าตัวตายสูงสุดถึง 5,290 คน คิดเป็นอัตรา 8.59 คนต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 14.5 คน โดยพื้นที่ที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด  คือ ภาคเหนือ  และ  5 จังหวัดแรกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ จ.ลำพูน, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, น่าน และ จ.เชียงใหม่ อยู่ที่ 20.02, 15.63, 14.45, 13.03 และ 12.47 ต่อประชากรแสนประชากร ตามลำดับ ขณะที่ การแขวนคอ/รัดคอ เป็นวิธีการอันดับแรกที่คนเลือกใช้เป็นวิธีปลิดชีวิตตัวเอง สูงถึง ร้อยละ 66.42 รองลงมา คือ พิษจากยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ร้อยละ 19.81 พิษจากยา ตัวยา และสารชีวภาพอื่น ร้อยละ 4.28 สารเคมีและสารพิษ ร้อยละ 3.67 กระสุนปืนร้อยละ 3.11

กรมสุขภาพจิตระบุสาเหตุมาจากซึมเศร้า-โรคจิต

น.พ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตายของคนไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ปัจจุบันสังคมยังเข้าใจผิดว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยต้องจบชีวิตของตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย มาจากปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้นของ คนทั่วไป แต่เมื่อได้ศึกษาข้อมูลลงไปในเชิงลึกแล้วพบว่า ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตายของคนไทยอย่างผิดปกติแต่อย่าง ใด แต่กลับอยู่ในอันดับ 4-5 ของการจัดอันดับสาเหตุสำคัญในการฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ

 

ดังนั้นในปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหาอุบัติภัย อุทกภัยรุนแรง จนเชื่อว่าอาจจะเป็นสาเหตุให้มีผู้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ตกงาน สิ้นเนื้อประดาตัว ต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายมากขึ้น แต่ยังไม่พบว่ามีคนตัดสินฆ่าตัวตายเพราะสาเหตุนี้เลย

 

      “สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยตัดสินใจฆ่าตัวตายสูงสุด กลับเป็นเรื่องของ ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากโรคซึมเศร้า มีโรคเรื้อรัง ปัญหาโรคจิต และมีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถูกคนใกล้ชิดซุบซิบนินทาว่าร้ายให้เสียหาย ถูกทำร้ายร่างกาย พักอาศัยร่วมกับบุคคลที่ติดสุราและยาเสพติด ได้รับข่าวการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายของคนอื่นในชุมชน แสดงท่าทีว่าจะทำร้ายตัวเอง” น.พ.ทวีกล่าว

น.พ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต

เผยส่วนใหญ่เป็นชาย-อยู่ในวัยทำงาน

 รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากการสำรวจข้อมูลผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ ยังพบด้วยว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่เป็นชายมากกว่าหญิง โดยในช่วงปี พ.ศ.2549-2553 เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ระหว่าง 9.25-9.48 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่เพศหญิงมีอัตรา 2.38-2.72 ในช่วงเวลาเดียวกัน หรือประมาณสัดส่วนชายต่อหญิง 3.5 คน ต่อ 1 ซึ่งเป็นไปตามลักษณะการตัดสินใจของผู้ชายที่มีความเด็ดขาดมากกว่า

 

อย่างไรก็ตามผู้หญิงเป็นกลุ่มที่พยายามฆ่าตัวตายมากกว่า แต่มักจะไม่สำเร็จ เพราะยังมีเหตุผล ขาดความเด็ดขาด  ส่วนกลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดคือ ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ตั้งแต่ 31-40 ปี รองลงมาคือ 21-30 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างแตกต่างจากต่างประเทศที่พบว่าการฆ่าตัวตายจะเกิด ขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นมากขึ้น  ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก ในปี 2553 จ.ลำพูน มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดที่ 20.02 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่ จ.ปัตตานี มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำสุด ที่ 0.77 ต่อประชากรแสนคน และพื้นที่ที่มีการฆ่าตัวตายสูง มีการกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และชายฝั่งทะเลตะวันออก

 

น.พ.ทวีกล่าวอีกว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะการเกิดขึ้นในวัยทำงานนับเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ได้รับความสนใจ และมีการศึกษามาโดยตลอด ทั้งในเชิงของผลกระทบ และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยในประเด็นของผลกระทบพบว่า ส่งผลทั้งในด้านเศรษฐกิจ ครอบครัว รวมไปถึงด้านสังคม และชุมชนที่หากไม่ได้รับการแก้ไขเพื่อลดจำนวนอัตราการฆ่าตัวตายลง จะสร้างปัญหาในหลากหลายด้านมากขึ้น

 

ปี 48 ทำเศรษฐกิจสูญเสียถึง 1.6หมื่นล้าน

นอกจากนี้เมื่อปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยประเมินความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจจากปัญหาการฆ่าตัวตาย ระบุว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นของการฆ่าตัวตายมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท ในขณะรายงานของบุญชัย นวมงคลวัฒนา และคณะ  ได้รายงานไว้ในเอกสารระบาดวิทยาของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช 12 แห่ง เมื่อปี 2548  พบว่ามูลค่าความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจของผู้พยายามฆ่าตัวตายมีมูลค่า 37,793 บาท ต่อผู้ป่วย 1 ราย  มูลค่าเหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงโอกาสในการทำงานหารายได้ของกลุ่มผู้ฆ่าตัว ตายที่อยู่ในวัยทำงาน การเลี้ยงดูของครอบครัว ที่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการคำนวณอย่างจริงจัง แต่เชื่อว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการฆ่าตัวตายแต่ละคนนั้นอยู่ที่ หลักหลายล้านบาท

 

ส่วนผลกระทบด้านครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฆ่าตัวตายนั้น กรมสุขภาพจิต ได้ศึกษาจากสมาชิกในครอบครัวที่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นพบว่า  ครอบครัวเองมีความรู้สึกผิด เสียใจ ซึมเศร้า วิตกกังวล อับอาย หลายรายหันกลับไปดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ ทั้งที่หยุดไปแล้วหลายปี ไม่สามารถทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลเสียต่อความสามารถในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะหากก่อนฆ่าตัวตายมีปัญหาความสัมพันธ์กันอยู่เดิม กรณีที่พ่อหรือแม่ฆ่าตัวตาย เด็กจะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการให้เด็กช้าลง หรือรุนแรงถึงขั้นหยุดชะงักลง หากลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นอาจพบปัญหาของการแสดงออกทางอารมณ์ มีแนวโน้มของการเกิดความคิดด้านลบมากขึ้น มีการให้ความหมายของเหตุการณ์ใหม่ที่เข้ามาในแง่ลบมากกว่าวัยรุ่นทั่วๆ ไป บาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่อย่างมาก

 

ในขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับสังคมและชุมชนพบว่า  ปัญหาฆ่าตัวตายนอกจากสร้างความสะเทือนใจแก่สมาชิกแล้ว ยังเป็นการสร้างแบบอย่างการแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย ส่งผลต่อพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออยู่ เปลี่ยนแปลงไปในทางลบ นำไปสู่ปัญหาของชุมชนและสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน เมื่อเกิดการฆ่าตัวตายซ้ำๆ ในชุมชน จึงสร้างความกังวลใจว่าจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้น

 

 

การเสนอข่าวของสื่อทำคนฆ่าตัวตายเพิ่ม

สำหรับประเด็นการเลียนแบบการฆ่าตัวตายที่เกิดจากการเผยแพร่ของสื่อมวลชน นี้ น.พ.ทวีกล่าวว่า เป็นประเด็นหนึ่งที่กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วง เพราะถือว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นได้ จนเป็นเหตุให้ องค์การอนามัยโลกถึงกับต้องนำเสนอแนวทางเพื่อการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายใน สื่อมวลชนเพื่อใช้เป็นหลักในการตัดสินใจเผยแพร่เนื้อหา หรือภาพข่าวการฆ่าตัวตายในกรณีต่างๆ  โดยขอให้หลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ และเลี่ยงการบรรยายวิธีการฆ่าตัวตายโดยละเอียด หากมีบันทึกลาตาย ก็ไม่ควรนำเสนอข้อความรายละเอียด ขณะเดียวกันควรให้ความรู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และคำแนะนำเกี่ยวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นและแหล่งช่วยเหลือ โดยการนำเสนอข่าวแต่ละครั้งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับญาติ และผู้ใกล้ชิด ที่สำคัญจะต้องตระหนักถึงโอกาสในการเลียนแบบ หากผู้ฆ่าตัวตายเป็นดารา หรือผู้มีชื่อเสียง

 

ในขณะที่ในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตได้เคยจัดประชุมร่วมกับบรรณาธิการข่าวในช่วงที่มีข่าวการฆ่าตัว ตายเกิดขึ้นมาก โดยขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสม พบว่า ช่วยให้การนำเสนอข่าวเป็นไปตามหลักการนำเสนอข่าวที่ดีมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการดำเนินการได้ผลในระยะสั้น ด้วยเหตุผลเชิงการทำธุรกิจของสื่อ และขาดกลไกการควบคุมการนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนด้วยกันเองและจากสังคม ทำให้ปัญหาการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอย่างเหมาะสมยังไม่ได้รับการแก้ไข และร่วมมืออย่างจริงจังเท่าที่ควร การผลักดันให้สื่อมวลชนเห็นความสำคัญของการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย เพื่อไม่ให้เกิดการเลียนแบบ โดยเฉพาะการบรรยายวิธีการ หรือการฆ่าตัวตายของดาราชื่อดัง ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่น.พ.ทวียืนยันว่า จะต้องมีการกำหนดทิศทางในการหาความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและ ยั่งยืน

 

แม้ว่าปัจจุบันอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยจะลดลง แต่ด้วยสภาพสังคมปัจจุบัน น.พ.ทวีระบุว่า ยังคงเป็นสังคมที่ขาดความเชื่อมโยง ขาดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเฉพาะการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดในครอบครัว จึงยังคงเป็นที่น่าเป็นห่วงว่า หากยังไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้ปัญหาการฆ่าตัวตายกลับมาเพิ่มขึ้นอีกได้

 

‘พระไพศาล’ชี้ฆ่าตัวตาย-สร้างกรรมขั้นร้ายแรง

ความคิดเห็นของ น.พ.ทวี สอดคล้องกับแนวความคิดของ พระไพศาล วิสาโล พระชื่อดังผู้เผยแพร่เรื่องสิทธิการตายและการตายอย่างสงบ ที่เห็นตรงกันว่า จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนไทยกำลังให้คุณค่ากับความสำคัญทางวัตถุ สถานะทางสังคม และรูปร่าง มากกว่าความเข้าใจความเป็นจริง เมื่อเกิดความผิดหวังทั้งจากเรื่องการงาน ความรัก หรือความหวังต่างๆ จนรู้สึกยอมรับไม่ได้ จนทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โดดเดี่ยว ไม่มีคนพูดคุยปรึกษาหารือด้วย ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงไม่ได้ จึงส่งผลต่อความรู้สึกการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาจึงเกิดขึ้น ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกวิธีการนี้ว่า “การตกอยู่ในภาวะตัณหา” คือการอยากหลุดพ้นจากสภาวะที่เป็นทุกข์ ความคิดที่สุดโต่งคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งแม้ว่า คนไทยที่นับถือพุทธศาสนาส่วนใหญ่จะเชื่อว่าการฆ่าตัวตายเป็นการสร้างกรรม ขั้นร้ายแรง แต่เมื่อเวลามีทุกข์มากๆ จะทำให้เกิดความหลง และลืมว่าการกระทำนี้คือบาป

 

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย พระไพศาลแสดงทัศนะว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความรู้กับสังคมรอบข้าง เพราะปัจจุบันคนไทยไม่มีความรู้เกี่ยวกับการส่งสัญญาณของคนที่กำลังคิดจะฆ่า ตัวตายเลย เพราะสังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ แม้ว่าจะมีคนส่งสัญญาณว่า กำลังตกอยู่ในความทุกข์ เช่นการ ขอปรึกษา ขอพูดคุยในปัญหาต่างๆ แต่ผู้รับกลับรู้สึกว่าการส่งสัญญาณนั้นเป็นเพียงการปรึกษาหารือธรรมดา และไม่น่าสนใจ ปัญหาจึงเกิดตามมา ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องกับสังคมเรื่องของการส่งสัญญาณเหล่านี้จึงเป็น สิ่งจำเป็นในสังคมปัจจุบันที่ถือว่าเป็นสังคมที่เสี่ยงต่อการทำให้คนตัดสิน ใจฆ่าตัวตายสูง

 

สธ.ให้ความรู้อสม.ลดปัญหาฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ กำหนดนโยบายเพื่อการปฏิบัติ เป็นยุทธศาสตร์ 3 ข้อด้วยกัน คือ 1.เน้นให้ประชาชนเข้าใจ มีส่วนร่วมในการดูและคัดกรอง ป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย 2.การให้องค์ความรู้กับบุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่เป็นผู้เข้าถึงใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการให้ข้อมูลกับประชาชนแทนการนำเสนอในรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นกว่าเดิม  ทั้งนี้เพราะปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะบุคคล หากแต่เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่จะส่งผลกระทบสู่ประเทศชาติโดยรวม

 

 

เผยภาคเหนือฆ่าตัวมากสุด-ใต้น้อยสุด

น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาการฆ่าตัวตาย นับเป็นปัญหาสำคัญที่กลุ่มสมัชชาสุขภาพภาคเหนือ และสมัชชาสุขภาพล้านนา เห็นตรงกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขว่า เป็นปัญหาใหญ่ มีผลกระทบรุนแรงต่อสังคมจึง  ควรจะมีการผลักดันให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ กลุ่มจังหวัดในภาคเหนือ และ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จ.เชียงราย ระบุชัดเจนว่า จังหวัดในภาคเหนือมีอัตราฆ่าตัวตายมากที่สุดในประเทศไทย ในขณะที่ในภาคกลางและภาคใต้ มีอัตราการฆ่าตัวตายน้อยกว่า

 

สาเหตุส่วนใหญ่ที่นอกเหนือจากประเด็นด้านสุขภาพจิต แล้ว ยังเชื่อว่าเรื่องของสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ยังส่งผลต่อการตัดสินใจฆ่าตัว ตายอีกด้วย ซึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงมีการผลักดันให้มีการบรรจุระเบียบวาระเรื่อง “การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย สุขใจ...ไม่คิดสั้น” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือเพื่อผลักดันให้เกิดกำหนดนโยบาย เกี่ยวกับมาตรการและกลไกในการ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดเพิ่มขึ้น จากปัจจัยเสียงต่างๆ ทั้งเรื่องความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความไม่แน่นอนของชีวิต ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดังกล่าว กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรของรัฐ และกลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจากทั่วประเทศ จะได้นำเสนอประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ ในที่ประชุมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ ที่มองเห็นความสำคัญของปัญหาการฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: