นักสิทธิมนุษยชนร้องรับผิดชอบ ข่าวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

8 พ.ค. 2555


 

สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายสราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รวมทั้งบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรณีใช้คำพาดหัวข่าวสร้างทัศนคติในทางลบแก่กลุ่มชาติพันธุ์ โดยเนื้อหาระบุรายระเอียดดังนี้

เนื่องจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ www.thairath.co.th ประจำวันที่ 6 พ.ค.2555 ได้เผยแพร่ข่าวด้วยพาดหัวข่าวว่า “เห็นแก่ได้ ! ชนกลุ่มน้อยโค่นไม้ – ปลูกกัญชา รุกป่าแก่งกระจาน” และพาดหัวข่าวในวันที่ 7 พ.ค.55ว่า “ตะลึง! ชนกลุ่มน้อยบุกรุกป่าต้นน้ำเพชรบุรีหนักต้นไม้ใหญ่ถูกโค่น” โดยมีเนื้อหาว่า “หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำกำลังเจ้าหน้าที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บินตรวจพื้นที่ป่าแก่งกระจาน หลังถูกชนกลุ่มน้อยเห็นแก่ได้ บุกรุกโค่นป่า และลักลอบปลูกกัญชา ในพื้นที่ป่าประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นเชื่อว่า เป็นชาวกะเหรี่ยง-กะหร่าง ร่วมมือกับบุคคลภายนอก เนื่องจากพฤติกรรมที่เคยตรวจพบมีแค่พียงการแผ้วถางป่าและปลูกพืชไร่ แต่ครั้งนี้พบการแปรรูปไม้ที่โค่นด้วย” (คลิกอ่านเนื้อข่าว)

http://www.thairath.co.th/content/edu/258185 และ http://www.thairath.co.th/content/edu/258349)

 

การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ใช้คำพาดหัวข่าวที่มีลักษณะกล่าวหาหรือกล่าวโทษแบบเหมารวม กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง-กะหร่าง ตลอดจนชนกลุ่มน้อยอื่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นการแสดงให้เห็นถึงทัศนคติในด้านลบของผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนแล้ว และยังเป็นการสร้างอคติต่อชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์แก่ผู้บริโภคสื่ออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แล้ว และยังเป็นนำเสนอข่าวที่ขัดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวต่อชนพื้นเมืองชาติพันธุ์กระเหรี่ยง เป็นการสร้างความเสื่อมเสียถึงเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และอาจมีผลทำให้สาธารณะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือมีความเข้าใจไปในทางลบเกี่ยวกับชนพื้นเมือง ซึ่งก็เป็นสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของประเทศไทย อันเป็นการนำเสนอข่าวที่ก่อให้เกิดอคติ การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และยังขัดต่อแนวปฏิบัติของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่องการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนา ประกาศเมื่อวันที่ 24 พ.ค.50 คลิกอ่านแนวปฏิบัติของภาการหนังสือพิมพ์http://www.presscouncil.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=154&Itemid=100006) ซึ่งมีข้อกำหนด  ดังนี้

 

1.พึงจำกัดเฉพาะบุคคลผู้กระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับผู้นั้นเท่านั้น มิบังควรขยายหรือให้เกิดความเข้าใจกว้างไกลพาดพิงถึงเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ผิวสี ศาสนา ความเชื่อถือหรือถิ่นกำเนิดของผู้นั้น ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด ความเสียหาย หรือการถูกเหยียดหยามหรือเกลียดชังต่อส่วนรวม ซึ่งมิได้เป็นผู้กระทำความผิดนั้น

2.ในกรณีที่ปรากฏเบื้องต้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ความผิดโดยศาลยุติธรรมแห่งชาติก่อน จึงไม่ควรนำเสนอข่าวหรือภาพข่าวเพื่อให้เกิดความเสียหายก่อนการพิสูจน์ความ ผิดทางกฎหมาย

3.เพื่อป้องกันปัญหาการนำเสนอข่าวหรือภาพข่าว หรือแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ผิวสี ศาสนา ความเชื่อถือหรือถิ่นกำเนิดของผู้ตกเป็นข่าว ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ควรตระหนักถึงในข้อเท็จจริงและจริยธรรมแห่ง ความเป็นจริง ไม่ควรนำเสนอข่าวและภาพข่าวในทำนองปรักปรำให้เกิดความเข้าใจผิดกันทั้งหมด

ในขณะที่ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงชนพื้นเมืองจากผืนป่าแก่งกระจาน กำลังเรียกร้องไม่ให้เกิดการบิดเบือนความเข้าใจและเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิของตน โดยร่วมกับสภาทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในวันที่ 1 พ.ค.2555 เรียกค่าเสียหายกว่า 2 ล้านบาท และขอให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประกาศขอโทษโจทก์ และชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานในหนังสือพิมพ์ เป็นระยะเวลา 15 วัน จากการที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำเจ้าหน้าที่เข้าทำลายทรัพย์สิน และบังคับอพยพชาวบ้านออกจากป่า ซึ่งชนพื้นเมืองดังเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลายสำนักว่า ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศเพื่อนบ้านบุกรุกป่าและเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อันเป็นการกล่าวร้ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2555 คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ แห่งองค์การสหประชาชาติ ยังมีหนังสือสอบถามมายังรัฐบาลไทย เกี่ยวกับกรณีการบังคับอพยพและความรุนแรงต่อชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในกรณีเดียวกันนี้

จากแนวปฏิบัติข้างต้นและเพื่อดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรเครือข่าย จึงขอเรียกร้องให้ ไทยรัฐออนไลน์รับผิดชอบต่อการนำเสนอข่าวที่ขัดต่อหลักปฏิบัติของสื่อสารมวลชน และขอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตรวจสอบการนำเสนอข่าวดังกล่าว  ตลอดจนดำเนินมาตรการสร้างความเข้าใจกับบุคคลากรสื่อมวลชน และป้องกันการนำเสนอข่าวที่เป็นการสร้างอคติทางเชื้อชาติในลักษณะเช่นนี้อีก เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างปราศจากอคติ สร้างความความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณะ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนความแตกต่าง การนับถือกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: