‘ชีวินทรีย์’วิธีทำลายศัตรูพืชแทน'สารเคมี' ปล่อย'ไวรัส'ทำให้หนอนป่วยเป็นโรคตาย รอผลิตขาย-ทางเลือกยั่งยืนของเกษตรกร

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5867 ครั้ง

 

‘ชีวินทรีย์’ ทางเลือกใหม่

 

 

หากกล่าวถึงศัตรูพืชจะมีทั้งแมลงศัตรูพืช และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค สารเคมีที่ใช้กำจัด จึงมีทั้งสารเคมีฆ่าแมลง และสารเคมียับยั้งเชื้อรา โดยทั่วไปในระบบนิเวศวิทยาที่สมดุล ศัตรูพืชจะถูกควบคุมหรือมีศัตรูธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทย อาจนำวิธีดังกล่าวมาใช้ปราบศัตรูพืชโดยการนำสิ่งมีชีวิตหรือผลิตภัณฑ์ จากสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติมาเพาะเลี้ยง และนำกลับไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืชเรียกว่าการใช้ “ชีวินทรีย์”  ซึ่งเป็นการลดหรือควบคุมประชากรศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพืช

 

นายสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ ผู้จัดการโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อไวรัส NPV เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ชีวินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่ง เช่น ไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทั้งในด้านเกษตรและอุตสาหกรรม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               “บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรมอยู่ในเขตร้อนชื้น มีปัญหาด้านแมลงศัตรูพืชมากกว่าเขตหนาวอย่างยุโรป ทำให้การทำเกษตรกรรมในประเทศเรา มักนิยมใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีแนวโน้มการนำมาใช้ในปริมาณที่สูง เนื่องจากเราต้องการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เพียงพอกับความต้องการของตลาดและจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลผลิต ที่จะออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน แต่เกษตรกรกลับนิยมใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดพิษและยังตกค้างในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในมุมของนักโรคพืช นักกีฎวิทยา จึงพยายามหาแนวทางในการควบคุมศัตรูพืชที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การกำจัดตัวอ่อนของผีเสื้อด้วยการพ่นเชื้อโรคให้ป่วยตายไปในที่สุดด้วยวิธีการที่ปลอดภัยทั้งกับผู้ใช้ ผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อม”

 

 

ชีวินทรีย์’ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช

 

 

งานวิจัยชีวินทรีย์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช จึงเป็นที่มาของทางเลือก ทางรอดที่ยั่งยืนของการทำเกษตรกรรมรูปแบบใหม่ให้กับเกษตรกรไทย โดยผู้จัดการโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อไวรัส NPV เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช (ไบโอเทค) กล่าวว่า  งานวิจัยนี้เป็นการนำเชื้อไวรัสชื่อว่า NPV ชนิดหนึ่ง ที่ทำให้หนอนป่วยเป็นโรคตาย และเป็นเชื้อไวรัสที่มีอยู่แล้วในบ้านเราเอง ไม่ได้สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งทีมวิจัยไปทำการวิจัยและคัดเชื้อไวรัสที่ดีที่สุดมาทดสอบ ทั้งด้านความปลอดภัยกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า เชื้อไวรัส NPV นี้จะทำให้หนอนบางชนิดเท่านั้น ที่ได้รับเชื้อเข้าไปแล้วป่วยตาย ซึ่งมีความจำเพาะที่สูงมาก ได้แก่ หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งเป็นหนอนสำคัญที่ได้ทำลายพืชทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น องุ่น หอมแดง หอมหัวใหญ่  ส้ม มะเขือเทศ หรือไม้ดอกอย่างกุหลาบ เบญจมาศ ดาวเรือง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ไวรัสปลอดภัยใช้แทนสารเคมี

 

 

จากวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม คือการใช้สารเคมีแทบจะทุกชนิดที่มีประกาศโฆษณาว่า ใช้ได้ดี แต่กลับพบว่า หนอนกระทู้หอมมีการดื้อยามากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการเปลี่ยนชนิดสารเคมีที่มีความรุนแรงขึ้น จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงเพิ่มขึ้นตามมา อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

 

ทีมวิจัยจึงแนะนำให้เกษตรกรใช้เชื้อไวรัส NPV เพื่อควบคุมหนอนกระทู้หอม โดยไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus, NPV) เป็นไวรัสในธรรมชาติ ที่ทำให้หนอนเป็นโรค และตายเมื่อหนอนกินไวรัสที่เราพ่นไว้บนพืชเข้าไป

 

โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่กระเพาะอาหารของหนอน อนุภาคไวรัสจะเริ่มทำลายเซลล์ผนังกระเพาะอาหารก่อนแล้วจึงขยายพันธุ์ทวีจำนวนมากขึ้น และแพร่กระจายเข้าสู่ภายในลำตัวของหนอน ทำลายอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ เช่น เม็ดเลือด ไขมัน กล้ามเนื้อ และผนังลำตัว เป็นต้น โดยทำให้หนอนตายในที่สุด ซึ่งไวรัสนี้ได้รับการทดสอบแล้วว่า มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งนี้เชื้อไวรัส NPV มีความเจาะจงกับเป้าหมายมาก โดยจะเลือกทำลายเฉพาะหนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย

 

 

                  “เอาเชื้อไวรัสฉีดเข้าไปในพืชที่เราปลูก เมื่อผีเสื้อมาวางไข่และออกไข่เป็นหนอน ก็จะกัดกินต้นพืชดังกล่าว ทำให้ได้รับเชื้อไวรัสนี้ไปด้วย แต่ไม่มีอันตรายกับคนและสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยสูงมาก ไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น”

 

 

การนำไปใช้แทนสารเคมี

 

 

นายสัมฤทธิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีการนำไวรัส NPV ไปใช้นั้น ได้แก่ทางเลือกที่ 1 คือ สามารถนำไปพ่นใช้ทดแทนสารเคมีเมื่อเจอหนอนชนิดที่ตรงกับไวรัส สามารถพ่นไวรัสเช่น ทุก 5 หรือ 7 วันทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงการระบาดของหนอนดังกล่าว ถ้าระบาดมากสามารถลดอาจพ่นได้ในระยะ 3 หรือ 4 วัน เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจเห็นผลช้าแต่มีความปลอดภัยสูง

 

สำหรับทางเลือกที่ 2 ได้แก่การนำไปใช้ร่วมกับสารเคมี คือ สามารถพ่นไวรัสก่อนและตามด้วยสารเคมี ซึ่งทำให้จากเดิมที่เคยพ่นสารเคมีจำนวนมากเกษตรกรก็จะใช้สารเคมีลดลง เช่น อาจเหลือเพียง 2-3 ครั้งต่อการพ่น 1 ครั้ง เพราะมีไวรัสเป็นตัวช่วยให้หนอนตายเร็วยิ่งขึ้น ทางเลือกนี้จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้นและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้อีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

NPV ปลอดภัย ไม่ดื้อยา

 

 

 

 

 

 

ผู้จัดการโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อไวรัส NPV เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช (ไบโอเทค) กล่าวอีกว่า งานวิจัยดังกล่าวมีการนำไปทดลองใช้จริงกับเกษตรกร เช่น เกษตรกรสวนองุ่น หน่อไม้ฝรั่ง หอม ฯลฯ

 

 

“เกษตรกรยังตอบรับค่อนข้างน้อย เนื่องจากสารชีวินทรีย์มีจุดแข็ง คือ ปลอดภัยกับทุกคน เกษตรกร สิ่งแวดล้อม และผู้ใช้เอง แต่ยังมีจุดอ่อนคือ หนอนตายช้าเหมือนเชื้อโรค กว่าจะทำให้หนอนป่วยอ่อนแอใช้เวลาเป็นวัน หรือ 2-3 วันจะสู้สารเคมีไม่ได้ เพราะสารเคมีฉีดปุ๊บร่วงให้เห็นเลยเกษตรกรจะประทับใจสารเคมีมากกว่า แต่ไวรัส NPV ก็มีจุดเด่นอีกอย่างคือ เมื่อฉีดพ่นไปแล้วหนอนไม่ดื้อยาเหมือนสารเคมีที่ฉีดแล้วหนอนดื้อยา คือ หนอนสามารถพัฒนาตัวเองให้สู้กับสารเคมีได้

 

หากมองหาความยั่งยืนในระยะหลังบริษัทต่างๆ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ก็มีกฎหมายเข้มงวดในการควบคุมและการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตร ดังนั้นเกษตรกรไทยจึงควรหันมาใช้ชีวินทรีย์ที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ยิ่งไทยประกาศเป็นครัวโลก เป็นแหล่งอาหารปลอดภัย ดังนั้นเราต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ดูแลผลผลิตทางการเกษตรเหล่านี้ให้ปลอดภัยเช่นเดียวกัน

 

 

โรงงานต้นแบบผลิตเชื้อไวรัสเพื่อควบคุมศัตรูพืช

 

 

ผู้จัดการโรงงานต้นแบบฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับงานที่ทีมวิจัยชีวินทรีย์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืช นั้นเป็นการทำโรงงานต้นแบบ “คือขยับขึ้นมาจากห้องทดลอง แต่ยังไม่เป็นเชิงพาณิชย์ ยังไม่เป็นอุตสาหกรรมเรียกว่าโรงงานต้นแบบให้เอกชนมาเรียนรู้ และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็มีการเชิญบริษัทเคมีเกษตรเข้ามาเยี่ยมชมโรงงาน เพื่อให้ทดลองนำไปจำหน่าย และทีมวิจัยจะสนับสนุนด้านความรู้ทางวิชาการต่อเนื่อง”

 

ถึงวันนี้เกษตรกรไทยคงต้องหันมาเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ชีวินทรีย์สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง มีประโยชน์ระยะยาวและยั่งยืน โดยเฉพาะความปลอดภัยต่อทั้งสุขภาพของเกษตรกรเอง ผู้บริโภครวมถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: