แฉกรมชลฯแต่งข้อมูลอีไอเอ'เขื่อนแม่วงก์' ทั้งพื้นที่-ระดับน้ำชงเข้าคชก.-ครม.อนุมัติ จี้แก้ปัญหาชาวบ้านเขื่อนเก่าก่อนผุดใหม่

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 4 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3198 ครั้ง

หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ เดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ด้วยงบประมาณ 13,280 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง เก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และขยายพื้นที่ชลประทาน เหมือนกับที่เคยกล่าวอ้างกับการสร้างเขื่อนเกือบทุกแห่ง ขณะที่เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอข้อมูลเพื่อย้อนเหตุผลของรัฐบาลว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

 

บริษัททำจ้างทำอีไอเอยอมรับ ‘เขื่อนแม่วงก์’ไม่คุ้มค่า

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ และบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี  จำกัด จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในการทบทวน ร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเอกสารแผ่นพับแนะนำโครงการที่แจกให้กับผู้เข้าร่วมงาน ระบุวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่า เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับการชลประทาน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดเป็นประจำเกือบทุกปี เพื่อปรับปรุงสภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนที่ยากจนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น และเพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีการกระจายรายได้

 

แต่ไม่ได้ระบุว่า จะป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางแต่อย่างใด มีเพียงระบุว่า เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดเป็นประจำทุกปี ซึ่งหมายถึง อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่มีภูมิประเทศเป็นที่รับน้ำจากที่สูงจากป่าแม่วงก์ ทั้งนี้ยังมีลำน้ำอีกไม่ต่ำกว่า 6 สาย ที่ไหลลงสู่ อ.ลาดยาว ดังนั้นในการอ้างว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ป้องกันน้ำท่วมภาคกลางได้ เป็นการอ้างที่ผิดกาลเทศะ ดังที่ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวในการสัมมนาดังกล่าวว่า

 

 

                  “จากการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเขื่อนแม่วงก์ ขอชื่นชมการทำงานของบริษัทที่ปรึกษา ที่กล้ายอมรับว่า โครงการได้ผลตอบแทนเป็นลบ เนื่องจากหากคิดจากต้นทุน 13,280 ล้านบาท อาจได้อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเท่าทุน เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะให้ผลตอบแทนเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น และโครงการเขื่อนแม่วงก์ยังมีความเปราะบาง ไม่สามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ จากการศึกษาพบว่า โครงการนี้ได้ผลตอบแทนเป็นลบ เพราะสังคมได้กำไรเฉียดฉิวมาก ประมาณ 324 ล้านบาท จากเงินลงทุนประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท แต่ต้องชมบริษัทที่ปรึกษาที่กล้าเขียนในรายงานว่า ผลตอบแทนโครงการนี้เป็นลบ ส่วนการอ้างว่าเขื่อนแม่วงก์ออกแบบมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมนั้น เป็นการอ้างที่ผิดกาลเทศะ” ดร.อดิศร์กล่าว

 

 

ระบุต้องทำข้อมูลให้ชัดเพื่อตัดสินใจถูกต้อง

 

 

ขณะที่ ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย อดีตคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ด้านแหล่งน้ำ ระหว่างปี  2545-2550  แสดงปาฐกถาเรื่อง “ปัญหาเขื่อนแม่วงก์” ว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเขื่อน ที่เข้าสู่การพิจารณาของคชก.มีปัญหาแทบทุกเขื่อน แต่กรมชลประทานสามารถผลักดันให้ผ่านการพิจารณาไปได้ทุกเขื่อน ราวกับว่าการก่อสร้างเขื่อนเป็นเรื่องที่ต้องเอาชนะกัน แต่ไม่ได้เป็นการพูดความจริง ซึ่งในการพิจารณาปัญหาอีไอเอของโครงการเขื่อนแม่วงก์ จะต้องพิจารณาในหลายด้านตั้งแต่ 1.ธรรมาภิบาล 2.เทคโนโลยี 3.สังคม 4.สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 5.เศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 5 เรื่อง จะพูดแยกส่วนเป็นเอกเทศมักจะทำไม่ได้ แต่เรื่องสำคัญที่จะกล่าวถึงคือ เรื่องธรรมาภิบาล เพราะถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมือง ไม่มีธรรมาภิบาลแล้ว ประเทศชาติก็ไปต่อไม่ได้ เพราะการที่ผู้บริหารประเทศไม่มีธรรมาภิบาล จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ กับคนรุ่นหลังตลอดไป

 

ดร.ปริญญาอธิบายว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องมีความสมบูรณ์และชัดเจนเพียงพอ ที่ผู้มีอำนาจชี้ขาด สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมาอีไอเอของประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเขื่อน ส่วนใหญ่ข้อมูลไม่ถูกต้อง บริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับจ้างทำอีไอเอมีข้ออ้างว่าเงินน้อย เวลาไม่พอ ติดขัดปัญหากฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการตีราคาคุณค่าของระบบนิเวศ ซึ่งไม่เคยมีการกำหนดมาตรฐานว่า ควรจะเป็นเท่าใดเนื่องจากเป็นเรื่องของนามธรรม และไม่สามารถวัดในเชิงปริมาณได้

 

                  “บ้านเรา ต้นสักต้นเดียวเคยตีราคาตั้งแต่ 20,000 – 5,000,000 บาท ตกลงราคาอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะว่าเรื่องบางเรื่อง มีทั้งรูปธรรมและนามธรรมปะปนกันอยู่ และเมื่อมันเริ่มเป็นนามธรรม มันจะวัดโดยปริมาณไม่ได้ เพราะฉะนั้นใครที่จะตัดสินในเรื่องที่เป็นนามธรรม จะต้องเขียนคำอธิบายให้ชัดเจนในทุกแง่ทุกมุม ว่าตนเองคิดอย่างไร ตัดสินอย่างไร เพราะคนที่อยู่ข้างหลังจะได้รับรู้ว่า คนที่ตัดสินคิดจากอะไร ตนเองต้องแสดงความคิดของตนเองให้ปรากฏว่า ทำไมจึงคิดอย่างนี้ จึงได้ตัดสินอย่างนี้ว่าต้องทำ ไม่ทำไม่ได้”

 

 

ทั้งนี้ในเรื่องนามธรรมทุกคนมีจุดยืนไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ จะต้องอธิบายให้ครบถ้วน รอบคอบ ครอบคลุม โดยใช้หลัก 4 C คือ Correct Clear Complete และ Conside

 

หน่วยงานรัฐห่วยสร้างเขื่อนมา 37 ปี ชาวบ้านอพยพไม่มีไฟฟ้าใช้-น้ำไม่ไหล

 

 

ศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า เขื่อนมีประโยชน์แน่นอน เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครสร้างเขื่อน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า กักเก็บน้ำเพื่อการประปา อุตสาหกรรม ไล่น้ำเค็ม เช่นที่แม่น้ำเจ้าพระยามีการบริหารจัดการไม่ให้น้ำเค็มเข้าถึง อย่างไรก็ตามผลกระทบของเขื่อนก็มีมากเช่นเดียวกัน ปัญหาหลังจากการสร้างเขื่อนที่แทบทุกเขื่อนมีเหมือนกัน และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้คือ ปัญหาจากชุมชนที่ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อน ซึ่งบางเขื่อนที่อพยพชุมชนออกมา 37 ปี ที่ประชาชนไม่มี ไฟฟ้าใช้

 

             

 

                 “เรื่องชุมชนต้องอพยพ ทุกเขื่อนมีปัญหาทั้งนั้น ตั้งแต่เขื่อนในหลวง เขื่อนพระนามบัญญัติ ที่เป็นเขื่อนใหญ่เขื่อนแรก คนที่ถูกน้ำท่วมถูกอพยพไปอยู่ดอยเต่าไม่มีไฟฟ้าใช้มาอีก 37 ปี จะเล่าเรื่องนี้ให้ฟังต่อไปอีกหลายๆเขื่อน แม้กระทั่งเขื่อนพระนางเจ้าเหมือนกัน ทีแรกอพยพมาไว้หน้าเขื่อน ทำท่อประปาให้ ท่อประปาเสีย แต่เดิมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบ ตอนนี้มาโยนให้กรมชลประทาน กรมชลประทานได้โอกาสจะสร้างเขื่อนใหม่ให้ เพื่อจะเอาน้ำให้ชาวบ้านที่ถูกอพยพ แล้วทำไมไม่ต่อท่อแล้วสูบน้ำจากเขื่อนมาให้เขา”

 

 

และแม้ว่าเขื่อนจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แต่เขื่อนก็สามารถทำให้น้ำท่วมได้เช่นเดียวกัน หากมีการบริหารจัดการน้ำไม่ดี ซึ่งดร.ปริญญาได้ยกตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำ เมื่อน้ำท่วมปี 2554 ผู้บริหารน้ำสั่งกักเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพล จนกระทั่งน้ำเต็มเขื่อน เมื่อเต็มถึง 95 เปอร์เซ็นต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตกใจว่า เดี๋ยวน้ำจะล้นเขื่อน ซึ่งในความเป็นจริงน้ำยังไม่ล้น ยังสามารถกักเก็บได้

 

 

                 “ถึงล้นก็ไม่เป็นไร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เก็บน้ำได้ถึง 134 เปอร์เซ็นต์ ยังเก็บได้เลย นี่ 95 เปอร์เซ็นต์ระบายน้ำทิ้ง ป่นปี้ไปหมด แล้วทำให้อะไรเกิดขึ้น อย่างนี้ต้องลากไปศาลปกครอง แล้วก็ลากไปศาลแพ่ง ให้ชดใช้ค่าเสียหาย เพราะสถิติการปล่อยน้ำมันชัด ตอนกักเก็บก็ชัด ไม่ปล่อยเลย กักเก็บก็ชัดว่าเก็บไว้เท่าไหร่” ดร.ปริญญากล่าว

 

 

หวั่นปลุกผีเขื่อนน้ำโจน หากอนุมัติแม่วงก์

 

 

ปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือ ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการถือครองที่ดิน ดร.ปริญญาเล่าว่า ในขณะที่เป็นคชก.ได้พิจารณาอีไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ ได้ให้กรมชลประทานขอตัวเลขจากกรมที่ดินมาดูว่า มีใครบ้างในพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมบริเวณเขาชนกัน มีกี่คนที่เป็นเจ้าของที่รายใหญ่ ในครั้งนั้นกรมชลประทานได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาข้อมูล และข้อมูลน่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2553 แต่ไม่มีใครเคยเห็นตัวเลขเลย

 

               “ถ้าจะให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น ต้องดูตรงนี้ก่อนว่า เราจะเอาเงินของคนทั้งประเทศ ภาษีอากรของคนทั้งประเทศ ที่จะเอาไปสร้างเขื่อน ให้คนกี่คน แต่ละคนมีที่ดินเท่าไหร่ เอาตัวเลขมาดูก่อนได้ไหม ถ้าจะทำให้เกิดความเป็นธรรม เพราะตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของการสร้างเขื่อน”

 

ในขณะที่กรมชลประทานไม่สามารถตอบคำถามประเด็นที่ดินบริเวณเขาชนกัน ที่จะเป็นจุดสร้างเขื่อนในตอนแรกได้ หลังจากนั้น กรมชลประทานได้ย้ายสถานที่ตั้งสันเขื่อนจากเขาชนกันมาที่เขาสบกก ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

 

                “เรื่องที่ดินตอนแรกยังไม่เคลียร์ ตอนนี้จะไปเอาที่ดินอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นสมบัติของคนทั้งประเทศ ทั้งแผ่นดิน ไปทำอ่างเก็บน้ำเพื่อคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติ ถามว่าเป็นธรรมไหม คนทั้งประเทศสามารถฟ้องได้ เอาสมบัติของคนทั้งประเทศไปให้คนกลุ่มหนึ่ง และครม.มีมติแล้วด้วย แต่ครม.มีมติในหลักการแต่ยังไม่บอกว่าสร้างตรงไหนแน่”

 

อดีตคชก.ด้านแหล่งน้ำกล่าวด้วยว่า ถ้าหากโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เกิดขึ้นจริงที่เขาสบกกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  และถ้าชุมชนที่อยู่รอบอุทยานแห่งชาติที่อื่นอยากได้บ้าง อะไรจะเกิดขึ้น แค่รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีแควต่างๆ อีกไม่ต่ำกว่า 10 แคว ที่น้ำมาจากเขาใหญ่ แล้วลองนึกถึงอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ตอนนี้แหละเขื่อนน้ำโจนเกิดใหม่ได้ เพราะน้ำโจนไม่กระทบใครเลย เห็นปัญหาไหมครับ

 

 

แฉอีไอเอเขื่อนแม่วงก์แต่งข้อมูลเสนอครม.

 

 

ในฐานะอดีตคณะผู้ชำนาญการพัฒนาแหล่งน้ำ ดร.ปริญญากล่าวว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ เล่มแรก จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งคชก.ในขณะนั้น ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมชลประทาน เพื่อเปรียบเทียบพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง ที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่าแตกต่างกันอย่างไร และพบว่า พื้นที่รับน้ำของเขื่อนแม่วงก์  ที่เขาสบกกอยู่ที่ 612 ตร.กม. เขาชนกัน 930 ตร.กม. พื้นที่น้ำท่วมเขาสบกก 17.6 ตร.กม. ท่วมสูงสุดประมาณ 19 ตร.กม.  เขาชนกัน 68  ตร.กม. ระดับกักเก็บปกติ เขาสบกก 230 ล้านลบ.ม. เขาชนกัน 650 ล้าน ลบ.ม. การลงทุนค่าทำนบ เขาสบกก 1,148 ล้านบาท เขาชนกัน 620 ล้านบาท และค่าลงทุนต่อไร่ เขาสบกก 8,120 บาทต่อไร่ ในขณะที่เขาชนกัน 6,660 บาทต่อไร่ ทั้งนี้จากตัวเลขของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชัดเจนว่า หากสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่เขาชนกัน จะได้ประโยชน์มากกว่าที่เขาสบกก

 

“วิญญูชนผู้มีใจเป็นธรรม เห็นแค่นี้ก็รู้แล้วว่าควรสร้างที่ไหน น้ำก็ได้มากกว่า ลงทุนก็น้อยกว่าแต่ไม่ทำ จะทำที่มันทำยาก ค่าก่อสร้างก็แพงกว่า แปลว่าอะไร”

 

นอกจากนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังระบุด้วยว่า โครงการชลประทานจะมีพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ เป็นการปรับปรุงพื้นที่ชลประทานเดิม ซึ่งมีระบบฝายอยู่แล้ว 230,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 61,900 ไร่ ผลการเปรียบเทียบด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและสังคมพบว่า การสร้างเขื่อนที่เขาชนกันจะให้อัตราตอบแทนที่สูงกว่าการสร้างที่เขาสบกก

 

 

สงสัยที่ดินปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติกลายเป็นของนายทุน

 

 

พื้นที่เขาสบกก เป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะถูกน้ำท่วม11,850 ไร่ ในขณะที่พื้นที่เขาชนกัน เคยเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นแปลงปลูกป่าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งในรายงานปี 2540 มีรายงานระบุว่า เป็นของทั้งกฟผ.และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

“ผมถามว่าแล้วกลายเป็นที่ดินของชาวบ้านไปได้อย่างไร ถ้าเป็นพื้นที่ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เรื่องต่างๆเหล่านี้ที่ผมปรารภมาจะต้องคลี่ออกให้ชัดในทุกเรื่องไป มิฉะนั้นจะเป็นการต่อปีกต่อหางให้นายทุนทั้งสิ้น”

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2540 กรมชลประทานส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับเพิ่มเติม ให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดทำโดย บริษัท พอล คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด ในปีพ.ศ.2540 มีการแก้ไขตัวเลขความจุอ่างที่ใช้งานได้ ของอ่างเก็บน้ำเขาชนกันจาก 650 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 340 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุอ่างที่ใช้งานได้ ที่เขาชนกัน จากเดิม 650 ล้าน ลบ.ม. กลายเป็น 340 ล้าน ลบ.ม.  เพื่อลดความชอบธรรมในการเลือกพื้นที่เขาชนกัน ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวยังมากกว่าบริเวณจุดสร้างที่เขาสบกกอยู่ดี

 

“เขาเล่นกันดื้อๆ แบบนี้ครับ  คชก.ท่านซื่อ บริสุทธิ์ ท่านเชื่อข้อมูลที่ส่งมาให้ ใครจะไปคิดว่ามีการปรับตัวเลข ให้อะไรมาก็พิจารณาไปตามนั้น”

 

 

แนะคชก.ตีกลับอีไอเอไปแก้ไขข้อมูล จี้ถามค่าก่อสร้างทำไมโอเวอร์

 

ดร.ปริญญากล่าวต่อว่า จากแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1: 50,000 บ้านวังหินดาด อ่างเก็บน้ำเขาสบกก ซึ่งมีระดับกักเก็บสูงสุดที่ +207.5 เมตร รทก. (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) แม้จะใช้เส้นความสูง 210 เมตร รทก. จะได้พื้นที่น้ำท่วมอย่างมากที่สุด 10 ตร.กม. ในขณะที่มีการอ้างถึงพื้นที่น้ำท่วมว่า ได้เท่ากับ 17.6 ตร.กม. ที่ระดับกักเก็บปกติ และ 19.8 ตร.กม. ที่ระดับน้ำสูงสุดมาได้อย่างไร ถ้าคชก.ผ่านเรื่องนี้ได้ คชก.อาจจะติดตารางได้ ถ้ามีคชก.นั่งอยู่ในนี้ ขอให้ไปทำการบ้านด้วย ทำข้อมูลให้ถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งหมดเสียก่อน แล้วจึงเริ่มพิจารณากันใหม่ นี่เป็นข้อแนะนำ อย่าดันทุรังต่อไป เดี๋ยวจะมีคนพาท่านไปศาล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือ ราคาประมาณการก่อสร้างของโครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่เสนอคณะรัฐมนตรี คือ 13,280 ล้านบาท ซึ่งดร.ปริญญาเล่าให้ฟังกรณีเขื่อนแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง เป็นเขื่อนดินยาว 1,900 เมตร สูง 22 เมตร ความจุอ่างเก็บน้ำ 138 ล้าน.ลบ.ม. ความจุที่ระดับกักเก็บปกติ 97 ล้าน ลบ.ม.  สร้างเมื่อปี 2541 ราคากลางกรมชลประทาน 600 ล้านบาท แต่มีผู้รับเหมาประมูลได้ 237 ล้านบาท ตอนนั้นเศรษฐกิจฟุบ ผู้รับเหมาเป็นบริษัทต่อรถยนต์ที่บ้านโป่งรับงานนี้ และทำสำเร็จด้วย

 

               “ถามว่าราคากลางที่ตั้งมันโอเวอร์ประมาณเท่าไร ใครตอบได้บ้าง อย่าลืมว่าตอนนี้กรมชลประทานมีศูนย์ประสานราชการใสสะอาด”

 

 

จวกกรมชลฯแก้ปัญหาเขื่อนเก่าก่อนค่อยสร้างเขื่อนใหม่

 

 

ดร.ปริญญากล่าวอีกว่า  มีโครงการก่อสร้างเขื่อนของกรมชลประทาน ที่เข้าสู่การพิจารณาของคชก. ซึ่งคชก.ได้ยื่นเงื่อนไขให้กรมชลประทานแก้ปัญหาการอพยพของชุมชน และกรมชลประทานได้รับเป็นเงื่อนไขที่จะดำเนินการ หลังคชก.ให้โครงการผ่าน อย่างไรก็ตามจากการติดตามหลังจากนั้น กรมชลประทานมิได้ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาแต่อย่างใด ประชาชนที่ถูกอพยพในหลายๆเขื่อน ยังต้องเผชิญกับปัญหา

 

                   “ปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ สมัยผมเป็นคชก.ลงพื้นที่พร้อมกับอธิบดีกรมชลประทาน เมื่อไปดูพื้นที่พบว่าเป็นหิน ดิน ลูกรัง เราก็คุยกับรองอธิบดีกรมชลประทานว่า ถ้าท่านจะให้เขื่อนนี้ผ่าน รับปากได้ไหมว่าจะขุดดินจากอ่างเก็บน้ำมาใส่แปลงที่จะอพยพชาวบ้านไปทั้งหมด เพราะข้อตกลงคือแปลงละ 15 ไร่ กรมชลฯรับปาก เมื่อรับปากคชก.อนุมัติอันนี้ก็เป็นเงื่อนไขไป เวลานี้ผู้อพยพจากเขื่อนดังกล่าวยังไม่ได้ที่ดินยังมีอีกมาก และที่ได้ได้ไม่ถึง 7 ไร่ พวกที่ได้ไปก่อน ถูกเจ้าของที่ดินไล่ออก เพราะรัฐไม่จ่ายเงิน จนกระทั่งทุกวันนี้ ชาวบ้านเขื่อนแม่มอกที่ถูกอพยพออกมาก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม”

 

นอกจากเขื่อนแม่มอกแล้ว ยังมีเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สร้างเมื่อปี 2506 กระทั่งปี 2554 ชาวบ้านยังปิดศาลากลางเรียกร้องที่ดินทำกิน ในขณะที่ปัญหาเขื่อนสิรินธรยังไม่จบ เขื่อนราศีไศลยังไม่จบ ซึ่งหากไล่ดูเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ยังไม่มีเขื่อนไหนที่ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นตามหลัง หรือกรมชลประทานสามารถแก้ปัญหาได้

 

                     “ทำแบบนี้ได้ไหม ถ้าจะสร้างความเป็นธรรมในแผ่นดิน หยุดสร้างเขื่อนและไปดูแลผู้ที่ถูกอพยพทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนได้ไหม บ้านเมืองจะได้สงบสุข แค่นี้ทำได้ไหม ไหนๆจะเป็นราชการใสสะอาดกันแล้ว อย่าให้ใครเดือดร้อน งบประมาณแผ่นดินมีอยู่ ไม่อย่างนั้น 13,280 ล้านบาท คงไม่ปรากฏออกมา”

 

เสนอทฤษฎีแนวใหม่ ทางออกที่ไม่ต้องมีเขื่อน

 

 

ศ.ดร.ปริญญากล่าวด้วยว่า หากจะเลือกพื้นที่ในพื้นที่เขาชนกัน เป็นพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน ขณะนี้คงมีชุมชนเข้าไปอยู่อาศัยแล้ว ซึ่งจะถูกกฎหมายหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่กรมชลประทานต้องรู้ว่ามีจำนวนกี่ครัวเรือน ขณะเดียวกันต้องรู้ว่า พื้นที่ชลประทานที่จะได้รับน้ำ 291,000 กว่าไร่นั้น ใครบ้างอยู่ในพื้นที่บ้าง และควรทำแบบสอบถามด้วยว่า ทุกบ้านสมัครใจจะใช้ทฤษฎีใหม่หรือไม่ ถ้ายอมขอให้มีการปฏิรูปที่ดิน โดยขอคนที่มีที่ดิน 15 ไร่ขึ้นไป ขอบริจาค 2 ไร่ คือ ขอ 2เปอร์เซ็นต์ จากที่ดินที่มีอยู่แล้วปฎิรูปที่ดินทุกแปลง ทุกแปลงจะมีระบบชลประทาน และอพยพคนที่ถูกน้ำท่วมไปไว้ที่นั่น ให้อยู่ในพื้นที่ชลประทาน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจะได้ออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมโดยมีที่อยู่ใหม่ อยู่ในระบบชลประทานเดียวกัน รัฐบาลยังสร้างเขื่อนให้ ไม่ต้องเข้าไปสร้างในพื้นที่ป่า ซึ่งชุมชนอาจจะใช้ทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีทั้งสวน พื้นที่ทำการเกษตร แหล่งน้ำ ถนน โรงเรือน บ้าน ภายในพื้นที่ 15 ไร่ มีแหล่งน้ำขนาดเล็กไว้ใช้ได้ตลอดปี

 

                     “ทฤษฎีใหม่มีอยู่แล้วทำไมจึงไม่คิด หรือว่าเป็นความโลภของคน พอถึงเวลาจริงเป็นแบบนี้ฉันไม่เอา ไม่เอาก็ไม่ต้องสร้างเขื่อน สัมภาษณ์ทุกคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ จะได้เห็นดำเห็นแดงว่า ทุกคนจะเอาเขื่อนหรือไม่ ถ้าต้องการเขื่อนความเป็นธรรมจะเกิดขึ้น ถ้าไม่เอาแปลว่าอะไร มีน้ำใช้ใช่ไหม มีน้ำใช้ไม่ต้องสร้างเขื่อน ก็จบ”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: