จัด‘ขบวนการหน้ากากเสือโคร่ง’ นศ.รวมตัวค้านผุด‘เขื่อนแม่วงก์’

ปกรณ์ อารีกุล 7 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2202 ครั้ง

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. เครือข่ายนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ 30 คน สวมหน้ากากรูปเสือ รวมตัวกันที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมทำกิจกรรมคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยก่อนจะเดินไปยังสยามสแควร์ เครือข่ายนักศึกษาได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ที่หน้าหอศิลป์ฯ ระบุว่า เราขอพูดในนามของเสือโคร่งและสัตว์ป่า พี่น้องสัตว์ป่าและสัตว์เมืองที่รัก การที่ชาวเสือโคร่งได้รับมติจากสภาสัตว์ป่าแม่วงก์ ให้เข้ามาทำการเคลื่อนไหวในเมืองหลวงของสัตว์เมืองในครั้งนี้ ที่เราหนีออกจากป่าเข้าเมืองมาในวันนี้ เราได้ร่วมประชุมกับกับผู้แทนสัตว์ป่า อันประกอบด้วยสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์อากาศ (สัตว์ที่บินได้) โดยขอยืนยันว่า ไม่ได้รับการแทรกแซงจากสัตว์เมืองแต่อย่างใด จนได้มติและข้อเสนอดังนี้

1.เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาถึงผลดี-ผลเสีย ของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ซึ่งมีกรณีศึกษามากมายในระดับประเทศและระดับโลก

2.เราขอเรียกร้องให้สัตว์เมืองผู้กุมอำนาจ ใช้กระบวนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวสัตว์ป่า และเสืออย่างเราในทุกๆ โครงการของรัฐสัตว์ รัฐสัตว์ต้องถือว่าความเห็นของประชาชนชาวสัตว์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเจ้าของประเทศและเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย

 

3.ข้อสามเหมือนข้อ 2+ข้อ 1 แต่เพิ่มเติม หลังวรรค 2 แนบรัฐธรรมนูญแห่งรัฐสัตว์ มาตรา 66  (วรรควรรค) รัฐสัตว์ที่มาจากสิทธิ์และเสียงของประชาชนชาวสัตว์ ควรรับฟังเสียงของประชาชนชาวสัตว์ เสียงของผู้แทนสัตว์ป่า ปัญหาน้ำท่วมก็ไม่ได้เกิดจากเรา อย่านำพื้นที่ป่ามาเป็นข้ออ้างเพื่อเบี่ยงเบนความรับผิดชอบของสัตว์เมืองพี่น้องเสือจากทั่วทุกมุมโลก ได้มารวมตัวกันเพื่อประกาศว่า เสือก็มีชีวิต (ชีวิต) เสือก็มีหัวใจ (หัวใจ) ไปเที่ยวแม่วงก์กันไหม ไปดูเสืออย่างเราว่ามีอยู่จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกลุ่มนักศึกษาได้เดินแจกสติ๊กเกอร์ NO DAM และเอกสารข้อมูลเขื่อนแม่วงก์ให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา พร้อมกับชูป้ายคัดค้านตลอดทาง มาจนถึงหน้าสยามพารากอน และสิ้นสุดที่บนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงทรัพยากรธรรมชาติที่จะสูญเสียไป หากมีเขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้น ซึ่งตลอดกิจกรรมนักศึกษาได้ใส่หน้ากากรูปเสือเป็นสัญลักษณ์ว่า เป็นตัวแทนของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าแม่วงก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบร้ายแรง

น.ส.พิมพ์ชนก พุกสุข ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า คิดว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด และมีความสงสัยว่าจะสร้างทำไม เพราะจากข้อมูลที่ได้ศึกษามาพบว่า เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ และรัฐยังถามคนในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ทั่วถึง

 

 

ด้านนายเจียระไน นะแส ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่วว่า เหตุผลที่ใส่หน้ากากเสือเนื่องจาก กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ได้ศึกษาพบว่าป่าแม่วงก์มีเสืออาศัยอยู่ นั่นหมายความว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีห่วงโซ่อาหาร และเสือที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนไม่มีโอกาสได้พูด จึงขอพูดในนามของเสือโคร่ง สัตว์ป่าอนุรักษ์ที่ใกล้สูญพันธ์

 

 

             “ผมคิดว่าเขื่อนแม่วงก์แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้น้อย เท่าที่ทราบคือไม่ถึงสองเปอร์เซ็น คิดว่าเราไม่สามารถเอาป่าที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเหลือน้อยเต็มที ไปแลกกับอะไรได้อีกแล้ว เราต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องการป่าซึ่งที่เก็บน้ำถาวร” นายเจียระไนกล่าว

 

ภาพโดย Tangkwa' Khowbor และ Anucha Tadee

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: